×

‘ราษฎรฟ้องรัฐ’ การสู้กลับจากประชาชน แสงสว่างปลายอุโมงค์ของการต่อสู้กับอำนาจรัฐ

17.10.2021
  • LOADING...
ราษฎรฟ้องรัฐ

วานนี้ (16 ตุลาคม) ‘ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน’ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักกฎหมายเพื่อฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานรัฐที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ จัดงาน ‘1 ปี ราษฎรฟ้องกลับ’ ในโอกาสครบรอบ 1 ปีการรวมตัวกันของภาคี โดยมีเสวนาสาธารณะเรื่อง ‘น้ำ แก๊ส กระสุนยาง ประชาชนได้อะไรจากรัฐ’ ที่ Doc Club & Pub 

 

สำหรับการเสวนาแบ่งเป็น 2 หัวข้อ คือ ‘1 ปี ของสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะและเสรีภาพสื่อ ผลกระทบและความหวังต่อกระบวนการยุติธรรม’ วิทยากรประกอบด้วย เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม ชยพล ดโนทัย นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าว The Reporters และธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ ผู้สื่อข่าว Plus Seven

 

และหัวข้อ ‘บทบาทภาคีนักฎหมายสิทธิมนุษยชน อุปสรรคในการต่อสู้คดี ความเห็น และข้อเสนอแนะ’ วิทยากรประกอบด้วย ศุภมาศ กัญญาภัคโภคิน ผู้แทนภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ดำเนินรายการโดย ณัฐธิดา ชูมาลัยวงค์ เจ้าหน้าที่สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

 

ทั้งนี้ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เดินทางมาร่วมรับฟัง และร่วมแสดงความคิดเห็นในการเสวนาด้วย 

 

กฎหมายชุมนุมสร้างภาระประชาชน 

 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม กล่าวว่า ประชาชนแสดงพลังได้หลายทาง โดยทางหนึ่งคือการรวมตัวชุมนุม เหตุที่ต้องชุมนุมเพราะต้องการตรวจสอบองค์กรของรัฐ ซึ่งใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน การชุมนุมเป็นการแสดงเจตจำนงสันติวิธี มิเช่นนั้นคงไปจับอาวุธต่อสู้ ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับกฎหมายการชุมนุมสาธารณะในปัจจุบัน เพราะมีความพยายามจะห้ามการชุมนุมให้ได้มากที่สุด มีการสร้างภาระและค่าใช้จ่ายให้ประชาชนธรรมดา         

 

ความเสียหายจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ที่ปราศจากการชดเชย

  

ชยพล ดโนทัย นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ปี 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2564 มีเหตุคนพ่นสีพระบรมฉายาลักษณ์ที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ต่อมาวันที่ 13 มกราคม เพื่อนโทรมาบอกว่ามีหมายจับในชื่อตน ตอนนั้นตกใจ มีข้อกังวล เพราะข้อเท็จจริงไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ ตอนเกิดเหตุอยู่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แล้วข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในพื้นที่ภาคใต้ไม่ใช่แค่เรื่องทางกฎหมาย แต่เป็นเรื่องที่มีความอันตรายถึงชีวิต เคยมีกรณีร้านน้ำเต้าหู้ มีหลายกรณีเป็นภัยคุกคามถึงชีวิตทรัพย์สินและครอบครัวผู้ถูกกล่าวหา 

 

ส่วนตัวพยายามจะไปมอบตัวเพราะได้รับข้อมูลว่าเป็นหมายจับ และดูจากเอกสารที่เป็นหมายค้นระบุว่า สิริชัย นาถึง หรือ ฮิวโก้ ถูกออกหมายจับเลขที่ 14/64 และพบว่าชื่อตัวเองถูกระบุในหมายเลขที่ 15/64 โดยระหว่างนั้นพยายามหาข้อเท็จจริงว่าเป็นหมายจับหรือไม่ 

 

แต่หลังจากไปรายงานตัวที่ สภ.คลองหลวง ไม่นานเพียง 1-2 ชั่วโมง เขาก็ออกข่าวว่า ยกเลิกหมายจับแล้ว เป็นการแก้ต่างง่ายๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไม่มีความผิดอะไรเลยในการปฏิบัติหน้าที่      

 

กรณีดังกล่าวกระทบต่อการเรียนที่กำลังเตรียมเรียนออนไลน์ และต้องเสียค่าตั๋วเครื่องบิน 2,500 บาทเดินทางมากรุงเทพฯ เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องออกเอง ไม่มีการชดเชยช่วยเหลือจากตำรวจ 

