×

ย้อนอดีต ‘คณะราษฎร’ กับกรณีปราบปรามกระบวนการครูบาศรีวิชัย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

24.06.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ครูบาศรีวิชัยถือเป็นพระสงฆ์ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองไทยพอสมควร หลายคนแทบไม่ทราบว่ากรณีพิพาทระหว่างครูบาศรีวิชัยกับรัฐไทยนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่กลับเกิดขึ้นในยุคสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ด้วย
  • การถูกเรียกตัวลงมาพิจารณาข้ออธิกรณ์ครั้งที่ 2 ของครูบาศรีวิชัยเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2478 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เพียงไม่กี่ปี ถือเป็นการถูกอธิกรณ์ครั้งใหญ่ของครูบาศรีวิชัยและพระสงฆ์ในเครือข่ายด้วย มีการจับพระสงฆ์สึกเป็นจำนวนมาก
  • การปราบปรามครูบาศรีวิชัยในยุคคณะราษฎร ทำให้นักวิชาการจำนวนมากตั้งข้อสังเกตว่า “แม้คณะราษฎรจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองไปในทิศทางประชาธิปไตย ให้เสรีภาคและความเสมอภาคต่อประชาชนแล้ว แต่เหตุใดยังปราบปรามครูบาศรีวิชัยอย่างหนักหน่วง”

ครูบาศรีวิชัยถือเป็นพระสงฆ์ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองไทยพอสมควร หลายคนแทบจะไม่ทราบว่ากรณีพิพาทระหว่างครูบาศรีวิชัยกับรัฐไทยนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่กลับเกิดขึ้นในยุคสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ด้วย และถือว่าเป็นข้อพิพาทที่รุนแรงกว่าครั้งแรกในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียอีก

 

ครูบาศรีวิชัยมีข้อพิพาทกับรัฐไทยจนถูกอธิกรณ์จากคณะสงฆ์ จนถึงขั้นถูกเรียกตัวลงพิจารณาข้ออธิกรณ์ ณ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ ถึงสองครั้งด้วยกัน ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2464 และครั้งที่สอง หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เพียงไม่กี่ปี ใน พ.ศ. 2478-2479

 

การถูกเรียกตัวลงมาพิจารณาข้ออธิกรณ์ครั้งแรก (พ.ศ. 2464) ของครูบาศรีวิชัยนั้น สืบเนื่องมาจากข้ออธิกรณ์ในพื้นที่ภาคเหนือระหว่างครูบาศรีวิชัยกับเจ้าคณะปกครองในพื้นที่ก่อน ในช่วง พ.ศ. 2451-2453 โดยถูกกล่าวหาว่าตั้งตนเป็นอุปัชฌาย์เถื่อน บรรพชาอุปสมบทให้กับคณะศรัทธา โดยไม่ได้รับตราตั้งพระอุปัชฌาย์จากทางการ ไม่เชื่อฟังพระสงฆ์ฝ่ายปกครอง ไม่ยอมสำรวจพระเณรในวัดตามคำสั่ง

 

ครูบาศรีวิชัยจึงถูกดำเนินคดีถูกจับกุมไว้ ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยเป็นเวลา 23 วัน หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2454 ถูกกล่าวหาจนเป็นเหตุให้ถูกนำตัวลงไปพิจารณาคดีที่กรุงเทพฯ ด้วยข้อหาหลายประการ ทั้งทางการเมืองและความเชื่อ เช่น กระด้างกระเดื่องต่อคำสั่งเจ้าคณะแขวง ซ่องสุมผู้คนตั้งตนเป็นผีบุญ สร้างความเลื่อมใสศรัทธาจากชาวบ้านด้วยการเล่าถึงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ นานา ไม่ยอมเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชสมบัติของรัชกาลที่ 6 เป็นต้น

 

เมื่อพ้นจากข้ออธิกรณ์ครั้งแรกแล้วนั้น ทำให้ชื่อเสียงของครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักของผู้คนมากยิ่งกว่าเดิม โดยผู้คนเชื่อว่า ครูบาศรีวิชัยเป็นพระที่มีบุญญาบารมีสูง แม้ทางการจะยังไม่สามารถทำอะไรครูบาศรีวิชัยได้ และด้วยพลังศรัทธาอันมหาศาลนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นขบวนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามจำนวนมากในเขตภาคเหนือของครูบาศรีวิชัย และด้วยกระบวนการดังกล่าว ก็เป็นเหตุให้เกิดข้ออธิกรณ์ครั้งใหญ่ของครูบาศรีวิชัยกับรัฐบาลคณะราษฎรในอีก 14 ปีต่อมา

 

การถูกเรียกตัวลงมาพิจารณาข้ออธิกรณ์ครั้งที่ 2 ของครูบาศรีวิชัยเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2478 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เพียงไม่กี่ปี ถือเป็นการถูกอธิกรณ์ครั้งใหญ่ของครูบาศรีวิชัยและพระสงฆ์ในเครือข่ายด้วย มีการจับพระสงฆ์สึกเป็นจำนวนมาก

 

โดยจุดเริ่มต้นของการถูกอธิกรณ์เกิดขึ้นในช่วงที่ครูบาศรีวิชัยได้ไปสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ (ปัจจุบันถนนดังกล่าวได้ชื่อว่าถนนศรีวิชัย เป็นถนนหลักที่ใช้เดินทางถึงพระธาตุดอยสุเทพจนถึงปัจจุบัน) โดยการนิมนต์ของกลุ่มชนชั้นนำในภาคเหนือคนสำคัญอย่าง หลวงศรีประกาศ (ส.ส. คนแรกของจังหวัดเชียงใหม่)

 

ในระหว่างที่มีการสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพนั้น มีชาวบ้านจำนวนมากทั่วภาคเหนือได้มาช่วยกันสร้างถนน และไม่เพียงเท่านั้น ได้นำลูกหลานมาขอบรรพชาและอุปสมบทให้อยู่ภายใต้การปกครองของครูบาศรีวิชัย

 

จากความยิ่งใหญ่ในกิจกรรมและบทบาทของครูบาศรีวิชัย จึงทำให้มีพระสงฆ์จำนวนมากในเชียงใหม่กว่า 50 วัด 10 แขวง ขอลาออกจากการปกครองของคณะสงฆ์ ไปขอขึ้นอยู่ในการปกครองของครูบาศรีวิชัย เหตุการณ์ดังกล่าวนี้จึงเป็นเหตุลุกลามไปทั่วหัวเมือง รวมวัดต่างๆ ทั่วภาคเหนือที่ขอแยกตัวออกไปจากการปกครองคณะสงฆ์ ไปขึ้นกับการปกครองของครูบาศรีวิชัยมากกว่า 90 วัด และในระหว่างที่มีพระสงฆ์ขอขึ้นตรงต่อการปกครองของครูบาศรีวิชัยนั้น ครูบาศรีวิชัยได้ออกหนังสือสุทธิของคณะตนเองออกมาด้วย

 

กรณีดังกล่าวสร้างความไม่ไว้วางใจให้แก่รัฐไทยเป็นอย่างมาก จึงนำไปสู่การปราบปรามอย่างหนักจากทางรัฐ ครูบาศรีวิชัยถูกกล่าวหาว่ากระด้างกระเดื่องไม่ยอมปรองดองกับคณะสงฆ์ ออกใบสุทธิเถื่อน บวชให้หนานปี หรือครูบาอภิชัยขาวปี คนที่คณะสงฆ์ไม่อนุญาตให้บวช เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ครูบาศรีวิชัยถูกนำตัวลงไปกักบริเวณ ณ วัดเบญจมบพิตรเป็นครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2478-2479 โดยรัฐเห็นว่าจะต้องกักบริเวณครูบาศรีวิชัยไว้จนกว่าจะจัดการปราบปรามพระสงฆ์ในภาคเหนือเสร็จสิ้น

 

การปราบปรามเหตุการณ์ครั้งนี้ ประการแรกคือ การนำตัวครูบาศรีวิชัยลงมากรุงเทพฯ โดยรัฐเห็นว่าจะต้องนำตัวครูบาศรีวิชัยลงมากรุงเทพฯ ก่อน ถึงจะสามารถจัดการพระสงฆ์ที่สร้างปัญหาในภาคเหนือได้ โดยใช้ตัวครูบาศรีวิชัยเป็นเครื่องต่อรองกับพระสงฆ์ในเครือข่ายครูบาศรีวิชัย โดยมีข้อแม้กับพระสงฆ์ในภาคเหนือว่า หากจะให้ปล่อยตัวครูบาศรีวิชัยกลับไปนั้น พระสงฆ์เหล่านี้จะต้องปฏิบัติตามสิ่งที่รัฐสั่ง เช่น ให้ทิ้งใบสุทธิของที่ออกโดยครูบาศรีวิชัยเสีย และให้กลับเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของคณะสงฆ์เช่นเดิม

 

หากพระสงฆ์รูปใดปฏิบัติตามนี้ก็จะไม่ดำเนินการลงโทษ และหนานปี (พระที่บวชใหม่ที่ไม่สามารถห่มผ้าเหลืองได้ ต้องห่มผ้าขาวเท่านั้น) หรือขณะนั้นเป็นพระอภิชัย (ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดกับครูบาศรีวิชัย) ให้สึกออกจากการเป็นพระ แม้แต่บวชเณรก็ไม่ได้ เป็นได้เพียงผ้าขาวเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม แม้พระสงฆ์เหล่านั้นจะได้ปฏิบัติตามสิ่งที่รัฐสั่งการแล้ว แต่รัฐก็ยังไม่ยอมปล่อยตัวครูบาศรีวิชัย จนครูบาศรีวิชัยจะต้องยินยอมเซ็นสัญญาทำข้อตกลงกับรัฐ โดยรัฐได้สร้างข้อตกลงกับครูบาศรีวิชัย เช่น ต้องปฏิบัติตามคณะสงฆ์ ให้ครูบาศรีวิชัยสนับสนุนเรื่องการศึกษาของรัฐ สนับสนุนให้พระสงฆ์และชาวบ้านเรียนหนังสือทางรัฐไทย จะสร้างหรือบูรณะสถานที่แห่งใดนั้นจะต้องขออนุญาตจากทางการก่อน

 

เมื่อมีการเซ็นยินยอมข้อตกลงดังกล่าวแล้ว จึงได้มีการปล่อยตัวครูบาศรีวิชัยกลับใน พ.ศ. 2478

 

การเซ็นยินยอมข้อตกลงดังกล่าวนี้ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญอย่างยิ่งในทางประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของล้านนากับสยาม ถึงขั้นที่ แคทเธอรีน บาววี นักวิชาการชาวอเมริกัน ผู้ศึกษาครูบาศรีวิชัยกล่าวว่า เป็นจุดสิ้นสุดของอำนาจล้านนา และถือว่าล้านนาได้ตกอยู่ใต้อำนาจของสยามอย่างสมบูรณ์แล้ว จากการเซ็นยินยอมของครูบาศรีวิชัยในครั้งนี้

 

เหตุการณ์ในครั้งนี้สร้างความโกรธเคืองต่อครูบาศรีวิชัยอย่างยิ่ง ถึงขั้นกล่าวขอยุติการสร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ และจะไม่ขอบูรณปฏิสังขรณ์วัดในภาคเหนืออีกต่อไป รวมถึงเป็นจุดกำหนดวลีที่เป็นอมตวาจาของครูบาศรีวิชัยที่ว่า “หากน้ำปิงไม่ไหลขึ้นทางเหนือ จะไม่ขอกลับไปเหยียบแผ่นดินเชียงใหม่อีก”

อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตนักวิชาการหลายท่าน รวมถึงตัวนักวิชาการคนสำคัญอย่าง แคทเธอรีน บาววี เอง กล่าวถึงการปราบปรามครูบาศรีวิชัยในยุคคณะราษฎรไว้ในงานสัมมนาวิชาการ 140 ปี ชาตะกาลครูบาศรีวิชัย เมื่อ พ.ศ. 2561 ว่า

 

“แม้คณะราษฎรจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองไปในทิศทางประชาธิปไตย ให้เสรีภาคและความเสมอภาคต่อประชาชนแล้ว แต่เหตุใดยังปราบปรามครูบาศรีวิชัยอย่างหนักหน่วง” (สรุปคำกล่าวโดยผู้เขียนเอง)

 

ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอตั้งข้อสังเกตบทบาทของคณะราษฎรกับกรณีดังกล่าว 4 กรณี คือ

 

1. แม้คณะราษฎรจะประกาศหลัก 6 ประการ อันมีเสรีภาพและความเสมอภาคเป็น 2 ใน 6 หลักสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม คณะราษฎรกลับไม่ได้นำหลักดังกล่าวมาใช้ในทางศาสนาและความเชื่อ เสรีภาพและความเสมอภาคนั้นเป็นเพียงเรื่องของทางโลกเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับทางธรรมหรือทางศาสนา ในทางศาสนาคณะราษฎรยังคงมีความ Conservative สูง

 

2. แม้จะมีแนวคิดพยายามจะหลอมรวมนิกายระหว่างธรรมยุติและมหานิกาย โดยการอ้าง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างนิกาย หรือการพยายามปรับโครงสร้างการปกครองสงฆ์จากการบริหารโดยมหาเถรสมาคม เป็นการปกครองแบบแบ่ง 3 ฝ่าย โดยมีฝ่ายตุลาการ บริหาร และนิติบัญญัติ ให้สอดคล้องกับหลักบริหารการเมืองฝ่ายนอกของคณะราษฎรแล้ว แต่ก็เป็นเพียงการทำให้นิกายรวมกันเป็นหนึ่งภายใต้การบริหารของคณะสงฆ์แบบใหม่ในการกำกับอำนาจการควบคุมโดยรัฐ

 

3. ความเสมอภาคและเสรีภาพของคณะราษฎรจะต้องเป็นเสรีภาพและความเสมอภาคภายใต้ความเป็นรัฐชาติเดียวกัน (Nation State) ไม่ใช่การยอมรับความหลากหลายทางความเชื่อและวัฒนธรรม ดังนั้น กรณีครูบาศรีวิชัยจึงถูกปราบปรามอย่างหนักหน่วง เพราะนอกจากรัฐมองว่าเป็นภัยในทางศาสนาแล้ว ยังเป็นภัยต่อคงามเสถียรภาพของรัฐชาติด้วย

 

4. รัฐยังพยายามกุมอำนาจการอธิบายหลักความถูก-ผิดทางศาสนาและความเชื่ออยู่ และใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนแนวคิดทางการเมืองของตนเองไม่ต่างจากสมัยรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังจะเห็นได้จากคำแถลงการณ์ต่อกรณีการจับกุมครูบาศรีวิชัย รัฐพยายามอธิบายให้คนในภาคเหนือ โดยเฉพาะในเชียงใหม่เข้าใจว่า สิ่งที่ครูบาศรีวิชัยทำ หรือหลักปฏิบัติของครูบาศรีวิชัยไม่ได้เป็นไปตามครรลองของหลักพระไตรปิฎกแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และบังคับให้ครูบาศรีวิชัยเซ็นข้อตกลงปฏิบัติตามและสนับสนุนนโยบายของรัฐ

 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แม้คณะราษฎรจะพยายามเปลี่ยนแปลงแนวคิดให้เป็นไปในทิศทางประชาธิปไตย ให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพแล้ว แต่อย่างไรก็ตามในทางศาสนา หลักการดังกล่าวกลับถูกนำไปใช้ หลักการเสรีภาพทางศาสนาจึงไม่ใช่แนวคิดที่มีวิธีคิดของคณะราษฎร เสรีภาพ เสมอภาคของคณะราษฎรเป็นเพียงสิ่งที่ถูกนำไปใช้ในทางการเมืองทางโลกเท่านั้น และด้วยเหตุดังกล่าวจึงน่าจะพอเป็นเหตุผลได้ว่า เหตุใดครูบาศรีวิชัยจึงถูกปราบปรามอย่างหนักในรัฐบาลของคณะราษฎร ผู้เสนอหลักเสรีภาพและความเสมอภาค

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • เอกสารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, สร.0201.10/61, เรื่อง พระศรีวิชัยไม่ปรองดองกับคณะสงฆ์ (2478-2479).
  • เอกสารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, (2) สร.0201.66.5.2/46, เรื่อง พระศรีวิชัยสร้างทางขึ้นไปบนพระธาตุดอยสุเทพ (30 มกราคม 2476-12 กุมภาพันธ์ 2478).
  • โสภา ชานะมูล, ครูบาศรีวิชัย “ตนบุญแห่งล้านนา” พ.ศ. 2421-2481, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปีการศึกษา 2534.
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising