×

ภัสราวลีชี้การอดอาหารประท้วงเป็นสิทธิ ตั้งคำถาม จนท.รัฐ ดูแลนักโทษคดีการเมืองเท่าเทียมกับคดีอื่นหรือไม่

โดย THE STANDARD TEAM
16.05.2024
  • LOADING...
ภัสราวลี

วันนี้ (16 พฤษภาคม) มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ให้ความเห็นถึงวิธีการอดอาหารประท้วงในเรือนจำของนักกิจกรรม กระทั่งเกิดเหตุการเสียชีวิตในเรือนจำของ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง โดยระบุว่า การอดอาหารเป็นสันติวิธีที่ทุกคนสามารถใช้ได้ หากว่าใครตัดสินใจที่จะใช้ร่างกาย ชีวิต ของตนเองเป็นต้นทุนอย่างเดียวที่มีอยู่ในการเรียกร้อง ก็เป็นสิทธิที่เขาจะทำได้

 

“เราคงไม่สามารถที่จะไปพูดได้ว่าควรหรือไม่ควรทำ เพราะทุกการแสดงออก ทุกการกระทำ อยู่ที่บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ประเมินเอง และเราไม่สามารถพูดได้ว่าคนที่ตัดสินใจแบบนี้ตัดสินใจผิด หรือทำไปแล้วจะสูญเปล่า” ภัสราวลีกล่าว

 

ภัสราวลีระบุว่า อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับเนติพร เราสามารถพูดได้จริงๆ หรือว่าไม่เกิดผลอะไร ความจริงเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบหนักมาก แต่น่าเศร้าที่รัฐและกระบวนการยุติธรรมปล่อยให้เขาใช้วิธีนี้จนเขาต้องเสียชีวิต ดังนั้นคนที่เราควรตั้งคำถามถึงในกรณีความสูญเสียนี้ รัฐและกระบวนการยุติธรรมเห็นความสำคัญของการคืนสิทธิประกันตัวให้พวกเขาหรือยัง ถ้าหากว่าคืนสิทธิประกันตัวให้ พวกเขาจะเลือกใช้การประท้วงด้วยการใช้ชีวิตของตัวเองแบบนี้ไหม

 

“เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมเองยังไม่ได้เห็นว่าประชาชนสู้จริงๆ ด้วยอุดมการณ์ เขายังเมินเฉยและละเลยอยู่ ซึ่งอาจเป็นปัญหาที่ทำให้ความสูญเสียตรงนี้เกิดขึ้นซ้ำอีกก็ได้” ภัสราวลีระบุ

 

ภัสราวลีกล่าวต่อไปว่า ถ้าหากการเสียชีวิตของเนติพรไม่ได้มีสาเหตุจากการอดอาหาร แต่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ร่างกายน็อกไป แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อข้อเรียกร้องของเนติพร รวมถึงจะสะท้อนคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในชีวิตของผู้ต้องขังในเรือนจำอื่นๆ ว่าเมื่อพวกเขาถูกขังแล้วจะถูกปล่อยให้ตายอีกหรือไม่

 

ภัสราวลีกล่าวด้วยว่า กลายเป็นว่าตอนนี้ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองหรือถูกขังในเรือนจำจะถูกจำแนกโดยใช้มาตรฐานอื่น ต่างจากคดีอื่นๆ ทั้งไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว มาตรฐานในการดูแลรักษาก็ไม่ชัดเจน

 

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือคนที่อยู่ในเรือนจำจะได้รับประกันตัวหรือไม่ หากไม่ได้ประกันแล้วความปลอดภัยในชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไร เขาจะยังสามารถเรียกร้องอยู่ในเรือนจำได้อย่างปลอดภัยหรือไม่”

 

สำหรับอีก 3 คนที่ยังอดอาหารอยู่ในเรือนจำ ได้แก่ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, แฟรงค์-ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร และ บัสบาส-มงคล ถิระโคตร จะมีแพทย์ที่ได้มาตรฐานคอยประกบดูแลอาการของพวกเขาอย่างใกล้ชิดหรือไม่ การใช้ร่างกายของตัวเองเพื่อเรียกร้องเป็นสิทธิของเขา แต่รัฐได้ให้การดูแลรักษาตามหลักสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกับกรณีอื่นๆ แล้วหรือยัง นี่เป็นหลักสำคัญที่ทางรัฐบาล กระทรวงยุติธรรม กระทั่งกรมราชทัณฑ์เอง ต้องออกมาชี้แจงให้ชัดเจนให้ได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X