×

นักวิชาการ 4 มหาวิทยาลัย จับมือทีวี 4 ช่อง เปิดให้ประชาชนร่วมลงมติผ่านหน้าจอ คู่ขนานสภาศึกซักฟอกรัฐบาล

โดย THE STANDARD TEAM
18.07.2022
  • LOADING...
ประชาชนร่วมลงมติ

วันนี้ (18 กรกฎาคม) ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายเสียงประชาชน ได้เปิดเผยว่า สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะมีการเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจำนวนทั้งหมด 11 คน ในระหว่างวันที่ 19-22 กรกฎาคม 2565 โดยจะลงมติในวันที่ 23 กรกฎาคม 2565

 

เพื่อเป็นการส่งเสริมกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลและการมีส่วนร่วมของประชาชนตามวิถีทางประชาธิปไตย ‘เครือข่ายเสียงประชาชน’ ซึ่งเป็นการริเริ่มของกลุ่มนักวิชาการจาก 4  มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยรังสิต รวมทั้งเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่ร่วมกันจัดงาน 30 ปีพฤษภาประชาธรรม ร่วมกับสื่อโทรทัศน์ดิจิทัล 4 ช่อง ได้แก่ เนชั่น, ไทยรัฐทีวี, ข่าวเวิร์คพอยท์ และพีพีทีวี จึงได้ร่วมกันทำโครงการ ‘เสียงประชาชนลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจรัฐบาล’ เปิดให้ประชาชนได้ลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายทางออนไลน์ คู่ขนานกับการลงมติของ ส.ส.

 

ผศ.ดร.ปริญญา เปิดเผยว่า การลงมติออนไลน์จะดำเนินการโดยสื่อโทรทัศน์ดิจิทัลที่ร่วมโครงการจะนำ QR Code ขึ้นหน้าจอให้ประชาชนได้ร่วมลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้ใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้ง 11 คนแยกเป็นรายบุคคลเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร โดยมีกติกาในการลงมติคือ

 

  1. โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง หรือคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง จะลงมติได้เพียง 1 ครั้ง 

 

  1. การลงมติจะเริ่มต้นในวันสุดท้ายของการอภิปรายคือวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม เวลา 18.00 น. โดยจะปิดการลงมติในวันที่ 23 กรกฎาคม เวลาเดียวกับการปิดลงมติของสภาคือเวลาประมาณ 11.00 น. จากนั้นจะมีการสรุปผลและรายงานผลไปพร้อมกับผลการลงมติของ ส.ส.

 

สำหรับโครงการ ‘เสียงประชาชนลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจรัฐบาล’ ที่ดำเนินการคู่ขนานกับสภาในครั้งนี้ ผู้ดำเนินการและสื่อโทรทัศน์ดิจิทัลที่ร่วมโครงการมิได้มีความมุ่งหมายที่จะไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย หากแต่ประสงค์ที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญได้แสดงออกซึ่ง ‘เสียงประชาชน’ ที่ถึงแม้ว่าจะมิได้มีผลทางกฎหมาย และไม่ว่าผลการลงมติในสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นเช่นไร แต่ผลที่ออกมาคือ ‘เสียงประชาชน’ ที่ทุกฝ่ายจะได้รับฟัง 

 

ขณะเดียวกันนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการดำเนินการให้ประชาชนได้ลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจคู่ขนานกับสภาผู้แทนราษฎรโดยใช้ช่องทางออนไลน์ ที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้โดยสะดวก จัดการได้ง่าย และทราบผลได้รวดเร็ว ซึ่งควรจะได้มีการใช้ในการส่งเสริม ‘เสียงประชาชน’ ให้ดังย่ิงขึ้นในวาระอื่นๆ และเรื่องสาธารณะอื่นๆ และนำไปสู่การมีประชาธิปไตยโดยตรงมากย่ิงขึ้นต่อไป

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising