วันนี้ (22 มกราคม) เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน นำโดย รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อดีตแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ยื่นหนังสือถึงองค์การสหประชาชาติ (UN) เรียกร้องให้สนับสนุนรัฐบาลไทยผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน
โดยแถลงการณ์เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเรียกร้องให้สหประชาชาติ (UN) สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ด้วยการสนับสนุนให้รัฐบาลผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน ก่อนสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก่อนการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม ปี 2567
สำหรับเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเกิดขึ้นจากความร่วมมือขององค์กรทางกฎหมาย นักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคม และนักกิจกรรมทางสังคม กว่า 23 องค์กร เพื่อเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนต่อรัฐบาลไทยในการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในทางการเมือง
“พวกเรากังวลอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่กำลังเกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย และประชาชน จำนวนมากกว่า 1,400 คน สืบเนื่องจากการออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมโดยสันติ อย่างไรก็ตาม จำนวนตัวเลขนี้นับว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับภาพรวมที่ประชาชนกว่า 6,000 คน ถูกดำเนินคดีทางการเมืองนับตั้งแต่การรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 กันยายน ปี 2549 จนถึงก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 2566” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ
เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนระบุด้วยว่า ตลอดภาพประวัติศาสตร์ทางการเมืองนี้มีประชาชนไม่ต่ำกว่า 6,000 คนที่ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการทำกิจกรรมทางการเมือง อีกทั้งภายหลังการทำรัฐประหารในปี 2557 ยังมีบุคคลกว่า 2,400 คนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ยิ่งไปกว่านั้นแล้วภายหลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตยที่นำโดยเยาวชนและประชาชนโดยทั่วไปนับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จนถึงสิ้นปี 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีผ่านการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ อย่างน้อย 1,938 คน ซึ่งเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีไม่น้อยกว่า 286 คน รวมกว่า 1,264 คดี
“อย่างไรก็ดี ภายใต้รัฐบาลผสมชุดใหม่ที่มี เศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งในเดือนกันยายน 2566 นั้นยังปรากฏการดำเนินคดีทางการเมืองต่อนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องระหว่างเดือนกันยายนและธันวาคม ปี 2566 ศาลได้มีคำพิพากษาในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือคดีมาตรา 112 ในทั้งหมด 31 คดี โดยคดีที่ศาลลงโทษจำคุกทั้งหมด 28 คดี หรือคิดเป็น 90% ของช่วงเวลาดังกล่าว และมีคดีมาตรา 112 ที่จำคุกมากที่สุดถึง 50 ปี”
พวกเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า หากไม่มีการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของประชาชนจากทุกฝักฝ่ายทางการเมืองในทุกมิติอย่างจริงจัง จะส่งผลเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการสร้างความปรองดองทางการเมือง จึงมีความประสงค์ให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แสดงความจริงใจต่อการสร้างความปรองดองทางการเมืองและความมุ่งมั่นต่อสิทธิมนุษยชน ด้วยการผ่านการสนับสนุนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ครอบคลุมไปถึงมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา สำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศไทยรณรงค์หาเสียงเพื่อเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก่อนการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม ปี 2567
เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนประกาศข้อเรียกร้องผ่านทาง UN ดังนี้
– สนับสนุนให้รัฐบาลไทยรับประกันสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสันติตามข้อ 19 และข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
– สนับสนุนให้รัฐบาลไทยระงับไว้ซึ่งการดำเนินคดีต่อผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงออกทางความคิดและการชุมนุม
– สนับสนุนให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนักโทษทางความคิด โดยรวมไปถึงเยาวชนที่ถูกคุมขังสืบเนื่องมาจากการแสดงออกทางการเมือง
– สนับสนุนให้รัฐบาลไทยทบทวนและแก้ไขมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวสอดคล้องกับข้อแนะนำภายใต้กระบวนการพิเศษแห่งสหประชาชาติและคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ
– สนับสนุนให้มีการผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชนก่อนสิ้นปี 2567