ผลการศึกษาใหม่ในประเทศเปรูพบว่า วัคซีนต้านโควิดแบบสองโดสของ Sinopharm จากจีน มีประสิทธิภาพเพียง 50.4% ในการป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข ขณะที่เปรูมีผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ส่งผลให้เวลานี้มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือวัคซีนเข็มที่ 3
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลพบว่า วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพ 94% ในการป้องกันการเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้ว
งานวิจัยนี้ศึกษาจากกลุ่มบุคลากรแพทย์ด่านหน้าเกือบ 400,000 คนที่ฉีดวัคซีน BBIBP-CorV ของ Sinopharm ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงที่เปรูต่อสู้กับการระบาดระลอกที่ 2 ของโควิด หลังเกิดการระบาดของไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ดาและแกมมา โดยบุคลากรส่วนใหญ่รับวัคซีนครบสองโดสแล้ว
“ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อนั้นมีไม่มาก และนี่คือสิ่งที่ต้องพิจารณาอีกครั้งเมื่อประชากรจำนวนมากได้รับวัคซีนสองโดส เป็นช่วงเวลาที่ต้องพิจารณาเพิ่มวัคซีนกระตุ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันให้กับกลุ่มบุคลากรด่านหน้า” ผลการศึกษาจากคณะนักวิทยาศาสตร์ สถาบันแห่งชาติด้านสุขภาพของเปรู และสถาบันวิจัยอีกสองแห่งระบุ
ทั้งนี้มีบางประเทศที่กำลังพิจารณาใช้วัคซีน AstraZeneca หรือ Pfizer เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิให้กับประชาชนที่รับวัคซีน Sinopharm ไปก่อนหน้านี้ โดยหนึ่งในนั้นคือกัมพูชาและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เลลี โซลารี หนึ่งในผู้เขียนรายงานการวิจัยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters ว่า “สิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดคือคุณต้องได้รับวัคซีนโดสที่ 3 ในช่วงเวลาหนึ่งอย่างแน่นอน คำถามคือช่วงเวลาไหนที่เหมาะสมที่สุด และใช้วัคซีนชนิดไหน”
โซลารีกล่าวด้วยว่า ถึงแม้พบว่าวัคซีน Sinopharm มีประสิทธิภาพต่ำในการป้องกันการติดเชื้อ แต่ก็ยังคงเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO)
ภาพ: Raul Sifuentes / Getty Images
อ้างอิง: