×

กำไรกลุ่ม ‘โรงไฟฟ้า’ ไตรมาส 4 แนวโน้มโตต่อ อานิสงส์ลูกค้าอุตสาหกรรมเร่งผลิต – Seasonal เปลี่ยน

19.11.2020
  • LOADING...
โรงไฟฟ้า

HIGHLIGHTS

  • กลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 พบส่วนใหญ่กำไรลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแจงสาเหตุหลักมาจากขาดทุนในอัตราแลกเปลี่ยน
  • นักวิเคราะห์มองแนวโน้มไตรมาส 4 กำไรเติบโตได้ทั้ง YoY และ QoQ อานิสงส์ดีมานด์ลูกค้าอุตสาหกรรมฟื้นและ Seasonal ของรายได้เปลี่ยนไป 
  • จับตาเทรนด์ซื้อกิจการในต่างประเทศปีหน้า หลังจากธุรกิจสอดรับนโยบาย ‘โจ ไบเดน’ ชูหุ้น ‘GULF-EA’ โดดเด่น

THE STANDARD รวบรวมผลการดำเนินงานของกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในไตรมาส 3/63 พบว่าส่วนมากกำไรสุทธิปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการรับรู้การขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่บางแห่งกำไรลดลงเนื่องจากธรรมชาติต้นทางพลังงานไม่เป็นไปตามคาด ทำให้ศักยภาพในการแปลงพลังงานลดลง อย่างไรก็ตาม บางบริษัทแจ้งว่า ‘กำไรจากการดำเนินงาน’ ปรับตัวดีขึ้น และบางแห่งมีกำไรจากการดำเนินงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

 

โดย บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) แจ้งว่างวดไตรมาส 3 ปีนี้ บริษัทมีกำไรสุทธิ 500.76 ล้านบาท ลดลง 34% รับผลกระทบขาดทุนค่าเงิน อย่างไรก็ตาม กำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 1,245 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

 

ขณะที่ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) แจ้งว่าผลประกอบการงวดไตรมาส 3 ปีนี้มีกำไร 1,118.99 ล้านบาท หรือ 0.30 บาทต่อหุ้น ลดลง 33.34% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีกำไร 1,678.73 ล้านบาท หรือ 0.45 บาทต่อหุ้น  

 

สาเหตุหลักที่ทำให้กำไรสุทธิลดลงในไตรมาสนี้ เนื่องจากโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลมที่ได้รับผลจากกระแสลมที่อ่อนแรงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนจากการที่ฤดูกาลของพายุเลื่อนเวลาออกไป ส่วนรายได้ไตรมาส 3/63 อยู่ที่ 3,801.30 ล้านบาท ลดลงจำนวน 316.65 ล้านบาท หรือ 7.69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

อย่าไงรก็ตาม บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) แจ้งผลประกอบการงวดไตรมาส 3/63 มีกำไร 2,574.38 ล้านบาท หรือ 0.91 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 188% จากงวดเดียวกันของปี 2562 ที่มีกำไร 892.91 ล้านบาท หรือ 0.60 บาทต่อหุ้น เนื่องจากกำไรขั้นต้นของธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดเล็กมากปรับตัวดีขึ้น 

 

ส่วน บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) มีกำไรสุทธิ 1,722.22 ล้านบาทในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,364.83 ล้านบาท

 

 

ธีร์ธนัตถ์ จินดารัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่าแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 4 ของกลุ่มนี้ ส่วนมากมีมุมมองเป็นบวกเนื่องจากสองสาเหตุหลัก

 

ประการแรก ความต้องการของกลุ่มลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม (IU) ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในไตรมาส 4 หลังจากลูกค้า IU ได้หยุดการผลิตไปในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากไม่มีคำสั่งซื้อและไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ และแม้ว่าภาคอุตสาหกรรมจะเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมได้ในไตรมาส 3 แต่ยอดคำสั่งซื้อก็รันเข้าโรงงานได้ทันในเดือนกันยายนเท่านั้น จึงเชื่อว่าดีมานด์ในกลุ่มลูกค้า IU จะฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 4

 

โดยอุตสาหกรรมที่เชื่อว่าจะฟื้นตัวอย่างมากในไตรมาส 4 คือชิ้นส่วนยานยนต์และยางรถยนต์ ซึ่งจะสนับสนุนให้กำไรของโรงไฟฟ้าที่มีฐานลูกค้าอุตสาหกรรมสูงได้ประโยชน์ และจากการติดตามข้อมูลพบว่า BGRIM มีฐานลูกค้า IU 30% และ GPSC มี 50% 

 

ประการที่สอง มีดีมานด์พลังงานดั้งเดิมจากทาง EGAT ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน หลังจากที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งภาคเอกชนและภาคผู้บริโภคหยุดชะงักตั้งแต่ปลายไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ซึ่งหุ้นที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือ GULF เนื่องจากมีรายได้จาก EGAT สูงถึง 90% ส่วน BGRIM และ GPSC ก็ได้รับอานิสงส์ลดหลั่นกันมา 

 

“ดีมานด์จากลูกค้า IU ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและความต้องการของ EGAT ทำให้เราเชื่อว่าแนวโน้มกำไรในไตรมาส 4 ของกลุ่มนี้จะโตได้ต่อเนื่องหรือทรงตัวได้ เพราะนอกจากดีมานด์จะเร่งให้เกิดรายได้แล้วยังทำให้ Seasonal ของธุรกิจโรงไฟฟ้าเปลี่ยนไป จากปกติที่ไตรมาส 4 จะเป็น Low Season แต่ปีนี้จะไม่เป็นไปตามปกติ” ธีร์ธนัตถ์กล่าว

 

นอกจากนี้ยังประเมินว่า Margin ของกลุ่มโรงไฟฟ้าน่าจะปรับเพิ่มขึ้น จากต้นทุนเชื้อเพลิงไม่ว่าจะเป็นราคาแก๊สธรรมชาติและราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ 

 

เขากล่าวเพิ่มว่า ในระยะยาวกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ยังเป็นกลุ่มที่น่าสนใจเข้าลงทุน โดยมีปัจจัยที่น่าจับตาคือการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศ โดยเฉพาะการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในแถบยุโรป ซึ่งจากที่ติดตามข้อมูลพบว่ามีหลายบริษัทที่ดำเนินการเพิ่มทุนเพื่อจัดหากระแสเงินสดสำหรับการเข้าซื้อกิจการและขยายตลาดในต่างประเทศ รวมถึงมีการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อปูทางเอาไว้แล้ว โดยหุ้นที่น่าสนใจสำหรับประเด็นนี้คือ GULF ที่ล่าสุดได้เข้าร่วมทุนกับโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เยอรมนี ซึ่งนับเป็นโรงไฟฟ้าของไทยรายแรกๆ ที่ไปลงทุนในประเทศเยอรมนี 

 

อีกโมเดลที่น่าจับตาและเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยบวกที่มีนัยสำคัญคือการรุกสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนเพิ่ม โดยหุ้นที่โดดเด่นสำหรับปัจจัยนี้คือ EA เนื่องจากมีโครงการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นมิติใหม่ของหุ้นพลังงานทดแทนที่สามารถนำนวัตกรรมมาใช้ และทำให้การสูญเสียทางธรรมชาติและความไม่แน่นอนของการผันแปรพลังงานหมดไป 

 

นอกจากนี้ EA ยังโดดเด่นเพราะเป็นผู้ริเริ่มสินค้าใหม่ด้านพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า  

 

GULF กำเงินสดแสนล้านขยายตลาดต่างประเทศ

ยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาบริษัทได้มีการเพิ่มทุนโดยการเสนอขายหุ้นสามัญที่ออกใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) จำนวน 32,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Interest-Bearing Debt to Equity) ลดลงเหลือ 1.35 เท่าในไตรมาสนี้ ส่งผลให้ศักยภาพในการขยายการลงทุนและขยายธุรกิจในอนาคตได้อีกประมาณ 100,000-110,000 ล้านบาท

 

โดย GULF ยังมองโอกาสในการขยายธุรกิจไปภูมิภาคอื่นๆ เช่น ในทวีปยุโรป เอเชีย และสหรัฐฯ โดยมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ทั้งโครงการ Greenfield และโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว รวมถึงการเข้าซื้อกิจการใหม่ๆ โดยจะเน้นโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว เพื่อที่จะได้รับรู้รายได้และกำไรเข้ามาในงบการเงินทันที

 

BGRIM เร่งปิดดีลซื้อกิจการ – ดันรายได้ปี 2564

ปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ระบุว่าบริษัทคาดว่าในปี 2564 จะสามารถสรุปดีลการลงทุนโรงไฟฟ้ารวม 3,400-3,700 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าประเภท LNG ขนาดกำลังการผลิต 2,700-3,000 เมกะวัตต์ในประเทศเวียดนาม

 

ขณะเดียวกันจะสามารถปิดการเจรจาซื้อขายโรงไฟฟ้าประเภท SPP จำนวน 700 เมกะวัตต์ที่ประเทศไทยและมาเลเซียได้สำเร็จ หลังจากที่ขณะนี้ได้ดำเนินการเจรจาแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทในปี 2564 จะเติบโตได้มากกว่าในปี 2563 เพราะเป็นโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการจ่ายไฟเข้าระบบแล้ว

 

GPSC ลุยโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่ไต้หวัน 

ชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทมีมติอนุมัติการจัดตั้งบริษัทย่อยทางอ้อม โดยชื่อบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ วัน จำกัด (GRP1) เพื่อรองรับแผนการขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในไต้หวัน ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท

 

โดยบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด (บริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้น 100%) ถือหุ้นในสัดส่วน 99.98% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดใน GRP1 โดย GRP1 จะมีสถานะเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินการจัดตั้ง GRP1 เสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563

 

นอกจากนี้ได้อนุมัติให้ GRP1 เข้าซื้อหุ้น 90% ใน Sheng Yang Energy จาก Tatung Forever Energy ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Tatung โดย Tatung เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้นประมาณ 2,521 ล้านดอลลาร์ไต้หวันใหม่ หรือเทียบเท่า 2,748 ล้านบาท ประกอบด้วยราคาซื้อขายหุ้น และราคารับโอนสิทธิ์ในหนี้สินของ Sheng Yang 

 

Sheng Yang ประกอบกิจการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในไต้หวัน มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 55.8 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้ว 54.4 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1.4 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้จะขายให้กับบริษัท Taiwan Power Company ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลไต้หวัน และเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียวในไต้หวัน (Single Buyer) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี กำหนดอัตราการรับซื้อไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุโครงการ หรือ Feed-in Tariff 

 

บริษัทคาดว่าเงื่อนไขบังคับต่างๆ จะสำเร็จ และการโอนหุ้นจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/64

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising