วันนี้ (10 กุมภาพันธ์) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยเมื่อหายจากการป่วยโควิดแล้ว และมีอาการคล้ายเป็นโควิดหลัง 3 เดือนขึ้นไป กลุ่มอาการเหล่านี้เรียกว่า ภาวะ ‘Long Covid’ สามารถเกิดขึ้นได้หลายระบบในร่างกาย ตั้งแต่ระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือด
โดยภาวะ Long Covid มักพบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย รวมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักตัวมาก ผู้มีประวัติเป็นโรคหัวใจ ผู้ที่มีอาการติดเชื้อโควิดที่รุนแรง และผู้สูงอายุ เนื่องจากลักษณะของอวัยวะต่างๆ ของร่ายการที่เสื่อมถอยร่วมกับมีการอักเสบจากการติดเชื้อโควิด ทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการต่อเนื่องได้นานมากกว่าคนปกติ ซึ่งอาการทางระบบหัวใจและปอดที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีภาวะ Long Covid คือเจ็บหน้าอก ใจสั่น เหนื่อยเรื้อรัง ไอเรื้อรัง ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการ Long Covid หากอาการดังกล่าวกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านหรือโรงพยาบาลที่เคยรักษาโรคโควิด เพื่อขอรับคำปรึกษาจากแพทย์
ด้าน นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มเสี่ยงที่จะพบอาการ Long Covid ขึ้นอยู่กับเพศ อายุ โรคประจำตัวของผู้ป่วย ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการ Long Covid จะไม่ส่งผลในระยะยาวต่อร่างกาย หากผู้ป่วยรู้จักการดูแลรักษาร่างกายตนเองให้กลับมาแข็งแรง ก็จะสามารถกลับมาเป็นปกติได้เกือบ 100%
สำหรับแนวทางการดูแลตนเองในผู้ป่วยที่เพิ่งหายป่วย ควรฟื้นฟูสมรรถภาพปอดด้วยการออกกำลังกายชนิดแอโรบิกแบบเบาๆ และฝึกการหายใจแบบช้าและลึก เพื่อให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจมีความแข็งแรง และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะควันบุหรี่ธรรมดาหรือแม้แต่บุหรี่ไฟฟ้า ฝุ่น PM2.5 และที่สำคัญคือควรรักษาสุขอนามัยของตนเองด้วยการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ ทุกครั้งที่สัมผัส และควรเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร
ดังนั้นหากผู้ป่วยหมั่นดูแลสุขภาพตนเองอย่างต่อเนื่อง ไม่วิตกกังวลจนเกินไป ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ และหากพบว่ามีอาการภาวะ Long Covid กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษา