×

ภาคประชาชนขยับรับเลือกตั้งปี 66 ออกแถลงการณ์ชวนจับตาคูหาเลือกตั้ง เรียกร้อง กกต. ทำหน้าที่โปร่งใส

โดย THE STANDARD TEAM
11.01.2023
  • LOADING...

วันนี้ (11 มกราคม) เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566 กว่า 101 องค์กร จัดงานเสวนา ‘เข้าคูหาจับตาเลือกตั้ง 2566’ ประกอบด้วยการเสวนาและกิจกรรมจำลองการเลือกตั้ง จำลองการนับคะแนนการเลือกตั้งที่อิงจากกรณีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในปี 2562 เพื่อเตรียมความพร้อมในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่ และเตรียมความพร้อมในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งให้กับประชาชน

 

จากนั้นแกนนำเครือข่ายอ่านแถลงการณ์ของเครือข่ายฯ ถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น พร้อมนำเสนอข้อเรียกร้องต่อประชาชนและฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างๆ ดังนี้

 

“การเลือกตั้งเป็นกิจกรรมทางการเมืองของประชาชนทุกคน นักการเมืองหรือชนชั้นนําไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการครอบงำหรือบงการการเลือกตั้งให้บิดเบี้ยวไปจากหลักสากลว่าด้วยการเลือกตั้งที่เป็นธรรม อิสระ และโปร่งใส น่าเสียดายที่การเมืองไทยถูกแทรกแซงอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่การเมืองไทยกลับยิ่งถอยห่างออกจากประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี ยังไม่สายเกินไปหากประชาชนจะร่วมกันทวงคืนการเลือกตั้งให้กลับเข้าสู่ร่องสู่รอยโดยเร็ว”

 

การเกิดขึ้นของรัฐประหารปี 2557 นับเป็นจุดด่างพร้อยครั้งใหญ่ของการเลือกตั้งและประชาธิปไตยไทย การรัฐประหารครั้งนั้นพรากสิทธิการเลือกตั้งของประชาชนเป็นเวลากว่า 5 ปี ในบริบทที่ประชาชนตื่นตัวและเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นเข้ากับการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไปแล้ว อีกทั้งการเลือกตั้งที่ถูกจัดขึ้นในปี 2562 เป็นการเลือกตั้งที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลทหาร และเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ส่งผลให้ผลการเลือกตั้งเป็นที่คลางแคลงใจของประชาชนต่อความสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนในการลงคะแนน เช่น รัฐธรรมนูญปี 2560 กําหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นอกจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ก็มีที่มาจากคณะรัฐประหาร และถูกวิจารณ์อย่างหนักหลังการเลือกตั้งถึงมาตรฐานการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะเรื่องความผิดปกติของการแบ่งเขตเลือกตั้ง ความโปร่งใสของผลการเลือกตั้ง ความถูกต้องของการคํานวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง รวมถึงความเป็นกลางในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนและคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง

 

จากการประเมินของเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566 คาดว่าในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ ปัญหาเรื่องความเป็นธรรม ความเป็นอิสระ และความโปร่งใสจะยังคงเกิดขึ้นอีก การให้อำนาจ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ได้ จะยังคงสร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันของพรรคการเมืองอีกเช่นเคย อีกทั้งการมี กกต. ชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่ อาจมีความผิดปกติเช่นเดิมหรือความผิดปกติใหม่เกิดขึ้นอีก

 

ถึงเวลาแล้วที่การสังเกตการณ์การเลือกตั้งโดยประชาชนต้องขยายตัวอย่างกว้างขวาง เพื่อรับรองว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามหลักสากล และเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่เป็นอิสระของประชาชน ‘เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566’ เกิดขึ้นเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการเชิญชวนประชาชนทั่วประเทศเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไป ที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นการประสานความร่วมมือกันของเครือข่ายภาคประชาชนหลากหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่มีหน้าที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งอย่างเป็นกลางโดยเฉพาะ และกลุ่มที่มีความตื่นตัวทางการเมืองต่างๆ (ดังรายชื่อท้ายแถลงการณ์นี้) โดยมีวิสัยทัศน์แห่งความสำเร็จคือ 1. ป้องกันการโกงการเลือกตั้ง และทำให้การเลือกตั้งเป็นไปตามหลักสากล 2. เพิ่มความไว้วางใจในกระบวนการการเลือกตั้ง ในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำคัญของการเลือกผู้แทนของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย พร้อมทั้งปฏิเสธเครื่องมืออื่นที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน และ 3. ส่งเสริมการพัฒนาการเลือกตั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและความรุนแรงหลังการเลือกตั้ง ที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่พอใจในการเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล

 

ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566 มีข้อเรียกร้องต่อประชาชนและฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

 

  1. ขอให้ กกต. ทำหน้าที่อย่างโปร่งใส เป็นธรรม เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งต่อสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งเขตเลือกตั้ง, การเปิดเผยผลคะแนนรายหน่วยผ่านระบบออนไลน์, สนับสนุน ให้ความสำคัญ และร่วมมือกับประชาชนทุกฝ่ายที่ต้องการเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง และร่วมมือกับประชาชนทุกฝ่ายที่ต้องการมีส่วนร่วมในการรณรงค์เลือกตั้ง ประชาธิปไตย และเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง

 

  1. ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐสร้างบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยในช่วงก่อนวันเลือกตั้งนับต่อจากนี้ไป เช่น คุ้มครองให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่โดยไม่ถูกคุกคาม, ให้พรรคการเมืองใช้พื้นที่และสิ่งอํานวยความสะดวกในความดูแลของรัฐเพื่อรณรงค์การเลือกตั้ง, คุ้มครองให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่โดยไม่ถูกคุกคาม, ให้พรรคการเมืองใช้พื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกที่อยู่ในความดูแลของรัฐอย่างเท่าเทียมในการหาเสียงเลือกตั้ง และควบคุมมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำการใดๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

 

  1. ขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนในทุกเขตเลือกตั้งเข้าร่วมการสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั่วไปที่กําลังจะมาถึง โดยลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครฯ หรือส่งข้อมูลความผิดปกติหรือสถานการณ์การเลือกตั้งในเขตของตนเอง ทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังวันเลือกตั้ง แก่เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ Vote62.com

 

“การเลือกตั้งต้องเป็นของประชาชน ต้องไม่เป็นเพียงพิธีกรรมทางการเมืองที่ไร้ความหมายต่อประชาชนอีกต่อไป” ความตอนหนึ่งในแถลงการณ์ของเครือข่ายฯ ระบุ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X