วันนี้ (6 กันยายน) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษในงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน 2566 ในหัวข้อ ‘การปราบปรามทุจริตและเรื่องความโปร่งใสของรัฐบาล’ ว่าการปราบปรามการทุจริตและเรื่องความโปร่งใสของรัฐบาลเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งของรัฐบาล และเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องสนับสนุนและปฏิบัติตามอย่างไม่มีข้อยกเว้น ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เป็นอันดับที่ 101 ของโลก
ในด้านของดัชนีการรับรู้การทุจริตเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน (ตามหลังสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม) ซึ่งหมายความว่าเรามีสิ่งที่จะต้องพัฒนากันอีกมาก ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันนั้นนอกจากจะทำให้เกิดความเสียหายโดยตรงต่อภาครัฐแล้ว ยังทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยถดถอย และมีผลต่อเนื่องไปสู่ปัญหาการขับเคลื่อน GDP ของประเทศอีกด้วย
เพื่อที่จะขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันให้หมดไป ทางรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยมีนโยบายทั้งด้านการใช้หลักนิติธรรม หรือ Rule of Law ที่เข้มแข็ง และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในกระบวนการต่างๆ ของภาครัฐ ทำให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งจะช่วยพี่น้องประชาชนได้ทั้งความโปร่งใสและการให้บริการภาครัฐที่เร็วยิ่งขึ้น
หลักนิติธรรมที่มั่นคงแข็งแรงมาจากระบบการเขียนกฎหมาย และการออกกฎหมายที่ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเพื่อช่วยกันกำหนดทิศทางและอนาคตของตัวเองและของประเทศ เรามีแผนที่จะปรับปรุงกฎหมายเพื่อลดกระบวนการและเงื่อนไขต่างๆ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เปลี่ยนรัฐอุปสรรคให้เป็นรัฐสนับสนุน และป้องกันการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่เรียกรับเงินสินบนจากประชาชน
นอกจากกฎหมายที่เข้มแข็งแล้ว รัฐบาลของเราจะให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษที่เฉียบขาดและครอบคลุม เจ้าหน้าที่รัฐในหลายๆ ตำแหน่งจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และในระดับสูงจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อแสดงความโปร่งใสและเปิดให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ
การมีกฎหมายที่เข้มแข็ง เน้นประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และการบังคับใช้กฎหมายที่โปร่งใส ยุติธรรม มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้นี้ จะส่งเสริมความแข็งแกร่งและสร้างรากฐานของสังคมที่เคารพในกฎหมายร่วมกัน และขจัดการคอร์รัปชันให้หมดไปจากประเทศไทย นอกจากนิติธรรมที่มั่นคงแข็งแรงแล้ว เราจะนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อช่วยให้เราสามารถเกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ ตัวอย่างนโยบายที่เราจะนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้คือ
- ใช้ระบบการจ่ายเงินภาครัฐผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เงินสด
- เปิดให้ขอใบอนุญาตและการติดต่อราชการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และทำให้ขอได้โดย ‘ง่าย’ เป็น One Stop Service (พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565)
- ปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ทันสมัยและโปร่งใส เพื่อป้องกันการทุจริต และเปิดข้อมูลให้ตรวจสอบได้ตามแนวทาง Open Government
- ปรับเปลี่ยนการบริหารประเทศของรัฐบาลให้เป็น Digital Government และปรับใช้เทคโนโลยีสำหรับระบบการอนุมัติ การอนุญาต การควบคุมตรวจสอบ เพื่อให้มีความโปร่งใส และลดการต้องใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้ติดต่อกับประชาชน
“ผมเชื่อมั่นว่าภายใต้รัฐบาลเพื่อไทยนี้ปัญหาการคอร์รัปชันจะลดลง ความโปร่งใสและเป็นธรรมจะเพิ่มมากขึ้น ตามมาด้วยความน่าเชื่อถือและการยอมรับจากประชาชนและนักลงทุน ซึ่งก็จะส่งผลกระทบที่ดีต่อเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” เศรษฐากล่าว