วันนี้ (11 มิถุนายน) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาอนุญาตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ขณะนี้วัคซีนโคเมอร์เนตี (Comirnaty Vaccine) ซึ่งเป็นวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ จำกัด ได้มายื่นขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว โดยบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ยื่นเอกสารขออนุญาต และ อย. อยู่ระหว่างการประเมินคำขอขึ้นทะเบียน ก่อนหน้านี้ อย. ได้อนุมัติวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 5 ราย ได้แก่ วัคซีน AstraZeneca โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และที่ผลิตในประเทศโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด, วัคซีน CoronaVac ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม, วัคซีน Johnson & Johnson โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด รวมถึงวัคซีน Moderna โดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด และล่าสุดวัคซีน Sinopharm โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด
ขณะที่เมื่อวานนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับรายงานว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ลงนามสัญญาจองวัคซีนหรือเทอมชีทกับวัคซีน Pfizer แล้ว หลังจากนั้นจะทำบันทึกความตกลงจะซื้อจะขาย โดยเรามีเวลา 1 เดือนในการตกลงเงื่อนไขและราคา เบื้องต้นจำนวน 20 ล้านโดสจะส่งมอบภายในปีนี้
ส่วนวัคซีน Pfizer ที่จะนำเข้ามายังเป็นแผนการฉีดสำหรับเด็กอายุ 12-18 ปีที่อยู่ในวัยเรียน ขณะนี้ให้ นพ.โอภาสคิดแผนรองรับการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กได้ที่โรงเรียน โดยปรับให้ห้องปฐมพยาบาลเป็นจุดฉีดวัคซีน โดยมีอุปกรณ์ทางการแพทย์รองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่วนวัคซีน Sinovac ขณะนี้ประเทศจีนอยู่ในการศึกษาเฟส 3 เพื่อฉีดในเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป ซึ่งประเทศไทยเองก็ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