×

เพื่อไทยแนะแนวทาง ยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย หลัง สธ. ตัดสิทธิข้าราชการ-ประกันสังคม เบิกค่ายุติตั้งครรภ์ 3,000 บาท

โดย THE STANDARD TEAM
09.02.2023
  • LOADING...
พรรคเพื่อไทย

วันนี้ (9 กุมภาพันธ์) ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงสาธารณสุข ตัดสิทธิผู้ใช้ประกันสังคมและกลุ่มข้าราชการ ไม่ให้งบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่สนับสนุนค่าบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย คนละ 3,000 บาทสำหรับคนไทยทุกคน

 

ชานันท์กล่าวว่า การยุติการตั้งครรภ์เป็นสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์อย่างหนึ่งที่รัฐต้องไม่ขัดขวางทำตัวเป็นอุปสรรค แต่ รมว.กระทรวงสาธารณสุขได้ตัดสิทธิผู้ใช้ประกันสังคมและกลุ่มข้าราชการ ไม่ให้งบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของ สปสช. ที่สนับสนุนค่าบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย 

 

“ก่อนหน้านี้เรื่องยา PrEP/PEP ที่สร้างความยากลำบากในการเข้าถึงสิทธิสุขภาวะทางเพศ จึงขอตั้งคำถามว่าทำไมกระทรวงนี้ ภายใต้รัฐบาลนี้ถึงสร้างอุปสรรคให้กับสุขภาพของประชาชน” ชานันท์กล่าว

 

โดยตามกฎหมาย หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกินกว่า 12 สัปดาห์ สามารถเลือกยุติการตั้งครรภ์ได้ ไม่เป็นความผิดทางอาญา ส่วนหญิงที่มีอายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ ก็ยุติการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน แต่ต้องตรวจและรับคำปรึกษาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น แล้วอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ผู้ตั้งครรภ์ โดยไม่เป็นความผิดทางอาญา

 

“ลำพังภาครัฐก็ไม่ได้เผยแพร่ความรู้นี้ให้ประชาชนรับรู้ หลายโรงพยาบาลก็ไม่ได้ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ และไม่ได้ช่วยเหลือในการส่งต่อไปยังสถานบริการที่ปลอดภัย โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสุขภาพในกรุงเทพฯ ก็ไม่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ จะใช้บริการตามสิทธิที่ใกล้ที่สุดคือต้องไปถึงสิงห์บุรี ซึ่งภาครัฐก็ไม่ได้จัดการ แล้วยังตัดสิทธิประชาชนอีก ขอตั้งคำถามต่อว่าเงินภาษีประชาชนจะกั๊กทำไม” ชานันท์กล่าว

 

และจากสถิติของ สปสช. ตั้งแต่ปี 2548 เฉลี่ยผู้ป่วยจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย 27,000-32,000 คนต่อปี ในจำนวนนี้เสียชีวิต 10-30 คน ในปี 2559 สปสช. เปิดบริการทำแท้งปลอดภัย อัตราคนทำแท้งแล้วมีอาการแทรกซ้อนน้อยลง การสูญเสียชีวิตน้อยลงเหลือ 0 ในปี 2560-2562 และงบประมาณในการรักษาพยาบาลก็น้อยลง

 

ประชากรหญิงในวัยเจริญพันธุ์มี 20 ล้านคน แต่สถานบริการยุติการตั้งครรภ์แบบองค์รวม ทั้งให้คำปรึกษา ตรวจร่างกาย ยุติการตั้งครรภ์ ให้คำปรึกษาหลังยุติการตั้งครรภ์ ติดตามหลังบริการ ดูแลภาวะแทรกซ้อน และคุมกำเนิด มีเพียง 60 แห่ง คือ โรงพยาบาลรัฐ 46 แห่ง คลินิกเอกชน/องค์กรพัฒนาเอกชน 13 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง

 

ชานันท์ได้เสนอแนวทางที่เป็นการไม่ใช่ผลักให้ผู้หญิงไปทำแท้งไม่ปลอดภัยมากขึ้น แต่ต้องทำให้ผู้หญิงยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย คือ

 

  1. ประกาศรายชื่อสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย และรายชื่อหน่วยงานให้การปรึกษาทางเลือกทั่วประเทศให้ประชาชนรับทราบ

 

  1. กำหนดให้สถานบริการสาธารณสุขภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจัดให้มีบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย อย่างน้อยจังหวัดละ 1 สถานบริการ โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดระดับกระทรวงว่าจะต้องเพิ่มจำนวนสถานบริการให้ได้อย่างน้อยปีละ 5-10 สถานบริการ

 

  1. กำหนดให้สถานบริการสาธารณสุขภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่ต้องการจัดตั้งหน่วยบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย มีหน้าที่ที่จะต้องส่งต่อผู้รับบริการไปยังสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยตามระบบ

 

  1. ดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรทางด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยตามที่ภาคประชาสังคมเคลื่อนไหว เพื่อสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์และยุติการตั้งครรภ์เรียกร้อง
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising