วันนี้ (22 มิถุนายน) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย เรวัต อารีรอบ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่จังหวัดพังงา
ดร.สาธิต กล่าวว่า พังงาเป็นจังหวัดท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญของภาคใต้ ได้รับความนิยมทั้งชาวไทยและต่างชาติกว่าปีละ 5 ล้านคน ซึ่งในช่วงที่เกิดวิกฤตการระบาดของเชื้อโควิด-19 ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงอาจเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อได้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 จึงได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ค้นหาผู้ติดเชื้ออย่างเข้มงวด โดยการสุ่มตรวจที่คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ในทุกโรงพยาบาลของจังหวัด ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำลายจากประชากรกลุ่มเสี่ยง/สถานที่เสี่ยง (Sentinel Surveillance) ตั้งแต่ 27 มกราคม 2563 ถึงปัจจุบัน ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจจำนวน 874 ราย ในจำนวนนี้พบผู้ติดเชื้อจำนวน 2 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดอื่น และไม่พบการติดเชื้อในพื้นที่เป็นเวลากว่า 69 วันแล้ว นอกจากนี้มีผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) 196 ราย ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยัน 39 ราย และทำการค้นหาในชุมชน 239 ราย ซึ่งทุกรายได้รับการดูแลและเฝ้าระวังตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า การดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคที่สำคัญของจังหวัดพังงา คือ มาตรการ SCAN – ค้นหาผู้ติดเชื้อ ป้องกันการแพร่ระบาดให้รวดเร็วที่สุดให้ อสม. เคาะประตูบ้าน สำรวจทั้งจังหวัด และร่วมกับผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เฝ้าระวังคนเข้า-ออกในพื้นที่ รวมถึงตรวจคัดกรอง ค้นหาเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ สังเกตอาการผู้ที่กักตัวในสถานที่รัฐจัดให้และที่บ้านจนครบ 14 วัน รวมจำนวน 2,853 คน มาตรการ SEAL- คัดกรอง ผู้เดินทางเข้าออกพื้นที่ ตั้งด่านตรวจตามช่องทางต่างๆ และจุดเสี่ยงสำคัญ เช่น โรงแรมที่พัก ท่าขนส่ง ท่าเรือ รวมจำนวน 5,059,175 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 20 มิถุนายน) และมาตรการ CLEAN- สร้างความรู้ความเข้าให้ประชาชน พัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และเตรียมความพร้อมสถานประกอบการต่างๆ ก่อนเปิดกิจการตามมาตรการผ่อนปรนของรัฐบาลในแต่ละระยะ นอกจากนี้ ได้เปิดศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) และสายด่วนโควิด-19 พังงา โทร. 09 8857 7330 และ 08 2292 2466 เพื่อให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้โรงพยาบาลในจังหวัดพังงามีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ เพื่อรักษาผู้ติดเชื้อโควิด 19 และได้เตรียมสถานที่รองรับผู้ติดเชื้อ และผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค แบ่งเป็น ICU 11 เตียง ห้องความดันลบ 2 เตียง ห้องแยกโรคแบบ Modified 7 เตียง ห้องแยกเดี่ยว 68 เตียง ตึกผู้ป่วยแยกโรค 12 เตียง โรงพยาบาลเฉพาะโรค 44 เตียง (โรงพยาบาลทับปุด 18 เตียง, โรงพยาบาลกะปงชัยพัฒน์ 16 เตียง, โรงพยาบาลฐานทัพเรือพังงา 10 เตียง) โรงพยาบาลสนาม 102 เตียง และมีห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อยู่ที่โรงพยาบาลพังงาและโรงพยาบาลตะกั่วป่า
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า