×

วิษณุ เครืองาม จาก ‘เนติบริกร’ ถึง ‘เครื่องจักรซักล้าง’ ยุค 3 ป.

โดย THE STANDARD TEAM
20.06.2023
  • LOADING...
วิษณุ เครืองาม

ยุคทักษิณ: จากเลขาธิการ ครม. ถึงรองนายกฯ 

 

‘ดร.วิษณุ เครืองาม’ เป็นศาสตราจารย์ในปี 2526 หรือเมื่ออายุเพียง 32 ปี โดยเป็นอาจารย์ประจำที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนโอนไปเป็นรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชาติชาย และก้าวขึ้นเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเต็มตัวในรัฐบาลชวน หลีกภัย 

 

ในวันที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศ วิษณุดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผ่านการทำงานร่วมกับ 9 รัฐบาล 6 นายกรัฐมนตรี

 

ในเดือนกันยายนปี 2545 วิษณุในฐานะเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ติดตามนายกฯ ทักษิณไปเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงานข้อราชการที่วังไกลกังวล หัวหิน 

 

วิษณุเขียนเล่าถึงเหตุการณ์วันนั้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้ตัวเขาได้ก้าวสู่แวดวงการเมืองเต็มตัว

 

“เรื่องใหญ่ของรัฐบาลเวลานั้นคือการจะปฏิรูประบบราชการ ตอนหนึ่งรับสั่งถามอย่างเป็นห่วงว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ของทำเล่นใครจะดูแล นายกฯ กราบบังคมทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้า

 

“รับสั่งถามว่า แล้วที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน การพัฒนาแหล่งน้ำ ที่ดิน ที่ทำกินซึ่งยืดเยื้อมานานซึ่งทรงเป็นห่วงมาก เป็นภารกิจหลักของรัฐบาลใครจะดูแล นายกฯ ก็กราบบังคมทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้า

 

“รับสั่งถามถึงกี่เรื่อง นายกฯ ก็กราบบังคมทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้า ลงท้ายรับสั่งว่า เรื่องศาสนาก็เป็นเรื่องใหญ่ละเอียดอ่อน เวลานี้มีปัญหา ใครจะดูแล นายกฯ ก็กราบบังคมทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้า

 

“กลับออกมาจากเข้าเฝ้าฯ คืนนั้น ยังไม่ทันพ้นประตูวังไกลกังวล นายกฯ ก็จ้องหน้าผม ทำหน้านิ่วคิ้วขมวดว่า ผมมาคิดดูแล้ว นี่เป็นเรื่องบ้านเมืองนะ ไม่ใช่เรื่องการเมือง! ที่กราบบังคมทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าน่ะ ผมว่าผมทำไม่ไหวหรอก ต้องหาคนมาช่วย คุณต้องมาช่วยเสียแล้ว”

 

ต่อมา ในวันที่ 30 กันยายน 2545 ทักษิณเรียกวิษณุเข้าไปจัดทำบัญชีรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า 

 

ทักษิณเปรยอย่างเป็นทางการครั้งแรกกับวิษณุว่า “เลขาฯ อย่าอยู่เลย ที่ สลค. (สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี) อยู่มานานแล้ว ไม่เบื่อบ้างหรือไง ทำงานซ้ำๆ ซากๆ อยู่ได้ ออกมาหาอะไรใหม่ๆ ทำเถิด…ผมมีงานให้ช่วยเป็นหูเป็นตา 2-3 เรื่อง คือติดตามดูแลการปฏิรูประบบราชการ ต่อไปเรายังจะต้องทำเรื่องปฏิรูปกฎหมายอีกให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และจะฝากดูเรื่องศาสนาด้วย เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นห่วง” 

 

พร้อมปิดท้ายด้วยการส่งคำชวนวิษณุนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 

 

ในระหว่างนั้น วิษณุยังได้มีโอกาสพบปะกับ ‘คุณหญิงพจมาน ชินวัตร’ หนึ่งในศูนย์กลางของวงอำนาจในเวลานั้น 

 

“ที่จริงคุยกับคุณหญิงแล้วรู้สึกได้ว่าท่านจะเห็นอกเห็นใจ ถ้อยทีถ้อยเจรจาช่างหว่านล้อมมากกว่าท่านนายกฯ เสียอีก เช่น บอกว่าคุณวิษณุมาเป็นรัฐมนตรีอย่างเดียว ไม่ต้องเป็นสมาชิกพรรค เวลาเขาเลือกตั้งก็ไม่ต้องลงเลือกตั้งกับเขา เราอยู่เป็นกลางอย่างนี้แหละ คอยดึงๆ นายกฯ ไม่ให้เป็นอินทรชิต ถ้าอยู่ไปไม่สบายใจอะไรให้มาบอกอ้อ” 

 

ถึงที่สุด วิษณุลงนามในใบลาออกจากราชการในวันที่ 2 ตุลาคม 2545 และในวันที่ 3 ตุลาคม 2545 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง วิษณุ เครืองาม เป็นรองนายกรัฐมนตรี 

 

 

‘เนติบริกร’ ยุคทักษิณ

 

ปลายปี 2545 หรือให้หลังเพียง 3 เดือน หลังจากเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี วิษณุได้รับฉายาจากผู้สื่อข่าวสายทำเนียบรัฐบาลว่า ‘เนติบริกร’ 

 

คำอธิบายฉายาในเวลานั้นคือ “นายวิษณุ ได้รับฉายา เนติบริกร เนื่องจากเป็นมือกฎหมายของรัฐบาลทุกสมัย ในตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีส่วนในการอธิบายชี้ช่องเกี่ยวกับกระบวนการบังคับใช้กฎหมายและการออกกฎหมาย มีความสามารถเป็นเลิศในการพลิกแพลงการใช้กฎหมายที่รัฐบาลมีความชอบธรรมและได้เปรียบฝ่ายที่เห็นต่างเสมอ นับว่าเป็นข้าราชการมืออาชีพที่สามารถตอบสนองความต้องการของฝ่ายการเมืองได้ครบสมบูรณ์ จึงถูกเลือกมาให้บริการด้านกฎหมายในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี” 

 

เมื่อการเมืองพลิกผัน วิษณุยื่นใบลาออกต่อทักษิณ โดยขอให้มีผลในวันที่ 24 มิถุนายน 2549 อายุงานของเนติบริกรในยุคทักษิณ นับเวลาได้ 3 ปี 9 เดือน 

 

 

หลังรัฐประหาร 2557: ที่ปรึกษา คสช. 

 

ราว 14 วัน หลังการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 วิษณุได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามคำสั่ง (เฉพาะ) ที่ 22/2557

 

คณะที่ปรึกษา คสช. มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการทหารบก, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, ประธานกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด และพี่ใหญ่ 3 ป. นั่งเป็นประธาน และมี พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก และพี่รอง 3 ป. นั่งเป็นรองประธาน 

 

คณะที่ปรึกษา คสช. ใช้อาคารที่ทำการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัดเป็นสถานที่ประชุม ที่บ้านป่ารอยต่อแห่งนี้เองที่ได้กลายเป็นศูนย์กลางของวงอำนาจประเทศไทยต่อไปอีกตลอด 9 ปีข้างหน้า วิษณุเล่าว่า คณะที่ปรึกษาชุดนี้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเชิงนโยบายแก่หัวหน้า คสช. โดยตรง ไม่ต้องผ่านใครและไม่ใช่ฝ่ายปฏิบัติ

 

ระยะต่อมา วิษณุนั่งเป็นที่ปรึกษาให้แก่ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของ คสช. ซึ่งมี พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นหัวหน้า โดยเข้าประชุมทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดีที่บ้านเชิงสะพานเกษะโกมล ภารกิจในเวลานั้นคือออกประกาศหรือคำสั่งที่มีผลเป็นกฎหมายนับร้อยฉบับ ซึ่งคั่งค้างตั้งแต่รัฐบาลสมัครจนถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์