 

ถ้าเดินตามหลักการย่อมเจอความเป็นธรรม 

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าว The Reporters กล่าวว่า ในฐานะเป็นโจทก์ที่ 1 ยื่นฟ้องจำเลยคือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นคดีที่ภาคภูมิใจมาก เพราะเป็นคดีแรกในชีวิตเพื่อให้รัฐเพิกถอนข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ห้ามเผยแพร่ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่สื่อฟ้องนายกรัฐมนตรี โดยภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนมาสอบถามว่าสนใจฟ้องรัฐบาลให้เพิกถอนไหม ส่วนตัวมองว่าเป็นวิธีที่น่าสนใจ การฟ้องไม่ได้มีเฉพาะ The Reporters แต่มี The MATTER, Plus Seven,THE STANDARD, ประชาไท, Voice ฯลฯ 

 

ขณะที่ไปศาลแพ่ง ได้ชี้แจงต่อศาลถึงเหตุผลที่ต้องขอยกเลิก ในที่สุดศาลก็มีคำสั่งให้คุ้มครอง ถือเป็นคดีที่ทำให้เห็นว่าในกระบวนการยุติธรรม “ถ้าเราเดินตามหลักการและเหตุผล ก็ย่อมเจอความเป็นธรรม”

 

 

ฟ้องเจ้าหน้าที่ หวังความจริงเปิดเผยต่อสาธารณะ

 

ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ ผู้สื่อข่าว Plus Seven กล่าวว่า ตั้งแต่มีเคอร์ฟิว การทำงานของสื่อยากขึ้น ตำรวจพยายามขอดูบัตรกรมประชาสัมพันธ์ ขอดูปลอกแขน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการทำงาน และตำรวจมีการสกัดสื่อมวลชนไม่ให้ตามไปถ่ายเหตุการณ์ โดยไล่ตรวจบัตรสื่อ ทำให้สื่อที่โดนกักออกมาตรวจบัตรไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงขณะมีการสลายการชุมนุมว่าทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

 

เหตุที่ตัดสินใจฟ้องกลับ ไม่ใช่เพราะถูกยิงด้วยกระสุนยางที่สะโพกระหว่างอยู่ในพื้นที่การชุมนุม แต่เป็นเรื่องการทำให้สื่อไม่สามารถเข้าไปทำข่าวได้ สื่อมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐ ขณะที่รัฐพยายามปกปิดความจริง ไม่อยากให้สื่อเห็นสิ่งที่ตำรวจกำลังทำอยู่ 

 

หลายครั้งที่สื่อถามตำรวจก็มีการตอบเลี่ยงๆ หรือไม่ตอบ ในฐานะสื่อมวลชนต้องตรวจสอบข้อมูล วิธีที่ทำได้คือต้องพึ่งศาล ให้ตำรวจพูดต่อหน้าบัลลังก์ ถูกซักโดยทนาย เป็นสิ่งที่หวังว่าจะทำ ไม่ใช่การฟ้องเพื่อผลประโยชน์ใดๆ แต่ต้องการให้มีการเอาความจริงออกมา ความจริงที่ตำรวจไม่ได้พูดในที่สาธารณะ  

 

‘คดียุทธศาสตร์’ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวและจะไม่ทำอย่างเงียบๆ 

 

ศุภมาศ กัญญาภัคโภคิน ผู้แทนภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ปัจจุบันมีคดีฟ้องร้อง ‘คดียุทธศาสตร์’ อยู่ระหว่างดำเนินการ 21 คดี ฟ้องไปแล้ว 13 คดี และอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานอีก 8 คดี

 

คดียุทธศาสตร์ ต้องเป็นประเด็นสาธารณะไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ผลของคดีไม่ว่าจะแพ้หรือชนะต้องมีการสื่อสารกับกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่รัฐ ว่ามีปัญหาที่ประชาชนได้รับผลกระทบจึงมีการฟ้องคดี ต้องพูดคุยกับโจทก์ว่าเป็นคดีที่จะไม่ทำอย่างเงียบๆ เพื่อให้ทราบความเสี่ยงที่จะตามมา ไม่อยากให้ถอนหรือยอมความระหว่างทาง เพราะจะกระทบโจทก์คนอื่นๆ หรือโจทก์ในคดีเดียวกัน

 

ส่วนกรณีที่ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะเป็นคดียุทธศาสตร์ ก็จะอาศัยกลไกตามกฎหมายที่จะดำเนินการ เช่น พาไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจ หรือยื่นเรื่องไป ป.ป.ช. กรณีได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ   

 

 

สู้อย่างไม่ปฏิเสธว่าฝ่าฝืนกฎหมาย แต่ทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ 

 

วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าคดีราษฎรฟ้องรัฐ ไม่ใช่การโต้กลับ แต่เป็นภารกิจที่ต้องทำถ้ามีการละเมิดกฎหมายต้องตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ การฟ้องคดีเป็นช่องทางหนึ่งในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งอยากให้มองเป็นเรื่องปกติ แม้ขณะนี้จะเป็นกระแสรอง ส่วนตัวมองว่าภารกิจยื่นฟ้องคดีเพื่อตรวจสอบอำนาจรัฐเป็นงานของทนายความทุกคน เชื่อว่าในอนาคตจะไม่ใช่เพียงภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แต่จะมีองค์กรด้านกฎหมาย สำนักงานกฎหมายทั่วประเทศที่จะเข้ามาช่วยกัน

 

คดีเสรีภาพในการแสดงออก คดีชุมนุม เคยมีคดีคัดค้านการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังรัฐประหารปี 2549 คดีนั้นลูกความเป็นจำเลย 10 คน ค่อนข้างเจอแรงปะทะหนัก ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าผู้พิพากษามีแนวคิดอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังแตกต่างกัน ทางผู้พิพากษาพยายามจะรักษากฎหมายในตัวบทกฎหมายที่เขียนไว้ว่าเป็นเรื่องมั่วสุมชุมนุมและยุยงส่งเสริมให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อกฎหมาย มาตรา 113 มาตรา 116 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 7 ปี 

 

สิ่งที่จะทำให้ศาลรับฟังเรามากขึ้น ต้องมีความกล้าของลูกความก่อน คือกล้าที่จะพูดยืนยันในสิ่งที่ทำลงไปว่ายึดถืออุดมการณ์อะไร คุณธรรมอะไรที่เราทำลงไป ตอนนั้นคนที่ถูกดำเนินคดีบางท่านก็สูงอายุแล้ว อย่างอาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ ก็ปีนบันไดเข้าไปในรัฐสภา เพราะเตรียมไว้แล้วว่าถ้าเขาไม่หยุดพิจารณากฎหมายนี้ก็จะปีนเข้าไปเนื่องจากเจ้าหน้าที่ปิดประตู 

 

คืออาศัยความกล้าหาญอย่างอาจารย์จอนที่ดื้อแพ่งยอมรับว่าสิ่งที่ทำบางอย่างเป็นการฝืนกฎหมาย การเข้าไปในสถานที่ราชการแบบนี้คือมันผิดที่บุกรุกเข้าไป แต่สิ่งที่ทำคือทำเพื่อหยุดกฎหมายที่จะออกมาละเมิดสิทธิประชาชน ถ้าเราต้องการจะสร้างกระบวนการยุติธรรมที่ดี 

 

สุดท้ายคำพิพากษาบอกว่าผิดจริง เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย แต่สิ่งที่ทำต้องมองที่เจตนา วิธีการทำคดีแบบนี้สู้โดยไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ แต่ยอมรับอย่างกล้าหาญว่าไปชุมนุมจริง ปีนเข้าไปจริง แต่สิ่งที่ทำ ถ้าไม่ทำแล้วประเทศชาติสังคมจะเสียหายหนักมาก ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ                               

 

คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า รัฐบาลมีการละเมิดรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน ซึ่งรัฐมีหน้าที่อำนวยให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพนั้น แต่ปรากฏว่ารัฐได้ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ และลงโทษประชาชนที่รัฐเห็นว่ากระทำการละเมิดกฎหมาย เพื่อความมั่นคงของรัฐบาล ภาคีนักกฎหมายจึงมีการฟ้องเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดเสรีภาพประชาชน 

 

เราเห็นตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) อ้างว่าได้ใช้กฎหมายและนำหลักการกฎหมายระหว่างประเทศมาใช้ในการสลายชุมนุม จากเบาไปหาหนัก แต่ในความเป็นจริง นักสิทธิมนุษยชนทั่วโลกต่างก็เห็นว่าสิ่งที่ตำรวจใช้สลายการชุมนุม เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างร้ายแรง ไม่มีการใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก มีแต่หนักและหนักๆๆ พวกเขาตะแบงว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องชอบธรรม 

 

