วารสารวิชาการทางการแพทย์ The New England Journal of Medicine เผยแพร่ผลการวิจัยที่ผ่านการพิจารณาตรวจสอบ (Peer Review) แล้วของหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England: PHE) ที่ศึกษาประสิทธิผลจากการใช้งานจริง (Effectiveness) ในการป้องกันการเจ็บป่วยจากโควิดแบบมีอาการที่เกิดจากเชื้อสายพันธุ์เดลตาและอัลฟา ในช่วงที่เชื้อสายพันธุ์เดลตาเริ่มมีการระบาด โดยมีผู้ร่วมการศึกษาเป็นวัยรุ่นและผู้ใหญ่ในสหราชอาณาจักรกว่า 19,000 คน
เริ่มจากประสิทธิผลในการป้องกันการเจ็บป่วยจากโควิดแบบมีอาการที่เกิดจากเชื้อสายพันธุ์ ‘เดลตา’ กันก่อน ผลการศึกษาพบว่า หลังรับวัคซีนของ Pfizer-BioNTech หนึ่งเข็ม ประสิทธิผลดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 35.6 แต่เมื่อได้รับครบสองเข็ม ประสิทธิผลอยู่ที่ร้อยละ 88 และหลังรับวัคซีนของ Oxford-AstraZeneca 1 เข็ม ประสิทธิผลดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 30 แต่เมื่อได้รับครบสองเข็ม ประสิทธิผลอยู่ที่ร้อยละ 67
ส่วนประสิทธิผลในการป้องกันการเจ็บป่วยจากโควิดแบบมีอาการที่เกิดจากเชื้อสายพันธุ์อัลฟานั้น ผลการศึกษาพบว่า หลังรับวัคซีนของ Pfizer-BioNTech หนึ่งเข็ม ประสิทธิผลดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 47.5 แต่เมื่อได้รับครบสองเข็ม ประสิทธิผลอยู่ที่ร้อยละ 93.7 และหลังรับวัคซีนของ Oxford-AstraZeneca หนึ่งเข็ม ประสิทธิผลดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 48.7 แต่เมื่อได้รับครบสองเข็ม ประสิทธิผลอยู่ที่ร้อยละ 74.5
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อและระยะเวลาติดตามผลไม่เพียงพอต่อการประมาณค่าประสิทธิผลของวัคซีนต่อการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง ซึ่งรวมถึงการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต
ทั้งนี้ข้อมูลในการใช้งานจริงจากอิสราเอลก่อนหน้านี้ระบุว่า ประสิทธิผลของวัคซีน Pfizer-BioNTech ในการป้องกันการติดเชื้อและการเจ็บป่วยแบบมีอาการอยู่ที่ร้อยละ 64 ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ยังมีประสิทธิผลในการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและอาการป่วยรุนแรงได้ร้อยละ 93 โดยทางกระทรวงบอกว่า “การลดลงนี้เกิดขึ้นพร้อมกันกับการแพร่กระจายของสายพันธุ์เดลตาในอิสราเอล”
ผู้ทำการศึกษาระบุว่า ประสิทธิผลของวัคซีนเมื่อเปรียบเทียบระหว่างสายพันธุ์เดลตาและอัลฟามีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเมื่อรับวัคซีนครบสองเข็ม แต่ในกรณีการรับวัคซีนเข็มเดียว ความแตกต่างของประสิทธิผลจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นเช่นนี้ในทั้งวัคซีน Pfizer-BioNTech และวัคซีนของ Oxford-AstraZeneca และบอกว่าการค้นพบนี้จะสนับสนุนความพยายามในการเพิ่มการรับวัคซีนสองเข็มให้มากที่สุดในหมู่ประชากรกลุ่มเสี่ยง
ส่วนสำนักข่าวต่างประเทศอย่าง Reuters และ Insider ระบุในทิศทางสอดคล้องกันว่า การศึกษานี้ย้ำว่าถ้าต้องการการป้องกันที่ดี ก็จำเป็นต้องได้รับวัคซีนครบสองเข็ม
ภาพ: Vincenzo Izzo / LightRocket via Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2108891
- https://www.businessinsider.com/pfizer-vaccine-works-against-delta-covid-but-both-shots-needed-2021-7
- https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/two-doses-pfizer-astrazeneca-shots-effective-against-delta-variant-study-finds-2021-07-21/
- https://www.reuters.com/world/middle-east/israel-sees-drop-pfizer-vaccine-protection-against-infections-still-strong-2021-07-05/