×

อาลัย ‘พนมเทียน’ อัจฉริยสุภาพบุรุษนักเขียนผู้สร้างตำนานแห่งพงไพรในเพชรพระอุมา

21.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ‘เพชรพระอุมา’ เป็นนิยายขวัญใจของคนไทยมหาศาลเรื่องหนึ่งที่แสดงถึงอัจฉริยภาพของสุภาพบุรุษนักเขียน ผู้ยืนยงในวงการวรรณกรรมมายาวนานกว่า 60 ปีนาม ‘พนมเทียน’ หรือ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำ พ.ศ. 2540
  • ด้วยประสบการณ์ในวงการตำรวจ พรานไพรและปืน นิยายของพนมเทียน จึงเปี่ยมไปด้วยรายละเอียดที่สมจริงและให้ภาพจากการบรรยายที่แจ่มชัดเหมือนดูภาพยนตร์จากตัวหนังสือ 
  • ในชีวิตส่วนตัวของพนมเทียน ท่านยังเป็นผู้ใหญ่ในวงการวรรณกรรมที่เป็นสุภาพบุรุษ เสมอต้นเสมอปลาย มีเมตตาให้แก่นักเขียนและนักศึกษารุ่นหลังที่ประสงค์จะศึกษาหาความรู้เสมอ เป็นนักประพันธ์ชั้นครูผู้ยากจะหาใดเสมอเหมือนอย่างแท้จริง 
  • เมื่อท่านลาจากนักอ่านในวันนี้ จอมพรานแห่งพงไพร ราชา นักฆ่า สายลับ สิงสาราสัตว์ และบรรดาตัวละครทั้งหลายที่โลดแล่นในจินตนาการของท่าน คงพร้อมหน้ากันกล่าวคำอำลาและร่ำไห้อาลัยรัก

‘เพชรพระอุมา’ นับเป็นนิยายขวัญใจของคนไทยมากมายมหาศาล ด้วยความนิยมที่ล้นหลาม ทำให้ตีพิมพ์ได้ต่อเนื่องยาวนานถึง 25 ปี มีความยาวทั้งสิ้นรวม 2 ภาคมากถึง 48 เล่ม 1,749 ยก กลายเป็นตำนานนิยายจนถึงทุกวันนี้ ยากจะหาเรื่องใดมาเปรียบเทียบได้ ทั้งความต่อเนื่องของงานเขียน ความวิจิตรของภาษาที่ใช้ ความเพลิดเพลินของเนื้อหาจากจินตนาการอันกว้างไกล และตัวละครที่สร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างมีชีวิตชีวา มีบทบาทของตนเองน่าจดจำ

 

‘เพชรพระอุมา’ นั้นเป็นเรื่องหนึ่งที่แสดงถึงอัจฉริยภาพของสุภาพบุรุษนักเขียน ผู้ยืนยงในวงการวรรณกรรมมายาวนานกว่า 60 ปีนาม ‘พนมเทียน’ หรือ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำ พ.ศ. 2540

 

พนมเทียน ได้สร้างสรรค์ผลงานเขียนตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษา โดยเขียนเรื่อง ‘เห่าดง’ เผยแพร่ให้เพื่อนได้อ่านในสมุด 

 

ต่อมาเมื่อเข้าเรียนชั้นเตรียมอักษรศาสตร์ สวนกุหลาบวิทยาลัย ท่านได้เขียนเรื่อง ‘จุฬาตรีคูณ’ จากจินตนาการที่ได้อ่านถึงดินแดนที่แม่น้ำคงคาและยมุนามาบรรจบกันในวัย 16 ปี เมื่อ พ.ศ. 2491 แม้ไม่ได้รับการตีพิมพ์ในเวลานั้น แต่เมื่อท่านนำไปเสนอ แก้วฟ้า หรือ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ราชาละครวิทยุคณะแก้วฟ้าอ่านเนื้อเรื่องแล้วชอบใจ จึงนำมาให้ ครูเอื้อ สุนทรสนาน แต่งเพลงประกอบ 4 เพลงตามเนื้อเรื่อง ได้แก่ จุฬาตรีคูณ, เจ้าไม่มีศาล, อ้อมกอดพี่, ใต้ร่มมลุลี และนำไปดัดแปลงเป็นละครเพลง จัดแสดงที่ศาลาเฉลิมไทย และถ่ายทอดออกตามวิทยุจนโด่งดัง โดยเฉพาะเพลง ใต้ร่มมลุลี ที่กลายเป็นตำนานเพลงร้องคู่ชายหญิงมาจนทุกวันนี้ ชื่อของ พนมเทียน จึงสว่างโชติช่วงวงการวรรณกรรมนับแต่นั้นเป็นต้นมา

 

เพลง จุฬาตรีคูณ ต้นฉบับโดย มัณฑนา โมรากุล

 

 

เพลง ใต้ร่มมลุลี ต้นฉบับของ วินัย จุลละบุษปะ และ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี 

 

 

เมื่อวงการวรรณกรรมเปิดรับพนมเทียน ท่านก็ได้สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นที่นิยมอีกมากมายหลากหลายแนวเรื่อง และส่วนใหญ่ก็ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ละครวิทยุ ละครโทรทัศน์ ได้แก่ แนวนิยายรัก เรื่องชุด ละอองดาว, สกาวเดือน, รัศมีแข เรื่อง แววมยุรา, รัตติกัลยา, รัตติกาลยอดรัก แนวสืบสวนอาชญากรรม ชุด เล็บครุฑ, ทูตนรก, ล่ามัจจุราช, ล่าพระกาฬ, มัจจุราชสีรุ้ง, เด็กเสเพล แนวอิงประวัติศาสตร์อินเดีย ซึ่งท่านได้ไปศึกษาด้านภาษาศาสตร์ที่บอมเบย์ ทำให้ใช้ภาษาสันสกฤตเล่าเรื่องความรัก ความแค้น และการเมืองได้ไพเราะงดงามในเรื่อง ศิวาราตรี ซึ่งท่านนับว่าเป็นเพชรยอดมงกุฎที่ไม่สามารถเขียนได้อีกแล้ว

 

และใน พ.ศ. 2507 พนมเทียนก็ได้เริ่มนิยายที่กลายเป็นตำนานของวรรณกรรมไทย เพชรพระอุมา โดยแม้ว่าเค้าโครงเรื่องหลักจะคล้ายคลึงกับนิยายเรื่อง King Solomon’s Mine หรือ สมบัติพระศุลี ของ เซอร์ เฮนรี ไรเดอร์ แฮกการ์ด เป็นอย่างมาก แต่ด้วยเอกลักษณ์ของตัวละครที่พนมเทียนได้นำมาปรับให้เข้าอย่างไทย ทั้งจอมพราน รพินทร์ ไพรวัลย์ คุณหญิงดาริน วราฤทธิ์ คุณชายเชษฐา วราฤทธิ์ พันตรี ไชยยันต์ อนันตรัย คณะลูกหาบแห่งหนองน้ำแห้ง และพรานกะเหรี่ยงหนุ่มแงซาย 

 

กับฉากการผจญภัยในแดนป่าลี้ลับ เต็มไปด้วยปริศนา อาถรรพ์ และจินตนาการ ต้องต่อสู้กับช้างผี เสือสมิง ต้นไม้กินคน จนกระทั่งถึงไดโนเสาร์ในโลกล้านปี และผีดิบจอมมนตรา จนกระทั่งเข้าไปถึงดินแดนมหัศจรรย์มรกตนครและได้พบกับความลับอันยิ่งใหญ่และฉากจบของภาคแรก ที่แม้จะเดินตามแนวเรื่องของสมบัติพระศุลี แต่ก็มีจุดต่างและความประทับใจชนิดที่อ่านแล้ววางไม่ลง ทำให้พนมเทียนต้องขยายเรื่องเป็นภาคต่อ เล่าเรื่องการตามหาเครื่องบินบี-52 ของอเมริกาและระเบิดนิวเคลียร์ที่หายสาบสูญอย่างลึกลับกลางป่า เป็นเนื้อเรื่องต้นฉบับที่เฉลยเรื่องราวในอดีตชาติ และคลี่คลายความสัมพันธ์ระหว่างจอมพรานรพินทร์ ไพรวัลย์ กับราชนิกุลสาว ดาริน วราฤทธิ์ จนจบลงอย่างสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2533

 

ด้วยประสบการณ์ในวงการตำรวจ พรานไพรและปืน นิยายของพนมเทียน จึงเปี่ยมไปด้วยรายละเอียดที่สมจริงและให้ภาพจากการบรรยายที่แจ่มชัดเหมือนดูภาพยนตร์จากตัวหนังสือ 

 

