วันนี้ (2 กรกฎาคม) ที่อาคารอนาคตใหม่ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของพรรคประชาชน ในการเปิดสมัยประชุมในวันที่ 3 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ว่า การเปิดสมัยประชุมนี้ พรรคประชาชนยืนยันว่า เราพร้อมจะใช้กลไกในสภาทุกช่องทาง เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ เป็นการปลดล็อกทางการเมืองมากกว่าเพียงแค่การปลดล็อกการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี
ณัฐพงษ์กล่าวว่า ได้มีการสื่อสารไปก่อนหน้านี้หลายครั้งแล้วว่า ภายใต้สมการทางการเมืองแบบที่เป็นอยู่ จากจำนวน สส.ในสภาที่มี พวกเราเห็นว่า การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะกระบวนการใดก็ตาม ทั้งการลาออก หรือถอดถอนในกระบวนการนิติสงคราม ที่เราไม่เห็นด้วย ไม่สามารถหาทางออกให้กับประเทศได้ เพราะเราต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ มีความชอบธรรม มีประสิทธิภาพ และสมาธิ ในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน โดยเรื่องนี้ จะมีการหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านในวันพรุ่งนี้ (3 กรกฎาคม) เพื่อหาแนวทางการทำงานร่วมกัน
ข้อเสนอ ‘อนุทิน’ เสนอเป็นนายกฯ ชั่วคราว
ส่วนกระแสข่าวที่ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว พรรคประชาชนมองอย่างไร ณัฐพงษ์ย้ำว่า ต้องเรียนตามข้อเท็จจริงว่า มีการพูดคุยกันอยู่ตลอด แต่ในรายละเอียด ขอยังไม่สื่อสารในตอนนี้ เนื่องจากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด
“เราไม่ได้มองว่าการเมืองจะถึงทางตัน เพราะการเดินเข้าสู่ทางตันมีกรณีเดียว คือกลุ่มคนบางกลุ่ม พยายามสร้างเงื่อนไข สร้างสถานการณ์ทางการเมืองเพื่อใช้อำนาจนอกระบบ ไม่ว่าจะปฏิวัติรัฐประหาร หรือนายกรัฐมนตรีที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น บางตัวเลขที่ได้มีการหารือกันระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้านในหลังบ้าน ผมขอยืนยันอีกหนึ่งครั้งว่า เรามองเห็นทุกฉากทัศน์การเมืองหลายทาง ตอนนี้มีทางไปแน่นอน” อนุทินกล่าว
ส่วนหากมีการเสนอชื่ออนุทิน พรรคประชาชนจะโหวตให้โดยไม่ร่วมรัฐบาลหรือไม่ ณัฐพงษ์ระบุว่า ขอยังไม่ลงรายละเอียด เพราะยังไม่อยากยืนยันในตอนนี้ ยังพูดฝ่ายเดียวไม่ได้ สุดท้ายอีกฝั่งหนึ่ง หรือทางพรรคภูมิใจไทย และอนุทินเอง ก็ต้องเห็นด้วยกับเรา เพราะที่ผ่านมา ในการคุยนอกรอบหรือไม่เป็นทางการ ยังมีตัวเลือกความเป็นไปได้ต่างๆ อื่นอีก ยืนยันว่า ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์แบบไหน การตัดสินใจของพรรคประชาชน เราจะใช้จำนวนเสียง สส. ที่มีทั้งหมด เปิดประตูหาทางออกให้กับประเทศนี้
ส่วนมีการประเมินฉากทัศน์ต่อไป ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยกรณี แพทองธาร ชินวัตร อย่างไรบ้าง ณัฐพงษ์มองว่า อย่างแรกหากแพทองธารไม่ยอมลาออก สถานการณ์ก็ยังเป็นแบบนี้ มีนายกรัฐมนตรีรักษาการไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างที่สองนายกรัฐมนตรีสามารถตัดสินใจลาออกได้เลย เพื่อเดินหน้าเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่
เชื่อประชาชนเห็นตรงกันยุบสภาทางออกดีสุด
สำหรับกรณีมีการตั้งคำถามว่า ที่พรรคประชาชนเลือกแนวทางยุบสภานี้ เป็นเพราะพรรคประชาชนได้ประโยชน์หรือไม่ ณัฐพงษ์กล่าวว่า น้อมรับในข้อคิดเห็นของแต่ละฝ่าย แต่ขอชวนประชาชนทุกคนคิด และมีการตั้งคำถามในใจว่า หากเราต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน มีความชอบธรรม มีหน้าตาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ไม่ได้มาจากการแบ่งสร้างสรรเก้าอี้ตามโควตาพรรคการเมือง เพื่อรักษาอำนาจตัวเอง อยากให้ ครม.คัดสรรคนที่มีความรู้ ความสามารถมาดำรงตำแหน่ง ถ้าเราอยากได้แบบนี้ เราลองดูทางเลือกอื่นๆ ที่นอกเหนือจากที่มีอยู่
“ลองจินตนาการดูว่า มีแบบไหนบ้าง ที่เราจะได้รัฐบาลตามที่พรรคประชาชนเสนอได้ ตนเชื่อว่า ประชาชนทุกคนเห็นตรงกันว่า ทางออกคือการคืนอำนาจให้กับประชาชน” ณัฐพงษ์กล่าว
ส่วนการใช้กลไกสภาในการตรวจสอบนั้น พรรคประชาชนจะเริ่มต้นตั้งแต่การตั้งกระทู้ถามสด และญัตติด่วนต่างๆ ส่วนอภิปรายไม่ไว้วางใจ มาตรา 151 นั้น พวกเราไม่ได้ปฏิเสธ และเห็นด้วยว่า เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในการกดดันรัฐบาล ให้มีการยุบสภา และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ในการตรวจสอบ แต่ต้องดูว่าจังหวะไหน จะเข้าเป้ามากที่สุด เพราะกรณีการที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ตอกย้ำให้เห็นว่า สิ่งที่พรรคประชาชนสื่อสารมาก่อนหน้านี้ ว่าเราไม่ได้ปฏิเสธ แต่ต้องรอดูสถานการณ์ที่ตอนนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง เป็นสิ่งที่เราตัดสินใจถูกต้อง ไม่ได้ออกไปรับลูกข้อเสนอพรรคภูมิใจไทยก่อนหน้านี้
หวังผู้ชุมนุมไม่เรียกอำนาจนอกระบบ
สำหรับกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมรวมพลังแผ่นดินนั้น ค่อนข้างอยากให้กำลังใจประชาชนทุกคน เพราะเข้าใจว่าตอนนี้จากสถานการณ์ทำให้คนขาดความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล และมีความคิดที่อยากให้แพทองธารออกจากตำแหน่ง ซึ่งต้องออกมาเรียกร้องนั้น แต่ไม่ว่าเราจะมีความไม่พอใจต่อแพทองธารอย่างไร เราไม่ควรที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญ หรือกระบวนการที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย
ณัฐพงษ์ย้ำว่า ผู้ชุมนุมมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่า แกนนำมีส่วนชี้นำที่จะนำไปสู่กลไกนอกระบบ ทั้งรัฐประหาร และนายกรัฐมนตรี มาตรา 5 เราก็ไม่ควรสนับสนุนในส่วนนั้น
ณัฐพงษ์ยังย้ำจุดยืนต่อมาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง ย้ำว่า คนที่ควรตัดสินเรื่องจริยธรรมของนักการเมืองควรเป็นประชาชน เพราะแน่นอนที่สุดว่า หากนักการเมืองมีเรื่องทุจริต เรายังมีกลไกของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกระบวนการยุติธรรมในการดำเนินคดีอยู่แล้ว หากเป็นช่องในการตัดสินมาตรฐานจริยธรรมต่างๆ ควรเป็นประชาชนตัดสินผ่านคูหาการเลือกตั้ง เพื่อให้นักการเมืองมีความรับผิดรับผิดชอบจากประชาชน และไม่ควรอาศัยกลไกนี้ เพียงแค่หวังผลทุบทำลายให้ใครออกจากตำแหน่ง โดยยื่นดาบให้กับตุลาการที่มีองค์คณะแค่ไม่กี่คนในการตัดสิน
สำหรับกรณีมีคนเตรียมยื่นถอดถอนแพทองธาร ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมนั้น ณัฐพงษ์กล่าวว่า ต้องประเมินสถานการณ์ตามความเหมาะสม ตอนนี้แพทองธาร กำลังจะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม หากมีการดำเนินการแล้ว เห็นถึงความไม่เหมาะสม เราก็พร้อมใช้ทุกกลไกในการตรวจสอบ และถอดถอนออกจากตำแหน่ง