×

‘ผยง’ แนะไทยใช้เมกะเทรนด์โลก พลิกสู่โมเดลเศรษฐกิจใหม่ฟื้นตัวจากโควิดอย่างยั่งยืน

23.02.2022
  • LOADING...
‘ผยง’ แนะไทยใช้เมกะเทรนด์โลก พลิกสู่โมเดลเศรษฐกิจใหม่ฟื้นตัวจากโควิดอย่างยั่งยืน

ซีอีโอธนาคารกรุงไทยเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยปี 2565 ฟื้นตัวดีขึ้น แนะเร่งใช้เมกะเทรนด์โลกปรับตัวสู่โมเดลเศรษฐกิจใหม่ฟื้นธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ชูโรดแมป 3 ปี สมาคมธนาคารไทยช่วยยกระดับประเทศพร้อมแข่งขันระดับโลก

 

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ 2022 NEXT Economic Chapter: New Challenges and Opportunities ก้าวต่อไปเศรษฐกิจไทย 2565 โอกาสและความท้าทายใหม่ ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้กำลังเข้าสู่เส้นทางการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น หลังจากเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 

 

โดยที่ประชุมร่วมคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ครั้งล่าสุดได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากขึ้นที่ 3-4.5% เทียบกับปี 2564 ที่ขยายตัว 0.5-1.5% แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีอัตราการฟื้นตัวไม่เท่ากันในแต่ละภาคส่วน และยังมีความเปราะบางสูง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและกำลังซื้อของครัวเรือนที่ถูกกดดันจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นรวดเร็วจากผลกระทบของโควิด 

 

สำหรับแนวโน้มต่อจากนี้ ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการเงิน ประเมินในทิศทางเดียวกันว่าต้องเร่งใช้โอกาสจากตัวขับเคลื่อนใหม่ๆ (New Growth Driver) และกระแสเมกะเทรนด์ของโลก เพื่อเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งบนแนวคิดของการเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่เข้าไปเปลี่ยนโฉมการดำเนินธุรกิจจะเป็นไปในวงกว้างและเข้มข้นขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีความตื่นตัวและเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดทิศทางของทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคการเงิน ในการปรับตัวสู่โมเดลเศรษฐกิจใหม่ คือ Bio-Circular-Green Economy (BCG Economy) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงการให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างทั่วถึง ตามกรอบแนวคิดสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งจะเป็นการดำเนินธุรกิจให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาวให้แก่ธุรกิจรายย่อย เพื่อให้ภาคธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสในการเติบโตได้อย่างมั่นคง 

        

“เมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงนี้จะเป็นตัวที่กำหนดทิศทางของทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคการเงิน ในการปรับตัวสู่โมเดลเศรษฐกิจใหม่ของไทย โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิสรัปชัน ทำให้เกิดนวัตกรรมการเงินที่หลากหลายเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจและประชาชน ซึ่งสถาบันการเงินไทยมีความตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีทางการเงินมาปรับปรุงวิธีการดำเนินงานและรูปแบบธุรกิจของตัวเอง เพื่อให้แข่งขันได้ในบริบทที่คนไทยเข้าสู่ยุคของดิจิทัลไฟแนนซ์อย่างเข้มข้น เห็นได้จากการทำธุรกรรมโอนเงินผ่านโมบายแบงกิ้งที่คาดว่าอาจมีปริมาณสูงถึงกว่า 1.5 หมื่นล้านธุรกรรมในปี 2564 เติบโตจากในปี 2560 ที่มีเพียง 1.3 พันล้านธุรกรรม เช่นเดียวกับการทำธุรกรรมผ่านระบบพร้อมเพย์ที่อาจมีจำนวนสูงถึงกว่า 9.4 หมื่นล้านธุรกรรม เติบโตขึ้น 10 เท่าจากปี 2560” ผยงกล่าว

 

ผยงกล่าวอีกว่า เพื่อตอบโจทย์รองรับการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ภูมิทัศน์ภาคการเงินไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไป ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ได้ร่วมมือกันพัฒนาและขับเคลื่อนมาตรการหลายด้าน เพื่อเร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาอำนวยความสะดวกด้านธุรกรรมทางการเงินให้แก่ภาคธุรกิจและประชาชน ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงมาตรการในทางปฏิบัติ ซึ่งจะมุ่งเน้นส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่โลกการเงินใหม่อย่างยั่งยืน ทั้งภาคการเงินและภาคครัวเรือน รวมทั้งคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนานวัตกรรมและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน ตลอดจนความเสมอภาคทั้งผู้ให้บริการรายเดิมและรายใหม่ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและดิจิทัล เพื่อพัฒนาการให้บริการภายใต้บริบทการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

โดยในส่วนของสมาคมธนาคารไทยได้วางโรดแมปในช่วง 3 ปีข้างหน้า เพื่อมุ่งส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพและความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน ตลอดจนยกระดับการแข่งขันของประเทศไทยในระดับภูมิภาคและระดับโลก ใน 4 ธีม ได้แก่ 

 

  1. การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Enabling Country Competitiveness) ซึ่งเทคโนโลยีถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะยกระดับขีดความสามารถการดำเนินธุรกิจให้กับภาคธุรกิจในระยะต่อไป สอดคล้องกับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทยที่จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของภาคธุรกิจเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ มุ่งมั่นผลักดันการวางกรอบแนวทางและสนับสนุนระบบ Open Banking ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ บนแนวคิดที่ลดความซ้ำซ้อนและเชื่อมโยงข้อมูลอย่างครบวงจร

 

  1. การเป็นผู้นำการให้บริการทางการเงินในภูมิภาค (Regional Championing) สนับสนุนผู้ประกอบการและนักลงทุน เชื่อมโยงระบบโครงสร้างทางการเงินระหว่างกันในภูมิภาค เพื่อรองรับโอกาสใหม่ๆ ของภาคธุรกิจจากการขยายตลาดสู่ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

  1. การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Sustainability) ผลักดันให้การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนคำนึงถึงหลักการ ESG โดยสมาคมธนาคารไทยจะมีส่วนผลักดันให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ BCG Economy ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการพัฒนาและนำแนวปฏิบัติด้านการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) ไปใช้ดำเนินธุรกิจ รวมถึงจัดทำ ESG Declaration อย่างชัดเจนและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล นอกจากนี้สมาคมธนาคารไทยยังมุ่งมั่นที่จะร่วมกันแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยสร้างกลไกการเพิ่มวินัยทางการเงินและส่งเสริมการออมเงิน โดยเฉพาะการออมเผื่อเกษียณ เพื่อช่วยให้ภาคครัวเรือนหรือกลุ่มเปราะบางอยู่รอดและปรับตัวสู่โลกใหม่ ตลอดจนมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ โดยส่งเสริมให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้มากขึ้น

 

  1. การให้ความสำคัญด้านทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) พัฒนา Pool of Talents ที่มีทักษะตอบโจทย์โลกอนาคต โดยสมาคมธนาคารไทยจะเดินหน้า Upskill & Reskill พนักงาน ซึ่งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีอยู่กว่า 1.36 แสนราย ให้มี Digital Literacy มากขึ้น มุ่งยกระดับให้สมาคมธนาคารไทยมีบทบาทเป็นฮับระดับชาติในด้านองค์ความรู้และการวิจัยของอุตสาหกรรมการเงิน เพื่อตอบโจทย์โลกการเงินที่เปลี่ยนไป สอดรับกับ Business Model ของภาคธนาคารที่มุ่งสู่ Digital Banking และเน้น Agility อย่างเต็มรูปแบบ 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X