นักอ่านของพนมเทียนคงจดจำปืนสำคัญในเรื่องได้หลายกระบอก ไม่ว่าจะเป็น เวเธอร์บี .300 มาร์คไฟว์ แม็กนัม ที่คุณหญิงดารินใช้ยิงไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ หรือ วินเชสเตอร์ .375 โมเดล 70 ของพรานรพินทร์ที่ใช้ยิง ไอ้กุด เสือโคร่งกินคนในต้นเรื่อง ซึ่งพนมเทียนได้เขียนคอลัมน์เกี่ยวกับปืนลงหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ นิตยสาร รวมข่าวจักรวาลรายสัปดาห์ และออกนิตยสาร จักรวาลปืน ที่มีทั้งเรื่องการศึกษาอาวุธปืน รายงานผลการทดสอบปืน และตีพิมพ์เพชรพระอุมาภาคต่อจนจบ

 

ผลกระทบทางวัฒนธรรมของนิยายเรื่องเพชรพระอุมานั้นสะท้อนกว้างไปไกลทั้งในแวดวงวรรณกรรมและสังคม ทำให้เกิดเป็นนิยายแนวบุกป่าหาสมบัติจากนักเขียนมากมาย ทั้งร่วมยุคและในยุคต่อมาเขียนเรื่องที่คล้ายคลึงกันลงตีพิมพ์ในนิตยสารนิยายรายสัปดาห์และรายเดือน 

 

ในยุคที่เพชรพระอุมาติดสัญญาตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา และมีโฆษณาในหนังสือพิมพ์ว่าเล่มใหม่จะออก ถึงขั้นกับมีนักอ่านมายืนรอคิวหน้าแท่นพิมพ์ ตั้งแถวรอยาวไปถึงหน้าร้าน เพื่อที่จะได้ซื้อหนังสืออ่านทันทีที่พิมพ์เสร็จ เว็บบอร์ดยอดนิยมอย่าง Pantip หมวดย่อยห้องสมุด มีกลุ่มคลับเพชรพระอุมา (https://pantip.com/club/18) ที่เต็มไปด้วยนักอ่านแฟนพันธุ์แท้ที่อ่านเพชรพระอุมาละเอียดยิบ และตามไปค้นคว้าต่อทั้งเรื่องสัตว์ ป่า และเรื่องปืน ความสนใจเรื่องสัตว์ป่า เรื่องการล่าสัตว์ การผจญไพร และเรื่องปืน กลายเป็นกระแสตามความนิยมของเพชรพระอุมาอยู่ช่วงหนึ่ง 

 

ทั้งยังมีการนำไปศึกษาค้นคว้าในทางวิชาการ เป็นวิทยานิพนธ์มากมายหลายสาขาในหลายมหาวิทยาลัย มีการแข่งขันแฟนพันธุ์แท้เรื่องเพชรพระอุมา กลุ่มคนรักเพชรพระอุมาในเฟซบุ๊ก และล่าสุดมีกลุ่มนักอ่านรุ่นใหม่พยายามดัดแปลงเรื่องเป็นการ์ตูนและแต่งแฟนฟิคเป็นเรื่องแนวชายรักชายเป็นกระแสอยู่พักหนึ่ง แต่พนมเทียนได้ห้ามไม่ให้ทำและยับยั้งไว้ก่อนว่า “อย่าทำเลยนะลูกหลาน” (ข่าวที่เกี่ยวข้อง https://www.thairath.co.th/content/585048)

 

แม้จะน่าเสียดายที่จนถึงทุกวันนี้เราก็ยังไม่ได้ชมเพชรพระอุมาในรูปแบบภาพยนตร์คนแสดงหรือละคร แต่ภาพจำของจอมพรานและคณะเดินทางแห่งพงไพรก็ยังฉายภาพตามจินตนาการอยู่ไม่รู้ลืม

 

นอกจากนี้ในชีวิตส่วนตัวของพนมเทียน ท่านยังเป็นผู้ใหญ่ในวงการวรรณกรรมที่เป็นสุภาพบุรุษ เสมอต้นเสมอปลาย มีเมตตาให้แก่นักเขียนและนักศึกษารุ่นหลังที่ประสงค์จะศึกษาหาความรู้เสมอ เป็นนักประพันธ์ชั้นครูผู้ยากจะหาใดเสมอเหมือนอย่างแท้จริง 

 

เมื่อท่านลาจากนักอ่านในวันนี้ จอมพรานแห่งพงไพร ราชา นักฆ่า สายลับ สิงสาราสัตว์ และบรรดาตัวละครทั้งหลายที่โลดแล่นในจินตนาการของท่าน คงพร้อมหน้ากันกล่าวคำอำลาและร่ำไห้อาลัยรัก

 

สิ้นแสงเทียนส่องขวัญวรรณศิลป์

ประกายเพชรร่วงรินอักษรสม

เสียงอาลัยไพรป่าจะระงม

จุดเทียนธูปกราบก้ม ‘พนมเทียน’

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X