ลองเสิร์ชคำว่า ข่าว / แพทย์ / จริยธรรม และจำกัดการค้นหาแค่ช่วงปีที่ผ่านมา พาดหัวข่าวเกินครึ่งมีเนื้อหาไปในทางเสื่อมเสียต่อวงการแพทย์ คีย์เวิร์ดที่ปรากฏอยู่แทบจะทุกข่าวคือ คำว่า ‘จริยธรรมทางการแพทย์” จนเกิดเป็นคำถามต่อสังคมว่า จริยธรรมของแพทย์ยังมีหรือไม่? หรือแท้จริงแล้วบุคลากรทางการแพทย์เองก็ตกเป็นเหยื่อดราม่าทางโซเชียล?
ข้อมูลจากแพทยสมาคมฯ ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์ปฏิบัติหน้าที่ประมาณ 60,000 คน เกิดคดีฟ้องร้องแพทย์น้อยกว่า 2% แต่ข่าวที่ออกไปตามสื่อต่างๆ กลับทำให้เกิด ‘วิกฤตศรัทธาต่อจริยธรรมทางการแพทย์’ ส่งผลให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหันมาร่วมมือหาทางแก้ไขก่อนที่จะเกิด ‘วิกฤตหมดศรัทธาต่อแพทย์’
และนี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยจึงริเริ่มโครงการอบรม ‘จริยธรรมทางการแพทย์’ โดยมีมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย (Pfizer Thailand Foundation) ให้การสนับสนุนการจัดอบรมตลอดระยะเวลา 15 ปี ตั้งแต่ปี 2547
นักเรียนแพทย์และแพทย์ประจำบ้านส่วนมากต้องได้รับการปลูกฝังจริยธรรมก่อนที่จะออกไปปฏิบัติงานจริง เป็นการติวเข้มจริยธรรมทางการแพทย์อย่างเข้มข้น เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้ตระหนักถึงความสำคัญของจริยธรรมทางการแพทย์ที่แพทย์ทุกคนมีอยู่ในตัว เพียงแต่บางครั้งอาจหลงลืมหรือละเลยไป ถือเป็นโอกาสอันดีที่ THE STANDARD ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ โครงการอบรม ‘จริยธรรมทางการแพทย์’ ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งการอบรมครั้งนี้เป็นการอบรมให้แก่แพทย์ประจำบ้านกว่า 300 คน และยังเป็นการอบรมครั้งสุดท้ายของปีนี้อีกด้วย
ในฐานะผู้สังเกตการณ์ หนึ่งประเด็นที่เชื่อว่าหลายคนยังต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมคือ จริยธรรมทางการแพทย์บ่มเพาะอย่างไร? และการอบรมเพียงครั้งสองครั้งจะกระตุ้นจิตสำนึกของแพทย์ได้จริงหรือไม่? ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ บุคคลสำคัญที่ปลุกปั้นให้เกิดโครงการนี้อธิบายคำว่า แพทย์ ทุกคนจะต้องมีความพร้อมในการรักษาทั้งร่างกายและจิตใจคนไข้ ดั่งคำสอนสำคัญของพระราชบิดาคือ ‘ใจเขาใจเรา’ และจงคิดถึงประโยชน์ของคนไข้มาเป็นที่หนึ่ง ประโยชน์ส่วนตนมาเป็นที่สอง ‘คำว่าจริยธรรมทางการแพทย์’ ยังย้ำเตือนให้แพทย์ต้องพูดความจริงกับคนไข้ ถ้าโกหกเขาครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งต่อไปเราก็คงรักษาเขาไม่ได้ เพราะเขาคงไม่เชื่อเรา ดังนั้นเรามีความตั้งใจอะไรก็ต้องอธิบายให้คนไข้เข้าใจ สิ่งเหล่านี้ตัวอาจารย์เอง เวลาไปอบรมก็จะสั่งสอนนักเรียนแพทย์และแพทย์ประจำบ้านอยู่เสมอ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
หากอธิบายตามความหมาย จรรยาบรรณก็คือหลักธรรมาภิบาล ต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต มีความหนักแน่น และรู้ซึ้งในวิชาการ แพทย์หญิงสมศรีกล่าวเสริมว่า แพทย์ทุกคนต้องดูแลคนไข้เหมือนเป็นญาติของเรา หรือแม้แต่พยาบาลและผู้ร่วมงานก็ต้องให้เกียรติ พูดจาดีๆ อย่าไปดูถูกเขา ที่ผ่านมาคดีที่ฟ้องร้องมากที่สุดเป็นเรื่องมาตรฐาน ทำให้คนไข้เกิดความเสียหาย หรือแพทย์พูดจาไม่ดีกับพยาบาล ถ้าทำผิดจริยธรรมหรือจรรยาบรรณ ทางแพทยสภาก็ต้องลงโทษ
“ดังนั้นการอบรม ‘จริยธรรมทางการแพทย์’ จึงจำเป็นมากขึ้น เมื่อปี 2547 เราได้มีโอกาสคุยกับทางมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทยถึงโครงการนี้ ซึ่งทางมูลนิธิฯ ก็ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมด้านจริยธรรมทางการแพทย์อยู่แล้ว จึงให้การสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างต่อเนื่อง งบประมาณนั้นเรานำมาเป็นค่าเดินทางไปอบรมให้กับสถาบันทางการแพทย์ทั่วประเทศ รวมทั้งค่าจัดพิมพ์หนังสือจริยธรรมให้กับนักศึกษาแพทย์”
ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา มีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนด้านการแพทย์ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ใน 1 ปี แพทยสมาคมจัดอบรมเฉลี่ย 15-17 ครั้ง ให้แก่นักศึกษาแพทย์ปีแรก นักศึกษาแพทย์ปีสุดท้าย รวมถึงแพทย์ประจำบ้านที่ต้องออกไปปฏิบัติงานจริง
“ผลการดำเนินงานพบว่า คดีฟ้องร้องบางประเภทลดน้อยลงมาก แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ การปลูกฝังให้นักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้าน มีจริยธรรมและจรรยาบรรณ เป็นแพทย์คุณธรรมที่สร้างประโยชน์ให้แก่สังคม”
แล้วในมุมของแพทย์ประจำบ้านที่เข้าร่วมอบรมจริยธรรมทางการแพทย์ครั้งนี้ ได้ในสิ่งที่โครงการตั้งใจมอบให้แค่ไหน? พญ.ณัฐณิชา ปรีเปรม กุมารแพทย์ บอกกับเราว่า สำหรับเธอแล้ว คำว่าจริยธรรมทางการแพทย์ทำให้เธอระลึกไปถึงคำสอนของพระราชบิดา ถือเป็นคำสอนแรกของแพทย์ทุกคนตั้งแต่ก้าวเข้ามาเป็นแพทย์ นั่นคือ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’
พญ.ณัฐณิชา ปรีเปรม กุมารแพทย์
“แต่ความหมายที่ลึกซึ้งไปกว่าเอาใจเขามาใส่ใจเราของคำนี้คือ ให้ปฏิบัติต่อผู้อื่น เสมือนกับที่อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อตนเอง ให้ลองคิดว่า ถ้าเราเป็นเขา เราได้รับการกระทำแบบนี้ เราจะรู้สึกอย่างไร ถามว่าเกี่ยวข้องอย่างไรกับจริยธรรมทางการแพทย์ มันคือทุกอย่าง จริยธรรมทางการแพทย์หรือจรรยาบรรณแพทย์เป็นสิ่งที่เราอาจจะพยายามตีความออกมาเป็นกฎ เป็นตัวอักษร ว่าต้องปฏิบัติตามนี้ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าแพทย์ทุกคนหรือแม้แต่ทุกวิชาชีพ เราดำรงตนด้วยความคิดนี้ มันก็จะเป็นการกระทำที่ออกมาจากจิตสำนึกโดยที่ไม่ต้องมีบัญญัติใดๆ มาควบคุม
“สิ่งที่ได้จากการอบรมครั้งนี้ได้เห็นว่า สังคมมองเราอย่างไร เหมือนได้มองมุมกลับ ซึ่งก็ย้อนกลับไปที่ความคิดตั้งต้นคือ ถ้าทุกคนในสังคมอยู่ด้วยกันด้วยความคิดที่ว่า “ถ้าเราเป็นเขา เราจะรู้สึกอย่างไร” เราก็จะเข้าใจซึ่งกันและกัน แต่ในฐานะที่เราประกอบวิชาชีพแพทย์ เราก็ต้องย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า ต้องสื่อสารให้ผู้ป่วยเข้าใจ ต้องมองด้วยว่าคนภายนอกมองเราอย่างไร และต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกภายนอกเช่นกัน”
ในขณะที่นิยามคำว่า ‘จริยธรรมทางการแพทย์’ ของ นพ.พฤฒิชัย วิสุเทพ แพทย์ประจำบ้าน ภาควิชาอายุรศาสตร์ ปีที่ 3 ตีความตรงตัวว่า “จริยธรรมคือ การกระทำอะไรที่เป็นไปเพื่อความเจริญ ความดีงาม พอมาร่วมกับคำว่าทางการแพทย์ก็คือ การเป็นแพทย์ให้ดี ให้ผลลัพธ์ออกมาในทางที่เจริญงอกงาม ผมเชื่อว่า แพทย์ทุกคนตั้งต้นล้วนหวังสิ่งดีๆ ให้เกิดกับคนไข้ ทำอย่างไรก็ได้ให้หน้าที่ของเราสมบูรณ์ ถ้าหมอทุกคนเข้าใจหน้าที่ของตัวเอง ทุกอย่างก็จะออกมาดีเอง คำว่าออกมาดีไม่ได้แปลว่าสมบูรณ์ เพอร์เฟกต์ แต่คำว่าดี อาจจะเล็งไปที่ผลของการกระทำ ระหว่างทางมันเป็นไปโดยที่มีอุปสรรคบ้าง แต่แก้ไขคลี่คลายได้ แบบนี้ก็ถือว่าดี จุดประสงค์ของผมหลักๆ คือมองที่คนไข้ก่อน เขาต้องได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราทำ ต่อมาคือ ประโยชน์นั้นต้องไปถึงครอบครัวคนไข้หรือคนรอบข้าง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของตัวผู้ป่วยด้วย ไม่ใช่ทำทุกอย่างตามคนรอบข้าง
นพ.พฤฒิชัย วิสุเทพ แพทย์ประจำบ้าน ภาควิชาอายุรศาสตร์
“ผมว่าการอบรมแบบนี้สำคัญมาก เพราะความรู้อาจทำให้เราดูแลคนไข้ได้ดี แต่จริยธรรมเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยู่กับคนไข้ไปตลอด หมอที่เก่งแต่ไม่ดีคงไม่มีคนไข้อยากเข้าหา หมอที่มีแต่จิตใจดีแต่ไม่มีความรู้ ก็คงดูแลคนไข้ได้ลำบาก ก็คงเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ค่อยๆ เติบโตทางความคิดและวิชาชีพ การเรียนสำเร็จมันไม่ใช่การจบ มันยังต้องไปเจอกับอุปสรรคในชีวิตต่างๆ แม้ว่าเราจะทำมันอย่างดีแล้วก็ตาม จะเห็นได้จากกรณีฟ้องร้องต่างๆ ที่ได้ฟังในวันนี้ คงเป็นข้อคิดหนึ่ง ถึงแม้เราตั้งต้นอยู่ในความตั้งใจดี ก็ไม่ได้แปลว่าผลลัพธ์สุดท้ายจะดีเสมอไป แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้ก็คือ ถ้าเราตั้งต้นด้วยความดี เกือบทุกกรณีที่อาจารย์ยกตัวอย่างจากการอบรมครั้งนี้ก็จบในทางที่ดีได้ มันก็คงเป็นสิ่งเตือนใจเรา “ถ้าเราตั้งใจทำดี มันก็เป็นเกราะคุ้มภัยให้เรา””
ถ้าเป้าหมายของโครงการอบรมจริยธรรมทางการแพทย์คือ การกระตุ้นจิตสำนึกที่มีอยู่ในจิตใจของแพทย์ทุกคนให้ทำงานอยู่ตลอดเวลา เพิ่มจริยธรรมในตน ลดอัตตาในตัว และมองไปที่ผลประโยชน์ของคนไข้เป็นสำคัญ THE STANDARD เชื่อว่า โครงการอบรมจริยธรรมทางการแพทย์ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้ว และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หากขาดลมใต้ปีกอย่างมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย ที่เชื่อมั่นและให้ความสำคัญกับการปลูกฝังจริยธรรมทางการแพทย์ โครงการดีๆ เช่นนี้ก็คงจะเกิดขึ้นไม่ได้
“บุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นผู้ที่มีความสำคัญมากในสังคมไทย เพราะเป็นผู้ที่ใช้ความรู้ความสามารถในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์” มร.เซลิม เซสกิน ประธานกรรมการ มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย กล่าว “มูลนิธิฯ มีแนวทางการดำเนินงานที่เน้นการสร้างเสริมโอกาสสู่คุณค่าชีวิต 3 ด้าน คือ การศึกษา สุขภาพ และคุณภาพชีวิต โดยเน้นการ ‘มอบความรู้สู่คุณภาพชีวิตที่ดีมีสมดุล (Promoting Wellness Literacy)’ รวมทั้งรณรงค์ส่งเสริมค่านิยมการส่งต่อองค์ความรู้เหล่านี้ให้กับผู้อื่นต่อไป เพื่อให้การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแพร่กระจายในวงกว้างด้วยแนวทางที่ยั่งยืน นั่นเป็นเหตุผลที่เราสนับสนุนงบประมาณแก่แพทยสภาฯ เพื่อให้เกิด ‘โครงการแนะแนวจริยธรรมทางการแพทย์สำหรับนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้าน’ ของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2547
มร.เซลิม เซสกิน ประธานกรรมการ มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย
“เป็นเรื่องน่ายินดีที่ทราบข้อมูลว่า สถิติการฟ้องร้องแพทย์ในช่วงหลังมานี้ลดลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับแพทย์ที่อายุไม่เกิน 40 ปี ซึ่งถือเป็นความสำเร็จและบรรลุเจตนารมณ์ของมูลนิธิฯ ที่ต้องการสร้างเสริมโอกาสทางด้านการศึกษา และจากนี้จะยังคงเดินหน้าส่งเสริมการสร้างจริยธรรมสำหรับแพทย์รุ่นใหม่ผ่านการดำเนินงานของแพทยสมาคมอย่างต่อเนื่องต่อไป”