×

‘ไม่รอ 10 เดือน’ น้ำหนักของ ‘คำสัญญา’ ที่รัฐบาลเพื่อไทยต้องแบก

โดย THE STANDARD TEAM
03.05.2024
  • LOADING...

เพิ่งเข้าสู่เดือนที่ 9 ของการบริหารราชการภายใต้รัฐบาลของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แต่พรรคเพื่อไทยกลับเลือกจัดการแถลงข่าว ‘10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10’ ขึ้นในช่วงนี้ ชวนให้มองต่อว่ามีความมุ่งหวังทางการเมืองแบบใดหรือไม่

 

ในแง่บวก การแถลงผลงานจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่น และสะท้อนเสถียรภาพของพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ว่ายัง ‘คุมเกม’ ได้อยู่ แม้ฝุ่นตลบเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งจางไปไม่นาน โดยมีบางกระทรวงที่ต้องเสียไปให้พรรคอื่น ไม่รวมถึงรอยร้าวลึกๆ ภายในพรรค ถึงขั้นที่รัฐมนตรีซึ่ง ‘ไม่ได้ไปต่อ’ พร้อมใจกันล่องหนไม่มาร่วมงาน

 

ในแง่ลบ เพื่อไทยได้ขีดเส้นตายให้กับนโยบายอีกหลายอย่าง ว่าจะทำให้ได้ภายในช่วงเวลาใด แต่การให้คำมั่นสัญญาเช่นนี้จะเป็นเป้านิ่งให้พรรคร่วมฝ่ายค้านได้จับผิดในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ 2568 ช่วงต้นเดือนหน้านี้ ยังไม่รวมบางนโยบายก่อนหน้าที่เคยสัญญาไว้ แต่ต้องเลื่อนแล้วเลื่อนอีกอย่าง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่ทำให้เสียรังวัดไปพอควร

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นได้เด่นชัดจากเวทีนี้ คือนอกจากการโชว์ผลงานสร้างความมั่นใจแล้ว ยังเป็นพื้นที่ให้ฝ่ายรัฐบาลได้ตอบโต้และสวนกลับวาทกรรมหลากหลายที่ทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลมาโดยตลอด

 

คุ้มหรือไม่ 10 เดือนที่ไม่รอ

 

ถ้อยคำแรกที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวบนเวทีคือ “เราตัดสินใจถูกมากที่จัดตั้งรัฐบาลผสมเมื่อ 10 เดือนที่แล้ว” เรียกเสียงปรบมือจากสมาชิกพรรคในห้องประชุม

 

เป็นทั้งการประกาศความมั่นใจ และหยิบใช้วาทกรรม ‘รอ 10 เดือน’ ที่กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยมักใช้โต้แย้งกับกลุ่มที่เห็นด้วยกับโมเดล 10 เดือน คือรอให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) หมดวาระที่จะใช้อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ทว่าเกิดการ ‘สลายขั้ว’ ของพรรคเพื่อไทยขึ้นเสียก่อน นำมาซึ่งกระแสความไม่พอใจและเสียงวิพากษ์วิจารณ์

 

ถึงอย่างไร ทั้งฝ่ายผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยหรือคนในพรรคเองก็ยืนยันว่า การไม่รอ 10 เดือนถือว่าตัดสินใจได้ถูกต้องแล้ว พร้อมอ้างถึงผลงานต่างๆ ที่รัฐบาลได้ริเริ่มไว้มาเป็นเหตุผล จวบจนมาถึงการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการของพรรคเองในวันนี้

 

การแถลงข่าวของพรรคเพื่อไทยจึงมองได้ว่าเป็นการ ‘รับลูก’ กับกระแสของผู้สนับสนุน หยิบยกเอาข้อถกเถียงบนโลกออนไลน์มาเป็นแนวคิดหลักในการขับเคลื่อนรณรงค์ ตอกย้ำว่า ‘การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้มีความชอบธรรม’

 

“แม้คู่แข่งพยายามทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อเรา ด้อยค่าในสิ่งที่เราทำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่…ผลงานเท่านั้นจะพิสูจน์ ไม่ใช่วาทกรรม หรือการใส่ความต่อว่าจากใคร” แพทองธารกล่าวในตอนหนึ่ง

 

ยิ่งตอกย้ำว่า พรรคเพื่อไทยยังคงเชื่อว่าการใช้ผลงานที่ทำได้สำเร็จจะช่วยกอบกู้ความนิยมกลับมาได้เหมือนสมัยไทยรักไทย แต่ก็ไม่ควรลืมว่าบริบทในปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนไปมากแล้ว ในยุคที่ ‘คำสัญญา’ กลายเป็นจุดอ่อนของพรรคเพื่อไทย

 

น้ำหนักของคำสัญญา

 

ข้อสังเกตอีกประการคือ การจัดสรรพื้นที่ให้ สส. และสมาชิกพรรคแต่ละคนขึ้นปราศรัยบนเวทีตลอดกว่า 2 ชั่วโมงนั้น ส่วนที่เป็นการแถลง ‘ผลงาน’ ของรัฐบาลอย่างจริงจัง มีเพียงการปราศรัยของ ดนุพร ปุณณกันต์ โฆษกพรรค ที่ร้อยเรียงความสำเร็จต่างๆ ที่ก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

 

ขณะที่การปราศรัยส่วนใหญ่จะเป็นการ ‘ให้สัญญา’ หรือกำหนดกรอบเวลาให้กับนโยบายมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีป้ายแดง ที่กล่าวถึง พ.ร.บ. THACCA ที่จะเสร็จในกลางปีหน้า หรือการเตรียมเปิด ‘สถานีโทรทัศน์ซอฟต์พาวเวอร์’ ซึ่งยังไม่ลงรายละเอียดชัดเจน

 

เช่นเดียวกับ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส. กทม. หนึ่งเดียวของพรรค ที่ให้คำมั่นว่า รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะมีผลกับรถไฟฟ้า ‘ทุกสาย’ ภายในปี 2568 ขณะที่ ขัตติยา สวัสดิผล รองโฆษกพรรค ก็ยืนยันว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใน 4 ปี และมีประชามติครั้งแรกในรัฐบาลเศรษฐาอย่างแน่นอน

 

ที่สำคัญคือ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่ถ่ายทอดผ่านเรื่องเล่า ‘พายุ 4 ลูก ชุบชีวิตเศรษฐกิจไทย’ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ นอกจากการขยายแนวคิดเบื้องต้นของนโยบาย เพียงเปลี่ยนผู้พูดจาก ‘เศรษฐา ทวีสิน’ อดีต รมว.คลัง มาเป็น เผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง คนใหม่ เท่านั้น

 

ทว่าหากมองในมุมกลับ การประกาศขอบเขตอย่างชัดเจนแบบนี้อาจกลายเป็นเรื่องดี เพราะทำให้นโยบายติดตามความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นคำพูดจากปากของบรรดา ‘รัฐมนตรี’ ที่มีอำนาจเต็มในการบริหาร ได้เห็นข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายต่างๆ พอสมควรแล้ว ไม่ใช่การปลุกใจบนเวทีหาเสียงก่อนเลือกตั้ง ด้วยความหวังว่าจะ ‘แลนด์สไลด์’ อีกต่อไป

 

ดังนั้น น้ำหนักของคำพูดต่างๆ บนเวทีนี้จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้เพื่อไทยเข้าไปอีก เพราะเป็นข้อเสนอที่อยู่บนฐานของ ‘ความเป็นจริง’ มากกว่าเดิม ที่สำคัญ พรรคเองก็คงไม่ลืมบทเรียนราคาแพงของ ‘เทคนิคการหาเสียง’ ที่ตามมาหลอกหลอนจนถึงทุกวันนี้

 

คว้าโอกาส ก่อนวิกฤต?

 

เวที ‘10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10’ ในภาพรวม ไม่ใช่เพียงการตอกย้ำความชอบธรรมของการจัดตั้งรัฐบาลและการแถลงผลงาน แต่ยังเป็นวิธีการประชาสัมพันธ์อันแยบคายผ่านช่องทางที่เป็นทางการของพรรค ซึ่งหยิบยกปมขัดแย้งที่มักพบบนโซเชียลมีเดียขึ้นมาแก้ไข

 

ตั้งแต่วาทกรรม ‘รอ 10 เดือน’ ไปจนถึงนโยบาย ‘ยาบ้า 5 เม็ด’ ของกระทรวงสาธารณสุขที่ทำให้ความไม่พอใจลุกลามบานปลาย กระทั่ง ณพล เชยคำแหง สส. หนองบัวลำภู ต้องยืนยันบนเวทีนี้ว่า แม้มียาบ้า 1 เม็ดก็ถือว่าผิด หากมีพฤติกรรมเป็นผู้ค้า ไปจนถึงวิวาทะระหว่างรัฐบาลและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่องการลดดอกเบี้ย ก็ถูกกล่าวถึงหลายครั้ง

 

นับเป็นความก้าวหน้าที่คณะทำงานของพรรคเพื่อไทยเล็งเห็นและหยิบยกเอาประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งด้วยอคติก็ดี และความไม่พอใจก็ดี มาชี้แจงในพื้นที่เช่นนี้ แต่ขณะเดียวกัน ถึงแม้พรรคจะรับฟังวิวาทะต่างๆ แต่ในฐานะสถาบันการเมือง พรรคไม่ควรถลำลึกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการถกเถียงหรือความขัดแย้ง จนทำให้ไปไม่ถึงจุดมุ่งหมายในระยะยาว เหมือนที่บางพรรคการเมืองเคยประสบ

 

ในทางกลับกัน การประชาสัมพันธ์ของพรรคเพื่อไทยต้องควบคู่ไปกับการเร่งขับเคลื่อนนโยบายที่หาเสียงไว้ให้สำเร็จ ซึ่งจะเป็นเดิมพันสำคัญให้กับพรรคหลังจากสูญเสียความนิยมไปพอสมควร หากเพื่อไทยเชื่ออย่างแท้จริงว่า การไม่รอ 10 เดือนคือทางที่ถูก ก็ต้องพิสูจน์ให้เสียงส่วนใหญ่ของประเทศเชื่อเช่นนั้นได้จริง ผ่านผลงานของรัฐบาลผสม และไม่ใช่เพียงพรรคใดพรรคหนึ่ง

 

ดังนั้น การตอบโต้หักล้างวาทกรรมต่างๆ ก็สมควรจบที่เวทีนี้ แล้วเดินหน้าทำงานอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้ความสำเร็จของนโยบายทำหน้าที่ ‘พูดแทนคน’ แล้วรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยจะได้เรียกคืนเกียรติและศักดิ์ศรีโดยไม่ต้องถูกปรามาสหรือกลายเป็นคู่ขัดแย้ง อันจะนำพาพรรคไปสู่ ‘วิกฤตศรัทธา’ ที่หนักหนากว่าเดิม

 

“พรรคเพื่อไทยจะครองสติ ไม่หวั่นไหว ไม่เล่นเกมโต้ตอบไปมา เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เรามีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบอยู่ในมือ ซึ่งกำลังลงมือทำ และเราทำได้อย่างแน่นอน” แพทองธารกล่าวบนเวทีในช่วงหนึ่ง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X