บทความที่แล้วของซี่รี่ย์นี้เราได้พูดถึง ‘มรสุมทางเศรษฐกิจ 3 ลูก’ ที่กำลังก่อตัวขึ้นเป็น ‘มหาพายุ’ หรือ Perfect Storm ซึ่งจะส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก ได้แก่
- การเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ ซึ่งจะกลายเป็นการเจาะฟองสบู่ในสินทรัพย์การลงทุนต่างๆ และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงที่จะเผชิญภาวะถดถอยซ้ำซ้อน
- สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ผลักดันให้เศรษฐกิจยุโรปเสี่ยงเดินเข้าสู่ภาวะถดถอย และซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อโลกที่รุนแรงอยู่แล้วติดสปีดรุนแรงมากขึ้น
- ปัญหาการระบาดของโควิดในจีนจากนโยบาย ‘Zero-COVID’ ที่มีความเสี่ยงจะสร้างปัญหาให้ห่วงโซ่การผลิตของโลก และทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราที่ชะลอลง
ในบทความนี้เราจะลองมาเจาะลึงลงไปดูว่ามีประเทศใดบ้างที่เปราะบางและสุ่มเสี่ยงจะโดนพายุใหญ่ครั้งนี้โหมกระหน่ำเข้าใส่จนได้รับความเสียหายบ้าง
ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าฉุดเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว
ปัจจัยความเสี่ยงทางเศรษฐกิจต่างๆที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้าลงเหลือ 3.6% จากที่เคยคาดการณ์ GDP โลกในปีนี้ไว้ที่ 4.4% และปีหน้าที่ 3.8%
โดยก่อนหน้านั้นไม่นานธนาคารโลกก็เพิ่งออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 3.2% เช่นกัน
รายงานภาพรวมเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Outlook ฉบับล่าสุดของ IMF ระบุว่า แนวโน้มการเติบโตทางลบของเศรษฐกิจโลกเป็นผลมาจากความเป็นไปได้ที่สงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะกินเวลายืดเยื้อออกไป ทำให้พันธมิตรชาติตะวันตกตัดสินใจยกระดับมาตรการคว่ำบาตรกับรัสเซียให้รุนแรงและเข้มงวดมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้า โดยเฉพาะในด้านพลังงานและสินค้าเกษตร
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจโลกยังมีปัจจัยลบจากการปรับตัวลดลงของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้ต้องเผชิญหน้ากับการระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่ จนต้องสั่งล็อกดาวน์เมืองใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนหลายเมือง
ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศจะยิ่งสร้างภาระเรื่องปากท้องให้กับประชาชน จนกลายเป็นชนวนเหตุที่อาจก่อให้เกิดเหตุวุ่นวายหรือความไม่สงบทางสังคมซ้ำรอยกรณีอาหรับสปริง ที่ราคาอาหารแพงทำให้ผู้คนลุกขึ้นมาก่อจลาจลโค่นล้มอำนาจรัฐ
นอกจากนี้ IMF ยังเตือนถึงความเสี่ยงที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หรือ Emerging Market (EM) จะต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนการกู้ยืมที่ปรับสูงขึ้นตามการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อของ Fed ซึ่งเมื่อรวมปัจจัยนี้เข้ากับความเสี่ยงในด้านอื่นๆ จะทำให้กลุ่มประเทศ EM มีความเปราะบางและเสี่ยงจะเข้าสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจมากขึ้น
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:
จับตากลุ่มประเทศ EM เสี่ยงเข้าสู่วิกฤต
กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ประเมินว่า ความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่เกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน อาจส่งผลให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจขึ้นกับกลุ่มประเทศ EM หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีความเปราะบางและอ่อนแอเป็นทุนเดิมตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิดอยู่แล้ว
กอบศักดิ์กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกเวลานี้กำลังเข้าสู่เฟสใหม่ หลังจากทั่วโลกพร้อมใจกันใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินลดดอกเบี้ยและกู้ยืมเงินมาอัดฉีดเพื่อประคองเศรษฐกิจจากโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าเฟสใหม่ทางเศรษฐกิจนี้อาจกินเวลา 2-3 ปี
อย่างไรก็ดี กอบศักดิ์ได้แสดงความกังวลว่า การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจโลกในรอบนี้มีความต่างไปจากวัฏจักรทางเศรษฐกิจปกติ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา เมื่อประเทศต่างๆ ออกจากวิกฤตทางเศรษฐกิจมักจะมีเวลาเก็บเกี่ยวเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวเองเพื่อเตรียมพร้อมรองรับวิกฤตครั้งใหม่
แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ถือเป็นภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤต คือเมื่อพายุลูกเก่าผ่านไป ลูกใหม่ก็เข้ามาต่อในทันที โดยที่หลายประเทศยังไม่มีเวลาเก็บเกี่ยวทางเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับวิกฤต
กอบศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลจากความแปรปรวนของตลาดการเงินโลกในเวลานี้คือวิกฤตทางเศรษฐกิจที่จะตามมา โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ EM ที่มีความเปราะบางและมีหนี้สูงอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโควิด เมื่อเกิดโควิด ดอกเบี้ยในโลกปรับลดลง ประเทศเหล่านี้ก็ยิ่งกู้เพิ่มเข้าไปอีก ทำให้เมื่อดอกเบี้ยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประเทศเหล่านี้จะได้รับผลกระทบที่หนักกว่าเดิม
“หนังตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดคือ ศรีลังกา เลบานอน และเชื่อว่ายังมีอีกหลายประเทศที่มีอาการใกล้เคียงกัน เช่น อาร์เจนตินา ฮังการี โคลอมเบีย แอฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ เนปาล บราซิล ประเทศเหล่านี้ก่อนเกิดโควิดเปรียบเหมือนคนกำลังจะจมน้ำ พอมีโควิดมาดอกเบี้ยลงก็เหมือนน้ำลดช่วยให้เขาพอหายใจได้ แต่เวลานี้น้ำกำลังกลับขึ้นมาใหม่แล้ว แต่การที่ประเทศเหล่านี้จะลอยตัวขึ้นมาหายใจจะยิ่งทำได้ยาก เพราะมีโซ่ตรวนพันธนาการเพิ่มจากหนี้ที่ก่อในช่วงโควิดอีก” กอบศักดิ์กล่าว
กอบศักดิ์ระบุว่า สัญญาณที่บ่งชี้ว่าประเทศใดมีความเสี่ยงจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตามมา คือระดับหนี้และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยประเทศที่มีการกู้ยืมเยอะในช่วงที่ผ่านมา มีหนี้สูงและมีการขาดดุลเดินสะพัด จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาตามมา
ไทยติดโผ 10 ประเทศเสี่ยงเกิดวิกฤต
ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ เขียนบทความลงใน THE STANDARD WEALTH ระบุว่า เมื่อเร็วๆ นี้ธนาคารโลกได้คำนวณหาประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้หลังจากที่ดอกเบี้ยสหรัฐฯ เป็นขาขึ้น และทำให้ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ซึ่งผลการคำนวณพบว่า มีประเทศตลาดเกิดใหม่กว่า 12 ประเทศ ที่มีทุนสำรองไม่เพียงพอที่จะชำระดอกเบี้ยของหนี้ต่างประเทศภายใน 12 เดือนข้างหน้า
โดยประเทศที่เสี่ยงจะผิดนัดชำระหนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในเอเชียใต้และแอฟริกา เช่น ปากีสถาน ตูนีเซีย รวมถึงศรีลังกาที่เพิ่งผิดนัดชำระหนี้และเกิดวิกฤตการเมืองในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่สำนักวิจัย Bloomberg Economics ได้จัดอันดับประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เสี่ยงที่สุดจากวิกฤตเศรษฐกิจ 19 ประเทศ โดยวัดจากการพึ่งพาตัวเองด้านอาหารและพลังงาน รวมถึงมีความเสี่ยงเงินทุนไหลออก ทั้งจากการที่มีหนี้เงินตราต่างประเทศค่อนข้างมากและผลจากการกู้เงินจำนวนมาก เพื่อต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นผลจากการล็อกดาวน์ หรือจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสูง ทำให้มีความเสี่ยงเงินทุนไหลออกและกระทบต่อค่าเงิน
จากคำนวณความเสี่ยงทั้งหมดจากวิกฤตในปัจจุบัน (อันได้แก่ วิกฤตพลังงาน อาหาร และการเงิน) และนำมาเปรียบเทียบกัน จะพบว่า 10 ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีความเสี่ยงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในระยะต่อไป ได้แก่ ตุรกี, อียิปต์, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, โปแลนด์, เกาหลีใต้, ไทย, ชิลี, จีน และเปรู
มรสุมเพิ่มเติมอีก 3 ลูก
ปิยศักดิ์ระบุอีกว่า นอกจากมรสุม 3 ลูกใหญ่ที่มีการกล่าวถึงกันไปแล้วข้างต้น ยังมีมรสุมเพิ่มเติมอีก 3 ลูกที่รอโจมตีกลุ่มประเทศเกิดใหม่ให้เข้าสู่วิกฤติการเงินและวิกฤติเศรษฐกิจอีก ได้แก่
- วิกฤตการส่งออก จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลกที่ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าลดลง
- วิกฤตภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีหนี้สูง อาจเสี่ยงต่อภาวะล้มละลายจากดอกเบี้ยขาขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยโลก
- วิกฤตการเมือง อันเป็นผลจากวิกฤตอาหาร พลังงาน และวิกฤตค่าเงินในช่วงก่อนหน้า
ไทยต้องหาเครื่องยนต์ใหม่
กอบศักดิ์ประเมินว่า ในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยคงไม่สามารถหลีกหนีความผันผวนในตลาดการเงินโลกจากปัจจัยลบด้านต่างๆ ได้ เนื่องจากนักลงทุนจะเหมารวมกลุ่มประเทศ EM ว่ามีความเสี่ยงสูงและถอนเงินลงทุนออก
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดูพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยแล้วจะพบว่า ระดับหนี้สาธารณะของไทยยังสูงกว่า 60% เพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สูงมาก ขณะที่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็เชื่อว่าจะดีขึ้นได้เมื่อภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมา ทำให้มีความเป็นไปได้ที่เมื่อคลื่นลมสงบลงบ้างนักลงทุนบางส่วนจะเลือกนำเงินกลับสู่ไทย
“ไทยโชคดีที่ 2 ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้กู้เยอะ และยังมีทุนสำรองสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่ใช่ทุกประเทศที่จะมีเงินสำรองเหมือนเรา ในภาพรวมจึงเชื่อว่าไทยจะผ่านมรสุมลูกนี้ไปได้ แต่ในระยะสั้นอาจโดนหางเลขความผันผวนในตลาดการเงินบ้าง” กอบศักดิ์กล่าว
กอบศักดิ์ระบุอีกว่า ในปี 2565 นี้ไทยจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการหาเครื่องยนต์ขับเคลื่อนใหม่ๆ เช่น การเร่งลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามา เนื่องจากเครื่องยนต์เดิมอย่างการส่งออกและการกระตุ้นการบริโภคผ่านมาตรการรัฐเริ่มอ่อนแรงเต็มทีแล้ว
“ขณะนี้ถือเป็นโอกาสอันดีของอาเซียนและไทย เพราะนักลงทุนที่อยากเข้ามาเอเชียมองว่าจีนยังเข้าได้ยาก ขณะที่อินเดียก็ดูโน้มเอียงไปทางรัสเซีย อาเซียนจึงน่าสนใจ หากเรามีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม นักลงทุนก็จะเข้ามา เกิดเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศ ซึ่งหากภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาได้ด้วย เศรษฐกิจไทยก็น่าจะมีแรงขับเคลื่อนไปได้ถึงปลายปี” กอบศักดิ์กล่าว