×

วิเคราะห์สัญญาใหม่ของเป๊ป ข่าวดีของแมนฯ ซิตี้ก่อนศึกวัดใจกฎ ‘APT’ (และ 115 คดีทางการเงิน)

21.11.2024
  • LOADING...

ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเวลาอ่อนไหวสำหรับแมนเชสเตอร์ ซิตี้อย่างยิ่ง

 

การพาทีมพบกับความพ่ายแพ้ 4 นัดติดต่อกัน (ทุกรายการ) ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติการทำงานของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ที่ทำให้เวลานี้ตามหลังลิเวอร์พูลในตารางพรีเมียร์ลีกอยู่ 5 คะแนน จนเริ่มมีคำถามว่ากุนซือผู้เป็นอัจฉริยะลูกหนังกำลังหมดไฟหรือไม่?

 

เป๊ปมอบคำตอบให้แก่ทุกคนด้วยข่าวการเตรียมขยายสัญญาฉบับใหม่ออกไปจากเดิมอีก 1 ปี ซึ่งถือเป็นข่าวดีที่มีความหมายอย่างมากสำหรับทีมแชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัยติดต่อกัน

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นข่าวที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการลงมติโหวตกฎที่เกี่ยวพันกับอนาคตของสโมสรโดยตรงอย่างกฎ ‘APT’ และอีก 115 คดีทางการเงินของพวกเขา

 

ตั้งแต่เข้าฤดูกาล 2024/25 ที่ผ่านมานับว่าเป็นช่วงที่แมนฯ ซิตี้ประสบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในหรือนอกสนาม

 

สำหรับผลงานในสนาม ทีมของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา มีผลงานที่ตกลงจากมาตรฐานที่เคยทำได้พอสมควร ซึ่งสาเหตุใหญ่คือการบาดเจ็บของผู้เล่นกำลังหลักหลายต่อหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดเสาหลักอย่าง โรดรี มิดฟิลด์จอมแกร่งที่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างให้ทีมตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งบาดเจ็บเอ็นหัวเข่าฉีกขาดต้องพักการเล่นจนสิ้นสุดฤดูกาล หรือหากกลับมาได้ก็อาจจะปลายฤดูกาล

 

ไม่นับเรื่องที่คีย์แมนประจำทีมหลายคนเริ่มโรยราอย่างเห็นได้ชัด ทั้ง เควิน เดอ บรอยน์, แบร์นาโด ซิลวา, ไคล์ วอล์กเกอร์ หรือแม้แต่ รูเบน ดิอาส

 

แต่เรื่องที่มากหรือน้อยก็อาจจะมีส่วนกับทิศทางในอนาคตของทีมด้วยคืออนาคตของเป๊ป ที่เริ่มมีการพูดอย่างหนาหูมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าอาจจะตัดสินใจวางมือแค่สิ้นสุดฤดูกาลนี้ พร้อมกับ ซิกิ เบกิริสไตน์ ผู้อำนวยการสโมสรที่เป็นคนสนิทซึ่งเป็นผู้ชักชวนให้ย้ายมาอยู่ด้วยกันในถิ่นเอติฮัด สเตเดียม เมื่อปี 2016

 

เป๊ป กวาร์ดิโอลา (Pep Guardiola)

 

คำถามเรื่องการอยู่หรือไปของเป๊ปมีผลต่อความรู้สึก บรรยากาศ และอารมณ์ของแมนฯ ซิตี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เพียงเฉพาะกับผู้เล่นปัจจุบันของทีมที่หลายคนอาจต้องทบทวนอนาคตว่าจะอยู่กับทีมต่อไปไหมหากไม่มีบอสใหญ่ชาวกาตาลัน

 

แต่รวมถึงผู้เล่นที่มีข่าวเชื่อมโยงกับแมนฯ ซิตี้ ที่ก็ต้องทบทวนด้วยเหมือนกันว่าจะยังอยากมาอยู่ไหมหากไม่มีเป๊ปอยู่กับทีมแล้ว

 

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่สั่นคลอนทีมได้ไม่น้อยไปกว่าปัญหาเรื่องอาการบาดเจ็บของผู้เล่นมากมายในทีม

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ข่าวเรื่องเป๊ป – ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวเชื่อมโยงกับทีมชาติอังกฤษ และไม่นานมานี้กับทีมชาติบราซิล – เตรียมขยายสัญญาที่มีอยู่ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมที่จะหมดในช่วงสิ้นสุดฤดูกาลนี้เป็นจบฤดูกาล 2025/26 จึงเป็นข่าวดีที่มาถูกเวลาสำหรับแมนฯ ซิตี้