 

หนึ่งในภารกิจที่สำคัญยิ่ง คือวิษณุได้รับมอบหมายจาก คสช. ให้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ร่วมกับมีชัย, บวรศักดิ์, พรเพชร และสมคิด วิษณุเล่าว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวใช้เวลา 10 วันก็แล้วเสร็จ โดยมี พล.อ. ประวิตร ประธานคณะที่ปรึกษา คสช. เป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้ร่างและ คสช. อยู่ตลอดเวลา ถึงที่สุด ได้มีพระราชทานพระบรมราชานุญาต ลงพระปรมาภิไธย และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557

 

 

ตอบรับประยุทธ์ ลงเรือแป๊ะ

 

วิษณุเล่าถึงนาทีที่ได้รับเทียบเชิญจากหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีให้ร่วมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

 

“วันหนึ่งเวลาเช้าปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557 ผมกำลังทำหน้าที่ประธานอนุญาโตตุลาการ…ระหว่างกำลังฟังพยานเบิกความอยู่ก็มีโทรศัพท์ต่อเข้ามา ต้นทางคือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกฯ หมาดๆ ท่านเริ่มถามโดยไม่อารัมภบทให้เสียเวลาตามสไตล์ของท่านว่า ตกลงพี่จะมาช่วยผมไหม” 

 

[อ่านต่อ อดีตของปัจจุบัน ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ กับ 13 ปี ในวงอำนาจประเทศไทย]

 

วิษณุอ้างถึงภารกิจที่ค้างคาอยู่หลายเรื่อง พล.อ. ประยุทธ์จึงย้ำว่า “ภารกิจอย่างอื่นคงไม่สำคัญเท่าเรื่องบ้านเรื่องเมืองมั้ง พี่ลงเรือลำเดียวกันแล้วก็คงต้องไปกันต่อกับผมอย่างนี้แหละ เข้าใจตรงกันนะ!

 

“ที่จริงก่อนจะตอบรับกับท่านนายกฯ ผมปรึกษาผู้ที่เคารพนับถือหลายคน ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำว่าบ้านเมืองกำลังอาการหนัก การยึดอำนาจจะถูกหรือผิด แต่ก็ล่วงเลยมาถึงป่านนี้แล้ว และดูผู้คนจะตั้งความหวังไว้มากว่าอยากเห็นการแก้ปัญหาเก่าๆ เดิมๆ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงแปลกๆ ใหม่ๆ และอยากได้ความสงบเรียบร้อยกลับคืนมา ถ้าใครช่วยได้ก็ควรช่วย

 

“พล.อ. ประยุทธ์ เป็นคนดี เป็นคนจงรักภักดี และเป็นคนมีความตั้งใจดี รวมแล้วคือ 3 ดี เป็นความหวังของบ้านเมือง ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ คนอื่นที่เหมาะกว่าอาจมีแต่ยังมองไม่เห็น”

 

ถึงที่สุดได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง วิษณุ เครืองาม เป็นรองนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 30 สิงหาคม 2557 โดยได้รับมอบหมายให้กำกับราชการกระทรวงยุติธรรม, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.), สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.), สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และประสานกับองค์กรอิสระ สื่อมวลชนเรียกวิษณุติดปากว่า ‘รองนายกฯ​ ฝ่ายกฎหมาย’ 

 

หลังรัฐบาล คสช. ลงจากอำนาจในปี 2562 วิษณุออกหนังสือ ‘ลงเรือแป๊ะ’ เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์สำคัญของบ้านเมือง 

 

‘ลงเรือแป๊ะ’ มาจากสำนวน ‘ลงเรือแป๊ะ ตามใจแป๊ะ’

 

“เมื่อร่วมหอลงโรงกันแล้ว เข้ากลุ่มเข้าพวกกับเขาแล้วต้องมีระเบียบวินัย ว่าไงต้องว่าตามกัน โดยเฉพาะคือต้องเกรงใจหัวหน้าหรือผู้นำ สำนวนนี้จึงคล้ายๆ คำว่า ลงเรือลำเดียวกัน เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม ตกกระไดพลอยโจน หรือเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยอะไรทำนองนั้น”  

 

 

3 ฉายา ยุค 3 ป. 

 

นับจากปี 2557 ถึงปัจจุบัน เท่ากับว่า วิษณุลงเรือแป๊ะมาแล้ว 9 ปี นอกเหนือจากฉายา ‘เนติบริกร’ ในยุคทักษิณแล้ว เขาได้รับฉายาจากสื่อมวลชนสายทำเนียบรัฐบาลเพิ่มเติมอีก 3 ฉายา 

 

ในปี 2562 ได้ฉายา ‘ศรีธนญชัยรอดช่อง’

 

“ความเป็นกูรูด้านกฎหมายของรัฐบาล สามารถช่วยรัฐบาลรอดพ้นปากเหวได้ทุกครั้ง เปิดทางตันด้วยช่องว่างทางกฎหมายที่แม้แต่แว่นขยายก็ยังมองไม่เห็น”

 

ในปี 2563 ได้ฉายา ‘ไฮเตอร์ เซอร์วิส’ 

 

“เป็นการยกคุณสมบัติเด่นของวิษณุที่สามารถหาทางออกให้กับปัญหาหนักอกของคนในรัฐบาล โดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายได้อย่างเชี่ยวชาญ และมักถูกวิจารณ์เรื่องความน่าเชื่อถือของรัฐบาล เปรียบได้กับผลิตภัณฑ์ซักฟอกขาวยี่ห้อดัง ที่สามารถล้างคราบสกปรกให้ขาวสะอาดหมดจดได้ แต่อาจทำให้เนื้อผ้าเสียหาย ขาดความสวยงาม คล้ายกับชื่อเสียงของรัฐบาลที่สึกกร่อนตามไปด้วย”

 

ในปี 2565 ได้ฉายา ‘เครื่องจักรซักล้าง’

 

“ความเอกอุด้านกฎหมายระดับปรมาจารย์ในตำนาน ถูกใช้สนองตอบความต้องการของรัฐบาลทุกช่องทาง ทั้งพรรคหลักพรรคร่วม ไม่มีเลือกปฏิบัติ ช่วยยกภูเขาออกจากอก ลดปัญหาหนักใจ ทำหน้าที่เหมือนเครื่องจักรกล คอยซักล้างความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลให้ผ่านพ้น เรื่องไหนผ่านมือเนติบริกรคนนี้ อย่าหวังว่าจะมีใครโต้แย้งได้ เช่น ปม 8 ปีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่เรื่องเหมืองทองอัครา” 

 

 

ชีวิตเนติบริกรในชีวิตของประเทศ 

 

พ้นไปจากบทบาทเนติบริกร วิษณุยังมีผลงานการเขียนนวนิยายอีกสองชิ้นคือ ‘ข้ามสมุทร’ (2558) และ ‘ชีวิตของประเทศ’ (2559) 

 

ชีวิตของประเทศ มีฉากหลังเป็นประวัติศาสตร์ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงเทพมหานคร จนถึงการสถาปนาพระนครในปี 2325 เรื่องราวดำเนินไปจนกระทั่งต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 

 

ในรัชกาลนี้เองที่วิษณุเล่าว่า “เป็นการคืบคลานเข้ามาของคลื่นความคิดใหม่ และธรรมเนียมการปกครองใหม่กว่าเดิมอีกระลอกหนึ่งจนผู้มีชีวิตก่อนหน้านั้นซึ่งเคยเป็นคนยุคใหม่กลายเป็นคนตกยุค เพราะมีคนยุคใหม่กว่าเข้ามาทดแทนเสียแล้ว” 

 

ในบทสุดท้ายของเล่ม ‘สยามยุคใหม่’ อาจเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนความคิดทางการเมืองของวิษณุได้ชัดเจน 

 

“ประเทศนี้ใครอย่าไปนึกว่าเป็นดินเป็นทรายนะ ประเทศก็มีชีวิตจิตใจ มีบททุกข์ บทโศก บทสุข มีสงคราม มีสันติภาพ มีการเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ในระหว่างมีชีวิตก็ตบแต่งดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัยและนิสัยใจคอผู้คนไปเรื่อยๆ

 

“คนเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้า เป็นขุนนาง เป็นพ่อค้า เป็นกุลีจับกัง ชาวไร่ชาวนาล้วนมีตัวตนอยู่จริงทั้งนั้น ไม่ใช่คนในนิยาย คนพวกนี้มีส่วนสร้างชาติสร้างประเทศมาด้วยกันทั้งสิ้น มากบ้าง น้อยมาก แต่ก็ถือว่ามีบุญคุณต่อบ้านเมือง ทำให้ประเทศของเรามีชีวิตชีวาขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวมาได้จนบัดนี้… 

 

ทั้งหมดนี้เป็นชีวิตของประเทศทั้งนั้น สมัยก่อนมักเปรียบคนเหล่านั้นว่าเป็นกายหรือสังขารบ้านเมือง อย่างที่รัชกาลที่ 1 ท่านแต่งไว้ในเรื่องรามเกียรติ์อย่างไรล่ะ” 

 

“อันพระนครทั้งหลาย           

ก็เหมือนกับกายสังขาร

กษัตริย์คือจิตวิญญาณ          

เป็นประธานแก่ร่างอินทรีย์

 

มือเบื้องซ้ายขวาคือสามนต์     

บาทาคือพลทั้งสี่

อาการพร้อมสามสิบสองมี      

ดั่งนี้จึงเรียกว่ารูปกาย

 

ฝ่ายฝูงอาณาประชาราษฎร์     

คือศาสตราวุธทั้งหลาย

ถึงผู้นั้นประเสริฐเลิศชาย        

แม้นจิตจากกายก็บรรลัย”

 

วิษณุถอดความพระราชนิพนธ์บทนี้ไว้ในปาฐกถาของตัวเองหลายครั้งว่า

 

“ประเทศ แผ่นดิน เหมือนกับร่างกาย” 

“ผู้ปกครอง คือจิตวิญญาณที่อยู่ข้างใน เป็นประธานใหญ่สุด”

“นักวิชาการ นักปราชญ์ เปรียบเหมือนมือซ้ายมือขวา”

“รองเท้าหรือพื้นฐานนั้นก็คือข้าราชการทั้ง 4 เหล่า เวียง วัง คลัง นา” 

“มีอาการครบสามสิบสองคือร่างกายที่สมบูรณ์”

“ประชาชนทั้งหลายเปรียบเสมือนอาวุธ”

 

ชีวิตของ ‘วิษณุ เครืองาม’ ในชีวิตของประเทศ ผ่านการทำงานร่วมกับ 12 รัฐบาล 8 นายกรัฐมนตรี ทว่าในท่ามกลางความผันแปรทั้งหมดนี้ หากพิจารณาจากข้อเขียน หนังสือ นวนิยาย บทบรรยาย ปาฐกถา บทสัมภาษณ์ของวิษณุ กล่าวได้ว่าสิ่งอันเป็นที่เทิดทูนไว้สูงสุดและสม่ำเสมอ คือความมุ่งมั่นของวิษณุในการรักษาจิตวิญญาณและประธานของประเทศ

FYI

ข้อเขียนชิ้นนี้ เรียบเรียงจากหนังสือและบทปาฐกถา ของ ‘ดร.วิษณุ เครืองาม’ จำนวน 5 ชิ้น

 

  • โลกนี้คือละคร (2554) ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน 
  • ลงเรือแป๊ะ (2562) ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน
  • นวนิยายชีวิตของประเทศ เล่ม 1-2 (2559) ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน
  • บทปาฐกถาจากงานวันคุณธรรม จริยธรรม และความโปร่งใส เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2558 และพิธีมอบรางวัล อปท. ที่มีการบริหารจัดการที่ดี เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising