วันนี้ (29 พฤษภาคม) วรา จันทร์มณี เลขาธิการเครือข่ายประชาชนพิทักษ์สิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรม ยื่นหนังสือถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ปลัด สธ.) เรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบและให้ความเป็นธรรมต่อการเสียชีวิตของ กิ๊ป ต้นน้ำเพชร พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันปัญหาที่จะเกิดซ้ำในอนาคต ภายใต้หลักการ ‘คนเท่ากัน’
ในหนังสือดังกล่าวระบุว่า จากการที่ กิ๊ป ต้นน้ำเพชร ผู้นำสตรีชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ได้เสียชีวิต ณ โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 โดยที่ครอบครัวและสังคมเชื่อว่าการเสียชีวิตของกิ๊ปเกิดจากการปฏิบัติงานที่บกพร่องของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแก่งกระจาน รวมถึงในส่วนของโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี ก็มีความบกพร่อง
เครือข่ายประชาชนพิทักษ์สิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรมมองว่าความบกพร่องดังกล่าวเกิดจากความไม่ตระหนักในหลักการสิทธิมนุษยชน โดยมีอคติที่เห็นคนไม่เท่ากัน มีการเหยียดกลุ่มชาติพันธุ์ จึงขอเรียกร้องให้ท่านแสดงความรับผิดชอบและให้ความเป็นธรรมต่อการเสียชีวิต พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันปัญหาที่จะเกิดซ้ำในอนาคต ภายใต้ข้อเรียกร้อง 4 ประการ คือ
- ขอให้ลงโทษผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแก่งกระจานที่บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้กิ๊ปเสียชีวิต
- ขอให้ลงโทษเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี ที่ใส่ท่อช่วยหายใจโดยไม่อธิบายชี้แจงและสอบถามความสมัครใจจากญาติ
- ขอให้เยียวยาความเสียหายแก่ครอบครัวกิ๊ป ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 41 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องในอัตราสูงสุด โดยขอให้คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม เนื่องจากผู้เสียชีวิตจากไปในอายุเพียง 44 ปี มีบุตรที่ต้องเลี้ยงดูอยู่ข้างหลังถึง 7 คน
- ขอให้กำหนดมาตรการป้องกันปัญหาที่จะเกิดซ้ำในอนาคตอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาลแก่งกระจาน ซึ่งได้รับคำร้องเรียนมาจากชาวบ้านมากถึงการปฏิบัติที่ไม่มีมนุษยสัมพันธ์
ทั้งนี้ จึงขอให้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติต่อชาวกะเหรี่ยงอย่างคนปฏิบัติกับคนเท่ากัน โดยคำนึงถึงจรรยาบรรณในอาชีพ ไม่แบ่งแยกเลือกปฏิบัติหรือเหยียดกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเครือข่ายฯ ขอเสนอให้กระทรวงฯ จัดกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งสามารถขอความร่วมมือจากเครือข่ายฯ และภาคีด้านสิทธิมนุษยชน ร่วมแลกเปลี่ยนการศึกษาและการเรียนรู้ พูดคุยรับฟังปัญหาจากพี่น้องชาวกะเหรี่ยงบางกลอย
โดยเปิดให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนรวมในกิจกรรมนี้ด้วย ไม่ใช่คุยกันเฉพาะเจ้าหน้าที่กับชาวชาติพันธุ์ เครือข่ายฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านในฐานะผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานราชการกระทรวงสาธารณสุขจะรับฟัง เห็นความสำคัญ และอำนวยการให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์โดยคำนึงถึงมนุษยธรรมและหลักการสิทธิมนุษยชน