 

ผลที่ตามมามีหลายอย่างด้วยกัน

 

1. ผลกระทบต่อบรรยากาศและความรู้สึกภายในทีม

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความคลุมเครือไม่ชัดเจนของเป๊ปมีส่วนกับการทำหน้าที่ในสนามของผู้เล่นด้วย การที่เจ้านายประกาศยังอยู่ต่อจะมีส่วนช่วยในเรื่องบรรยากาศได้ อย่างน้อยผู้เล่นจะมีเป้าหมายว่าจะได้เล่นภายใต้เจ้านายเก่าอีกอย่างน้อยๆ จนถึงฤดูกาล 2025/26

 

2. ผลกระทบต่อการเตรียมทีมสำหรับอนาคต

 

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับสโมสรฟุตบอลสมัยใหม่ โดยเฉพาะแมนฯ ซิตี้ ซึ่งกำลังจะสูญเสียเบกิริสไตน์ มันสมองคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทีม

 

การที่เป๊ปยังอยู่จะทำให้คนที่มาทำงานแทนอย่าง ฮูโก วิอานา ผู้อำนวยการสโมสรสปอร์ติง ลิสบอน ทำงานได้ง่ายขึ้น ทั้งในส่วนของการเลือกผู้เล่นที่สอดคล้องกับ Direction ของสโมสร และการโน้มน้าวให้ย้ายมาเล่นกับแมนฯ ซิตี้ ที่นอกจากจะมีโอกาสประสบความสำเร็จ ยังเป็นโอกาสที่จะได้ร่วมงานกับสุดยอดกุนซืออย่างเป๊ปด้วย

 

Pep เป๊ป

 

3. การแสดงจุดยืนของความสามัคคี

 

นอกจาก 2 เรื่องด้านบนแล้ว อีกเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากคืออนาคตของแมนฯ ซิตี้ ซึ่งเผชิญกับความสั่นคลอนอย่างหนัก นอกจากเรื่องของกฎ Associated Party Transactions (APTs) หรือกฎการรับสปอนเซอร์ที่กำลังต่อสู้กับพรีเมียร์ลีกอย่างหนักหน่วง ยังมีเรื่องที่ต้องระทึกหนักเกี่ยวกับความผิดทางกฎการเงิน 115 คดีที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าบทสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร จะหนักหน่วงถึงขั้นโดนปรับตกชั้นหรือไม่

 

การที่เป๊ป ซึ่งเป็นหนึ่งใน Leader ของสโมสรพร้อมจะยืนหยัดอยู่กับทีมต่อไป ไม่ว่าผลของการต่อสู้คดีเหล่านี้จะออกมาเป็นอย่างไร ก็หมายถึงผู้ตามไม่ว่าจะเป็นผู้เล่น ทีมสตาฟฟ์ และเจ้าหน้าที่ของสโมสรเอง จะมีขวัญและกำลังใจที่ดีขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

 

4. การส่งสัญญาณเตือนถึงคู่แข่ง

 

ช่วง 3 เดือนแรกของพรีเมียร์ลีกฤดูกาลใหม่ เป็นช่วงที่แมนฯ ซิตี้ ประสบปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเกมรับที่อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ ไปจนถึงเกมรุกที่เคยทรงประสิทธิภาพก็เริ่มประสบปัญหา

 

หลายคนตั้งข้อสงสัยถึงเป๊ปว่าหมดไฟในการทำงานแล้วหรือเปล่า?​ สไตล์ฟุตบอลของเขาที่เน้นการครองบอล (Possession Based) กำลังกลายเป็นของตกยุคหรือไม่

 

การที่เป๊ปพร้อมจะอยู่กับทีมต่อไปจึงเป็นการส่งสัญญาณหาคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็น อาร์เน สลอต ของลิเวอร์พูล, มิเกล อาร์เตตา, เอ็นโซ มาเรสกา อดีตมือขวาที่อยู่กับอาร์เซนอลและเชลซีตามลำดับในเวลานี้ รวมถึงน้องใหม่อย่าง รูเบน อโมริม โค้ชคนใหม่ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ว่าเขายังอยู่ตรงนี้และพร้อมจะรับมือกับทุกคนเหมือนเดิม

 

โดยที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งว่าเป๊ปจะหาทางออกให้แก่ปัญหาภายในสนามของแมนฯ ซิตี้อย่างไร เราจะได้เห็น ‘นวัตกรรมลูกหนัง’ ใหม่ๆ จากเขาอีกหรือเปล่า

 

5. การซื้อเวลาในการหาตัวแทน

 

ช้าหรือเร็วเป๊ปจะต้องไปจากแมนฯ ซิตี้อยู่ดี แต่การต่อสัญญาครั้งนี้ยังเป็นการ ‘ซื้อเวลา’ ให้ทุกฝ่ายสำหรับการมองหาตัวตายตัวแทนของเขา และเป็นการให้เวลาตัวตายตัวแทนของเขาที่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามได้เตรียมเนื้อ เตรียมตัว และเตรียมใจให้ดีก่อน

 

จะเป็น ชาบี อลอนโซ (หากไม่ย้ายไปเรอัล มาดริด หรือทีมไหนก่อนหลังจบฤดูกาลนี้), ซิโมเน อินซากี, ยูเลียน นาเกิลส์มันน์ หรือสายเลือดของสโมสรอย่าง แว็งซองต์ กอมปานี อย่างน้อยก็มีเวลาฝึกปรือวิชาความรู้กันอีกสักพักกว่าที่เป๊ปจะตัดสินใจวางมือ

 

ดังนั้นไม่ว่าผลของการลงมติเรื่องกฎ ‘APT’ จะจบลงอย่างไร และการตัดสิน 115 คดีจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม อย่างน้อยเป๊ปได้ทำดีที่สุดแล้วในการพร้อมจะยืนหยัดอยู่กับทีมต่อไป ไม่ทิ้งกันกลางทางในระหว่างมรสุมที่กำลังก่อตัวและใกล้จะพัดถล่มในเร็วๆ นี้

 

โดยที่ตามรายงานข่าวระบุว่า เป๊ปไม่มีการระบุเงื่อนไขว่าจะไปจากสโมสรได้ทุกเมื่อหากสโมสรถูกตัดสินว่าผิดและโดนลงโทษปรับตกชั้น ซึ่งถ้าเป็นจริงก็จะเป็นการทำตามที่เคย ‘รับปาก’ ไว้ว่าไม่ว่าแมนฯ ซิตี้จะอยู่ในลีกไหนก็จะไม่ทิ้งทีม พร้อมอยู่ด้วยกันเสมอ

 

เป็น Commitment ที่ไม่ใช่จะเห็นได้ง่ายนัก โดยเฉพาะสำหรับเกมฟุตบอลในยุคปัจจุบัน

 

ควรค่าแก่การคารวะหัวใจของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา

 

สงคราม พรีเมียร์ลีก เรื่อง กฎ APT

 

สงครามพรีเมียร์ลีกเรื่องกฎ APT

 

  • ในวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พรีเมียร์ลีกได้นัด 20 สโมสรเพื่อลงมติในการปรับรายละเอียดเนื้อหาของกฎ Associated Party Transactions (APTs) ใหม่ให้สอดคล้องกับที่ศาลได้ชี้ว่ามีบางจุด เช่น เรื่องของการไม่รวมการกู้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ยจากเจ้าของสโมสรอยู่ในประเภทของรายรับซึ่งไม่เป็นธรรม หรือการประเมินมูลค่าตลาด (Fair Market Value: FMV) ว่าควรมีหลักเกณฑ์อย่างไร

 

  • การโหวตต้องการเสียง 2 ใน 3 หรือ 14 จาก 20 สโมสร เพื่อให้มติผ่านที่ประชุมและรับรองความถูกต้องของกฎ

 

  • แมนฯ ซิตี้ พยายาม ‘ล็อบบี้’ สโมสรไม่ให้รับรองเรื่องนี้ โดยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสโมสรต่างๆ เพื่อโน้มน้าวให้เห็นถึงความไม่ถูกต้องของพรีเมียร์ลีก

 

  • มีการจับตามองท่าทีของสโมสรอย่างแอสตัน วิลลา ที่ประกาศตัวเป็นผู้สนับสนุนแมนฯ ซิตี้ที่คัดค้านการอัปเดตกฎ APT ซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะก่อนหน้านี้ในการประชุมอัปเดตรายละเอียดของกฎเมื่อต้นปี นอกจากแมนฯ ซิตี้ มีสโมสรที่โหวตอยู่ข้างแมนฯ ซิตี้ คือนิวคาสเซิล, วูล์ฟส์, น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ และเอฟเวอร์ตัน ซึ่งหากทั้งหมดยังเกาะกลุ่มอยู่จะเป็น 6 เสียง ต้องการอีกเสียงเดียวก็จะชนะการโหวต

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X