วันนี้ (5 พฤศจิกายน) บรรยากาศที่หอนาฬิกา หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ตั้งแต่เวลา 17.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มเดินทางมารวมตัวกัน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา บางส่วนสวมเครื่องแบบมาร่วมกิจกรรม จากนั้นเริ่มมีการตั้งเวทีและเครื่องเสียง ซึ่งจุดที่ตั้งอยู่ติดกับสถานีรถไฟศาลายา และมีการปิดการจราจรถนนพุทธมณฑลสาย 4 เส้นศาลายา หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล
เวลา 17.15 น. พ.ต.อ. ธีรศักดิ์ ศรีประเสริฐ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม นำประกาศพระราชบัญญัติการชุมนุมในที่สาธารณะมาแจ้งแก่แกนนำ เนื่องจากไม่ได้แจ้งการชุมนุมก่อน 24 ชั่วโมง โดยในใบประกาศมีคำสั่งให้ยุติการชุมนุมในเวลา 20.00 น. พร้อมทั้งให้ทางกลุ่มผู้ชุมนุมเปิดช่องทางการจราจรไว้ 1 ช่องทาง เพื่อให้รถสามารถสัญจรได้
พรีม-ฉัตรรพี อาจสมบูรณ์ ประธานภาคีเครือข่ายนักศึกษามหิดล กล่าวว่า วันนี้ยังคงยืนยันการชุมโดยแสดงจุดยืน 3 ข้อเรียกร้องเดิม และไม่เข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ตามที่แกนนำกลุ่มราษฎรได้แถลงเมื่อวานนี้ ขณะที่รูปแบบการชุมนุมในวันนี้เป็นไปในลักษณะผลัดเปลี่ยนกันปราศรัย และยุติไม่เกิน 20.00 น. ตามข้อกำหนดของตำรวจ
มวลชนปักหลักทำกิจกรรมอย่างสงบ ในส่วนของกิจกรรม มีศิลปินหลายคนได้ร่วมบรรเลงบทเพลงเพื่อสร้างความผ่อนคลายแก่ผู้ชุมนุม เช่น แอมมี่ The Bottom Blues, แรปคลองเตย และวงสามัญชน
ขณะเดียวกันบนเวทียังมีการสลับกันปราศรัยอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเวลา 20.40 น. จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และแกนนำคณะราษฎรอีสาน ได้ขึ้นปราศรัยยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ข้อ และยืนยันว่าจะไม่มีการเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ และจะไม่มีการพูดคุยเจรจาใดๆ จนกว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งความสมานฉันท์ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากยังมีการจับกุมดำเนินคดีกับแกนนำและผู้ร่วมชุมนุม ดังนั้นขอให้รัฐบาลฟังเสียงของประชาชน และรับข้อเสนอของราษฎร
เวลา 21.50 น. ได้ประกาศยุติการชุมนุม จากนั้นแกนนำกลุ่มภาคีนักศึกษาศาลายาได้ร่วมอ่านแถลงการณ์ ซึ่งตัวแทนอ่านคือ เอกศิษฏ์ บัวทองเอี่ยม ระบุว่า การที่รัฐบาลพยายามตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ เป็นเพียงข้ออ้างในการให้ลดระดับการชุมนุม สิ่งที่ราษฎรต้องการคือความสงบสุข ไม่ใช่ยอมสยบต่ออำนาจเผด็จการทรราช
ราษฎรขอยืนยันว่า จะไม่ร่วมสังฆกรรมใดๆ กับคณะกรรมการชุดนี้เป็นอันขาด และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม จะไม่มีการลดเพดานข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ได้แก่
- พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพ จะต้องลาออก
- จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง
- จะต้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับประชาธิปไตยสมัยใหม่
ดังที่กล่าวมาเป็นเพียงข้อเรียกร้องขั้นต่ำ และมีเพียงวิธีนี้เท่านั้นที่จะทำให้ประเทศนี้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง และเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์