×

EXCLUSIVE: ถอดมุมมองวงการตลาดทุน ลุ้นดันหุ้นไทยกลับไป 1,850 จุด ภายใต้ ‘รัฐบาลเศรษฐา’

30.08.2023
  • LOADING...
มุมมอง ตลาดทุน

หลังโหวตนายกรัฐมนตรีรอบที่ 3 ผ่านการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีมติให้ เศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย หลังจากนั้นหุ้นไทยตอบรับในเชิงบวกอย่างเห็นได้ชัด ดัชนี SET พุ่งขึ้นจากประมาณ 1,525 จุด มาเป็นเกือบ 1,580 จุด โดยดัชนีปรับตัวบวกถึง 8 วันทำการติดต่อกัน 

 

แรงซื้อส่วนมากที่เข้ามาในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม มาจากฝั่งของนักลงทุนสถาบันในประเทศ หรือบรรดากองทุนต่างๆ ประมาณ 5.6 พันล้านบาท ส่วนต่างชาติซื้อสุทธิเพียงประมาณ 780 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนรายย่อยขายออก 6.4 พันล้านบาท 

 

แน่นอนว่า Sentiment หรืออารมณ์ของนักลงทุนในตลาดเวลานี้ดูเหมือนจะเป็นไปในทิศทางเชิงบวกมากกว่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียงแค่ปัจจัยชั่วคราว หรือจะเป็นจุดเปลี่ยนให้หุ้นไทยกลับเข้าสู่ขาขึ้นรอบใหม่ได้อีกครั้ง 

 

สมาคมนักวิเคราะห์ฯ หวังดัชนี SET ทะลุ 1,850 จุด 

 

จากคำถามของ สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ที่ว่า “ได้รัฐบาลใหม่: มีผลกับมูลค่าหุ้น หรือว่าแค่ Sentiment” คำตอบที่ออกมาดูเหมือนนักลงทุนจะสามารถคาดหวังได้ไม่มากก็น้อยว่าหุ้นไทยจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง

 

สมบัติระบุในบทความว่า “เมื่อมามองการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลและผู้เป็นนายกฯ ในครั้งนี้ ผมถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดทางการเมืองในรอบ 9 ปี ซึ่งผมจะกล่าวในมุมที่โยงมาถึงการวิเคราะห์เพื่อการลงทุนเท่านั้น โดยไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ในมุมของคอการเมือง”

 

สมมติฐานสำคัญ 4 ข้อที่ถูกตั้งขึ้นมา ทำให้สมบัติมองว่ามูลค่าของหุ้นไทยโดยรวมมีโอกาสจะเพิ่มขึ้นได้ราว 9% ภายใต้รัฐบาลเศรษฐา

 

1. ความมั่นคงของรัฐบาลใหม่สูงกว่ารัฐบาลเดิม เท่ากับตัวแปรด้านความเสี่ยงลดลง ส่งผลทางบวกต่อมูลค่าหุ้น

 

ความมั่นคงที่ว่านี้เป็นเพราะจำนวน สส. 314 เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด และยังมีเสียงสำรองจาก สส. พรรคประชาธิปัตย์อีกราว 20 เสียง พอจะช่วยป้องกันการต่อรองของพรรคร่วมได้ดีระดับหนึ่ง นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังมีเครดิตที่ดีในสายตาของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ 

 

นอกจากนี้ มีโอกาสที่รัฐบาลชุดนี้จะบริหารงานไปได้ถึง 3-4 ปี มากกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ว่าอาจอยู่ในวาระเพียง 2-3 ปี ซึ่งนานพอที่จะฟื้นเศรษฐกิจไทยขึ้นไปได้ ด้วยสมมติฐานนี้ทำให้มูลค่าของหุ้นไทยมีโอกาสจะขยับขึ้นไปได้อีกราว 5% ต่อปี หรือมีโอกาสที่ดัชนี SET จะวิ่งขึ้นไปได้ถึงประมาณ 1,850 จุด จากราว 1,600 จุดในปีนี้ 

 

แต่หากจะคาดหวังให้ SET พุ่งขึ้นไปไกลกว่านั้น หรือไปถึงระดับ 1,900-2,000 จุด “จำเป็นจะต้องเห็น Fund Flow ไหลกลับเข้ามา ซึ่งคงต้องรอดูหลังจากที่รัฐบาลใหม่เริ่มทำงานและแถลงนโยบายอย่างเป็นการทางการอีกครั้ง” 

 

2. กำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2566 ต้องปรับลด แต่จะเพิ่มขึ้นปี 2567-2569

 

ความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาลน่าจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจช้าลง ส่งผลให้คาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2566 ต้องลดลง ในเบื้องต้นคาดการณ์ลดลงประมาณ 2%

 

แต่เมื่อรัฐบาลใหม่เข้าทำหน้าที่จัดทำงบประมาณเสร็จ และเร่งทำตามนโยบายเศรษฐกิจหลัก ผลบวกชัดเจนจะเกิดขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2567 และเชื่อว่าบรรดานักวิเคราะห์และผู้ลงทุนจะเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ ส่งผลให้คาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2567-2569 สูงกว่าสมมติฐานช่วงรัฐบาลเดิมอีกปีละ 2% รวม 3 ปี เท่ากับ 6% 

 

3. นโยบายสำคัญที่รัฐบาลใหม่จะเร่งมือ ส่งผลบวกต่อหลายธุรกิจ

 

การส่งเสริมภาคท่องเที่ยวจะกระจายผลบวกไปทั้งธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ค้าปลีก ส่งผลถึงการจ้างงาน ทำให้มีรายได้เติมกำลังซื้อให้ผู้บริโภคอีกด้วย

 

ขณะที่การเติมกำลังซื้อให้ประชาชนแบบกระจายไปทุกชุมชนผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ช่วงกลางไตรมาส 1/67 แต่จุดที่น่าติดตามดูคือความเชื่อเรื่องการหมุนหลายรอบทางเศรษฐกิจจากการกระตุ้นแรงๆ ครั้งนี้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร

 

ส่วนนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรีเป็น 25,000 บาท ตั้งเป้าภายในปี 2570 ต้องติดตามว่าจะใช้วิธีทยอยขึ้นอย่างไร การเติมกำลังซื้อให้ประชาชนด้วยการขึ้นค่าจ้างและเงินเดือนนี้จะสนับสนุนให้มีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการนานาชนิดเช่นกัน และแม้ว่าจะมีผู้ประกอบธุรกิจบางส่วนที่มีโครงสร้างต้นทุนจากแรงงานมาก แต่การประกาศล่วงหน้าทำให้ภาคธุรกิจมีเวลาเตรียมการปรับตัว และได้รับการชดเชยบางส่วนจากการที่เศรษฐกิจโดยรวมได้รับการกระตุ้นให้ฟื้นตัวขึ้นติดต่อกันตั้งแต่ปี 2567-2570 เช่นเดียวกับนโยบายลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนได้

 

4. ความกังวลเรื่องเก็บภาษีการขายหุ้น

 

เป็นความเสี่ยงต่อตลาดทุนที่ต้องติดตาม อัตราการเก็บภาษีที่พูดคุยกันไว้ก่อนหน้านี้อยู่ที่ประมาณ 0.11% ต่อครั้ง ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับอัตราค่านายหน้าโดยเฉลี่ยที่บริษัทหลักทรัพย์เก็บจากผู้ลงทุนที่ปัจจุบันต่ำกว่า 0.10% โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลงทุนต่างชาติมีอัตราที่ต่ำมากๆ อาจต่ำถึง 0.03% หรือต่ำกว่านั้น

 

ดังนั้นการเก็บภาษีตอนขายจึงเป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ลงทุนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักลงทุนที่มีการซื้อขายหมุนเวียนสูง ถ้าใน 1 ปี นักลงทุนซื้อแล้วขายหมุนเวียนไป 5 รอบ เราก็จะโดนเก็บภาษีการขายไป 0.55% เมื่อเทียบกับผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นของประเทศไทยช่วง 5-10 ปีหลัง เฉลี่ยเพียง 2-3% ต่อปี อาจทำให้เงินทุนต่างชาติไหลออกจำนวนมาก หากท้ายที่สุดรัฐบาลตัดสินใจเก็บภาษีขายหุ้นจริง น่าจะเป็นลบกับมูลค่าหุ้นราว 2.5% 

 

FETCO มอง Fund Flow ยังไม่รีบกลับเข้าหุ้นไทย

 

ไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การที่ได้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานและมีความเชี่ยวชาญในภาคธุรกิจ อีกทั้งพรรคเพื่อไทยยังมีทีมงานที่มีความเข้าใจในประเด็นเศรษฐกิจและเคยมีประสบการณ์การบริหารประเทศมาแล้วในอดีต ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นภาพบวกต่อสายตานักลงทุนต่างชาติที่มีความคาดหวังต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศไว้ที่จะดำเนินออกมาในระยะต่อไป หากเปรียบเทียบกับรัฐบาลชุดก่อนหน้าที่มีความเชี่ยวชาญในด้านของความมั่นคงเป็นหลัก

 

อย่างไรก็ดี ประเมินว่ากระแสเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) จะยังไม่เร่งรีบในการกลับเข้ามาซื้อในตลาดหุ้นไทย เพราะยังมีประเด็นที่ต้องรอติดตามใน 2 เรื่องดังนี้

 

  1. เศรษฐา ทวีสิน ยังไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานทางการเมืองมาก่อน ต้องติดตามดูว่าจะสามารถบริหารจัดการภายในพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลจำนวน 14 พรรค เพื่อขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างมีเสถียรภาพมากหรือน้อยอย่างไร
  1. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญที่เคยประกาศไว้ในช่วงหาเสียงที่จะทยอยดำเนินการ เช่น การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่าจะสามารถดำเนินออกมาเป็นรูปธรรมในรูปแบบใด 

 

โดยเฉพาะนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท มองว่าหากจะเริ่มทำได้จริงคงเกิดขึ้นในปีหน้า เพราะมีประเด็นการพัฒนาแพลตฟอร์มที่จะนำมาใช้รองรับซึ่งยังต้องใช้เวลาในการทำ และเรื่องของการเบิกงบประมาณก็คงไม่ทันในปีนี้ด้วย คงต้องรอไปในปีหน้าด้วยเช่นกัน

 

“Fund Flow ที่ยังรอจะเข้ามาตลาดหุ้นไทยตอนนี้ไม่ได้ดูแค่ปัจจัยการเมืองภายในของไทยอย่างเดียว เพราะนักลงทุนต่างชาติจะมีการเปรียบเทียบปัจจัยอื่นๆ ที่กระทบด้วย เช่น เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์ที่แข็งค่า ขณะที่เครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยตอนนี้ก็มีปัญหาหดตัวจากผลกระทบเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย”

 

ไพบูลย์กล่าวต่อว่า ในภาคตลาดทุนมีแผนที่จะนำเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่หันมาใช้ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ใช้ทดแทนการกู้เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีข้อจำกัด ทั้งหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่สูงในระดับ 60% และหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90% 

 

อีกทั้งยังมีจุดยืนคัดค้านการเก็บภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax) ที่รัฐบาลชะลอแผนการเก็บไปก่อนหน้านี้ เพราะถือเป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนในตลาดหุ้นทั้งของภาคเอกชนและภาครัฐ

 

นักลงทุน VI ล็อกเป้าหุ้นอิงบริโภคและท่องเที่ยว

 

เฉลิมเดช ลีวงศ์เจริญ นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) หรือ Thai VI แลกเปลี่ยนมุมมองกับ THE STANDARD WEALTH ว่าหุ้นไทยมีแนวโน้มจะปรับตัวในทิศทางเชิงบวกมากกว่า จากการที่รัฐบาลใหม่มีแนวนโยบายไปทางทุนนิยม

 

“แต่การที่ดัชนี SET จะวิ่งไปทำจุดสูงสุดใหม่เลยหรือไม่ คงต้องรอดูอีกหลายปัจจัย รวมทั้งหุ้นกลุ่มใหญ่อย่างพลังงานและธนาคาร โดยเฉพาะพลังงานที่อิงกับปัจจัยภายนอกอยู่มาก” 

 

สำหรับนักลงทุน VI จะพยายามมองหากลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์มากกว่า อย่างกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มท่องเที่ยว แต่หุ้นเหล่านี้ไม่ได้มีสัดส่วนมากนักต่อดัชนี 

 

“หุ้นในกลุ่มเหล่านี้ยังมีบางตัวที่ราคายังสมเหตุสมผล และโดยธรรมชาติแล้วเมื่อปัจจัยบวกเข้ามาก็มักจะดีกว่าที่คิด กลับกันหากมีปัจจัยลบก็มักจะแย่กว่าที่คาด สิ่งสำคัญคือถ้าหุ้นกำลังอยู่ในขาขึ้นเราก็ควรจะ Let profit run”

 

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวแล้วมองว่าหุ้นกลุ่มที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะบริษัทที่มีความสามารถที่จะส่งสินค้ายังต่างประเทศได้มากขึ้น เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ เพราะธุรกิจสามารถขยายจากตลาด 60 ล้านคน ไปสู่ตลาดหลายร้อยล้านคน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X