ขณะที่ถ้ามีความไม่สงบ ณ จุดใด เขามีหน้าที่ไประงับเหตุ ณ จุดนั้น มิใช่อ้างเหตุจุดหนึ่งจุดใดมาสลายการชุมนุมทั้งหมด 

 

จึงไม่สามารถยอมรับคำกล่าวอ้างของตำรวจว่าเป็นการใช้มาตรการตามกฎหมายจากเบาไปหาหนัก อยากเรียกร้องให้เขาตระหนักว่าหลักการที่เขาอ้างนั้นไม่เป็นความจริง เขาเป็นอีก 1 จำเลยที่พวกเราจะฟ้องเขา         

 

สำหรับกรมราชทัณฑ์ ในช่วงโควิดมีการอ้างโควิดเพื่อปิดกั้นการเยี่ยมของญาติ เป็นภารกิจหนักอึ้งของทนายความในการไปเยี่ยมผู้ต้องหาเพื่อยืนยันกับญาติว่าบุตรหลานของเขาปลอดภัยดี สิ่งที่เจอคือกรมราชทัณฑ์ตั้งกฎกติกาเป็นภาระให้ทนายความมากมาย โดยเฉพาะการพบทนายความเพื่อปรึกษาเป็นการส่วนตัวในเรือนจำ เรื่องนี้อาจจะต้องเรียกร้องราชทัณฑ์ให้ปรับปรุงเรื่องการรับรองสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยที่อยู่ในเรือนจำ ว่าพวกเขามีสิทธิที่จะได้พบทนายเพื่อปรึกษาคดีอย่างมีความเป็นส่วนตัว และมีสิทธิที่จะได้พบญาติโดยไม่มีการนำเรื่องโควิดมาอ้าง เป็นเรื่องวิธีการจัดการที่จัดการได้ แต่สิ่งที่เขาทำอยู่ขณะนี้คือการห้าม ไม่ใช่การจัดการ

 

ส่วนเรื่องศาล เห็นว่ามีหลักการทางกฎหมายที่สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่ปรากฏว่ามีผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจำนวนมากอยู่ในเรือนจำ

 

สำหรับสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนพยายามส่งเสียงอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ก็ไม่มีสัญญาณตอบรับ แม้จะเป็นวิชาชีพเดียวกัน เป็นความเงียบกริบท่ามกลางวิกฤตศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม ในฐานะสมาชิกสภาทนายความ อยากเรียกร้องให้นายกสภาทนายความออกมาช่วยประชาชนในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนด้วย 

 

ฟ้องรัฐหวังเจ้าหน้าที่ทำผิดต้องถูกลงโทษ 

 

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ซึ่งได้เดินทางมาร่วมรับฟังได้แสดงความคิดเห็น และเล่าถึงกรณีถูกปลดจากศิลปินแห่งชาติว่า 

 

“กรณีผมเขาใช้วิธีแก้กฎกระทรวงเพื่อหาเรื่องปลดผม ยกเลิกการยกย่องเชิดชู ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีกรณีกวีที่เป็นศิลปินแห่งชาติเขียนบทกวีหยาบคายถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมีคนเคลื่อนไหวว่าจะให้ปลด แต่จำได้ว่ากรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม บอกว่าไม่มีอำนาจ เมื่อมอบเกียรติให้แล้ว ก็ต้องถือว่าพ้นไปแล้ว ไม่มีอำนาจยกเลิกการยกย่องเชิดชู กรณีนั้นมีการล่ารายชื่อแต่ในที่สุดก็ไม่สำเร็จ เพราะข้าราชการประจำบอกว่าไม่มีอำนาจ

 

“กรณีผมเขาใช้วิธี ใช้กฎหมาย โดยให้บรรดาคณะกรรมการวัฒนธรรมซึ่งส่วนหนึ่งเรียกว่าผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นที่รู้กันว่าได้รับการแต่งตั้งโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้งเข้าไปแล้วไปเคลื่อนไหวเพื่อแก้กฎกระทรวง สิ่งที่ผมไม่แน่ใจคือ การเคลื่อนไหวตรงนี้มาจากไหน   

 

“มีคนมาบอกผมว่า เขาแก้กฎกระทรวงเพื่อผมคนเดียว แล้วสิ่งนี้ปรากฏเป็นจริงเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการประชุมกันในวาระลับมาก และหลังจากประชุมเสร็จวันรุ่งขึ้นก็ให้ข่าวโดยให้สื่ออีกฝั่งหนึ่งประจานผมให้เสียหาย ให้ได้รับความอับอาย โดยที่ผมไม่เคยได้รับการแจ้งว่ามีความผิดอะไร 

 

“เขามาแจ้งหลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ต่อมา มีหนังสือมาว่าผมเล่น Facebook ทำให้เกิดปัญหาประเด็นขัดแย้งในสังคม เล่น Facebook มีภาพและข้อความที่หมิ่นเหม่สถาบัน แต่ไม่มีรายละเอียด และในท้ายหนังสือบอกว่าให้ไปชี้แจงภายใน 30 วัน ซึ่งบางคนบอกว่า หมายความว่าถ้าไปชี้แจงก็เหมือนเขาขุดบ่อล่อปลาอะไรทำนองนี้ โดยที่เราไม่รู้รายละเอียด เราก็ไม่ไป 

 

“ก่อนหน้านั้น ผมก็ชัดเจนแล้วครับ ผมไม่สนใจแล้ว ผมไม่เอาแล้ว – ยิ่งได้รับการเชิดชูใหม่ว่าเป็นศิลปินแห่งราษฎร ก็คิดว่าคงจะพอแล้ว ทั้งๆ ที่ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ระดมความคิดเรื่องศิลปินแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2527-2528 แต่พอถูกประจานได้รับความเสียหายมากแล้วก็มาคิดใหม่ เพราะมีเพื่อนบางคนรวมถึงคนในภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนมาบอกว่า กรณีของผมมันพ้นเรื่องส่วนตัวไปแล้ว เป็นกรณีที่จะต้องทำให้เป็นบรรทัดฐานว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วกรณีของผมถ้าหากว่าเป็นประเด็นสาธารณะแล้วน่าจะเป็นประโยชน์ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมให้ศิลปินแห่งชาติคนอื่นๆ ที่ได้รับเกียรติแล้วอาจจะมีการกลั่นแกล้งในอนาคต 

 

“ผมจึงมอบอำนาจให้ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนดูแลตรงนี้ และได้ฟ้องศาลปกครองไปเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564          

 

“การมีภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนมาช่วยดูแล การมีทนายความ มีคำว่าฟ้องกลับ, ราษฎรฟ้องรัฐ ฯลฯ ผมรู้สึกว่าเป็นแสงสว่างเล็กๆ ขอให้กำลังใจแสงสว่างนี้ให้มีความสว่างมากขึ้น เราผ่านช่วงที่มืดสนิทมาแล้ว อย่างที่คนหนุ่มสาวรุ่นนี้บอกว่าใกล้จะรุ่งสางแล้ว ผมหวังว่าในอนาคตความหวังของผมซึ่งอยู่ที่ความฝันของคนหนุ่มสาว เพราะบั้นปลายแล้ว ความหวังของผมคือผมอยากเห็นคนอย่างประยุทธ์ติดคุกหรือคนที่อยู่ในองค์กร องคาพยพของประยุทธ์ ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาจะจบสักวันหนึ่ง โดยผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ถ้าเรายังเชื่อมั่นสิ่งที่เรียกว่ากระบวนการยุติธรรม ซึ่งผมเชื่อว่ายังมีอยู่ มันอาจจะไม่ได้จบในช่วงชีวิตผม    

 

“เมื่อเขาใช้กฎหมายเราก็ใช้กฎหมาย ในอนาคตผมอยากเห็น แม้ว่าคนพวกนี้อาจจะตายไปแล้ว ผมอาจจะตายไปแล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของผม

 

“ผมหวังว่าวันหนึ่ง เมื่อลมมันเปลี่ยนทิศ เมื่อการเมืองดีขึ้น กระบวนการยุติธรรมมีความชัดเจนตรงนี้ ก็อยากจะให้เอาคนผิดมาสู่กระบวนการยุติธรรม เอาแค่ว่าให้ศาลได้พิจารณา แล้วก็กระบวนการตรงนี้ผมคิดว่ามันได้เริ่มต้นแล้ว 1 ปีของราษฎรฟ้องกลับ ราษฎรฟ้องรัฐ เป็นช่วงที่มีความหมาย ผมมาวันนี้ก็อยากเห็นหน้าเห็นตาว่าพวกคุณเป็นใครที่ได้เข้ามาช่วยผม ก็ขอให้มีพลัง ขอให้มีความหมายกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ ไม่ว่าผมจะหายไปจากโลกนี้เมื่อไร ฝากตรงนี้ไว้ด้วย เอาพวกมันมาลงโทษให้ได้ในกรณีใดก็ตามนะครับ เป็นตัวอย่าง” สุชาติ สวัสดิ์ศรีกล่าว 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X