Pfizer และ BioNTech ผู้พัฒนาวัคซีนโควิด เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (20 กันยายน) ว่าวัคซีนของทางบริษัทกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันได้อย่างแข็งแกร่งในเด็กอายุ 5-11 ปี และกำลังวางแผนที่จะขออนุญาตใช้วัคซีนในเด็กช่วงอายุดังกล่าวต่อหน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และที่อื่นๆ ทั่วโลกโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งวางแผนที่จะส่งข้อมูลจากการทดลองระยะที่ 3 ไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีการตรวจสอบ (Peer-Reviewed Publication) ต่อไป
โดยทั้งสองบริษัทระบุว่าวัคซีนสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในเด็กอายุ 5-11 ปี ในการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 และ 3 ที่มีผู้เข้าร่วม 2,268 คน และการตอบสนองดังกล่าวไม่ด้อยไปกว่าที่มีการบันทึกไว้ในการศึกษาก่อนหน้าในผู้ที่มีอายุ 16-25 ปี ขณะที่ข้อมูลด้านความปลอดภัยโดยทั่วไปก็คล้ายกันกับในกลุ่มอายุที่สูงขึ้นเช่นกัน
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า เด็กอายุ 5-11 ปี จะได้รับวัคซีนจำนวนสองเข็มที่มีปริมาณโดสละ 10 ไมโครกรัม ซึ่งคิดเป็นหนึ่งในสามของขนาดโดสในบุคคลอายุ 12 ปีขึ้นไป ในระยะเวลาห่างกัน 21 วัน และการทดลองนี้ยังมีลักษณะที่ต่างจากการทดลองทางคลินิกที่กระทำในผู้ใหญ่ โดยไม่ได้ออกแบบมาเพื่อวัดประสิทธิภาพของวัคซีนโดยการเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยโควิดในผู้รับวัคซีนกับผู้ที่ได้รับยาหลอกเป็นหลัก แต่การทดลองนี้เปรียบเทียบปริมาณแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์ที่ถูกทำให้เกิดโดยวัคซีนในเด็ก เทียบกับการตอบสนองในผู้รับวัคซีนที่มีอายุมากกว่าในการทดลองกลุ่มผู้ใหญ่
การแถลงดังกล่าวยังระบุการคาดการณ์ว่า น่าจะได้รับข้อมูลว่าวัคซีนใช้งานได้ดีเพียงใดในเด็กกลุ่มอายุ 2-5 ปี และ 6 เดือน-2 ปี อย่างเร็วที่สุดในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
โฆษกของ Pfizer ระบุว่า ทั้งสองบริษัทอาจเปิดเผยประสิทธิภาพ (Efficacy) ของวัคซีนจากการทดลองในภายหลัง แต่ยังไม่มีผู้ป่วยโควิดเพียงพอในหมู่ผู้เข้าร่วมการทดลองที่จะทำให้ตัดสินประสิทธิภาพได้ ทั้งนี้ ในผู้ใหญ่ ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ราวร้อยละ 95 แต่ Pfizer ก็บอกว่าประสิทธิภาพนี้จะลดลงเมื่อรับวัคซีนเข็มที่สองผ่านไปแล้วหลายเดือน ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ คาดว่าจะอนุมัติวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับชาวอเมริกันที่สูงอายุและที่มีความเสี่ยงสูงในต้นสัปดาห์นี้
ส่วนผลข้างเคียงนั้น ทั้งสองบริษัทระบุว่าวัคซีนทนต่อผลข้างเคียงได้ดี โดยมีผลข้างเคียงโดยทั่วไปคล้ายกับที่พบในผู้ร่วมการทดลองที่มีอายุ 16-25 ปี วัคซีนชนิด mRNA ของ Pfizer-BioNTech นั้นถูกระบุโดยหน่วยงานกำกับดูแลหลายแห่งว่ามีความเชื่อมโยงกับอาการหัวใจอักเสบในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชายที่มีอายุน้อย แต่ Pfizer ระบุว่าไม่พบการเกิดอาการหัวใจอักเสบในผู้ร่วมการทดลองนี้
ขณะที่แหล่งข่าวระบุกับ Reuters ว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับสูงของสหรัฐฯ เชื่อว่าหน่วยงานกำกับดูแลจะสามารถตัดสินใจได้ว่าวัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในเด็กเล็กหรือไม่ภายในสามสัปดาห์หลังจากมีการยื่นคำขอใช้งานในกรณีฉุกเฉิน ก่อนหน้านี้หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ และสำนักงานอาหารและยา (FDA) ก็ได้อนุมัติการใช้วัคซีน Pfizer-BioNTech ในกรณีฉุกเฉินสำหรับเด็กอายุ 12-15 ปีไปแล้ว
ภาพ: Jens Schlueter / Getty Images
อ้างอิง: