‘วันมูหะมัดนอร์’ มีความหมายว่า รัศมีแห่งศาสนา แสงสว่างของมูฮัมหมัด ศาสดาองค์สุดท้ายของประชาชาติอิสลาม ‘มะทา เป็นสกุลมุสลิมที่สืบจากบิดา ‘เจ๊ะอาแม มะทา’ และมารดา ‘แวสะปีเยาะ มะทา’
สกุลมะทา ถือหลักคำสอนตามศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด ตัววันนอร์ถือหลักสี่ข้อตลอดชีวิตทางการเมือง นั่นคือ หลักของความเป็นธรรม หลักของความถูกต้อง หลักของความยุติธรรม และไม่ผิดหลักศาสนา
ครอบครัวและชุมชนมุสลิม ตลอดถึงวัฒนธรรมอิสลาม หล่อหลอมให้วันนอร์เชื่อว่า “เราต้องทุ่มเท เราต้องตั้งใจ เราต้องมีความมุ่งมั่น และจะได้อย่างไรก็เป็นเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า”
วัยเด็ก: จากหมู่บ้านสะเตง จังหวัดยะลา ถึงครุศาสตร์ จุฬาฯ
ในวัยเด็ก วันนอร์ติดตามบิดาที่ลงสมัคร สส. เขตในจังหวัดยะลาไปหาเสียงตามหมู่บ้านต่างๆ แม้จะพ่ายแพ้ แต่ทำให้เขาได้พบเห็นปัญหาที่ชาวบ้านต้องการฝากไว้กับคนเป็น สส. นั่นเป็นจุดตั้งต้นให้เด็กหนุ่มจากหมู่บ้านสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา มุมานะขวนขวายหาโอกาสทางการศึกษาให้สูงขึ้น
วันนอร์เกิดในครอบครัวที่ฐานะไม่ดี ค่อนไปทางยากจน ในวัยเด็ก ทุกเช้าจะต้องเดินจากบ้าน 3-4 กิโลเมตรไปเรียนที่โรงเรียนประชาบาลประจำหมู่บ้าน ต่อมาเข้ารับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนประจำจังหวัดยะลา หรือโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง ศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ที่ตั้งในกรุงเทพฯ
ทันทีที่จบการศึกษา วันนอร์กลับไปประกอบอาชีพครูที่โรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์ จังหวัดนราธิวาส โดยสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และสังคมศึกษา วันนอร์ขึ้นเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนในวัยเพียง 20 ปี
เมื่อ พล.อ. ประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ได้เดินทางตรวจเยี่ยมโรงเรียน ก็เห็นสมควรและสนับสนุนให้ครูใหญ่วัย 20 ปี ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น โดยให้ทุนของกระทรวงมหาดไทยศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย
นั่นเป็นที่มาให้วันนอร์ได้เข้าศึกษาที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่น 08 ได้เลขประจำตัว 8063 พร้อมได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนร่วมรุ่นให้เป็นหัวหน้าชั้นปีที่ 1 เมื่อขึ้นชั้นปีที่ 2 ได้เป็นหัวหน้าชั้น เมื่อขึ้นชั้นปีที่ 3 ได้เป็นรองประธานนิสิตคณะครุศาสตร์ และเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 4 ได้เป็นประธานนิสิตคณะครุศาสตร์
ในรั้วจุฬาฯ วันนอร์ยังเป็นนักกิจกรรม ได้ร่วมออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทในหลายภูมิภาคทั่วประเทศ เขาชอบพูดคุยกับผู้ใหญ่ หนึ่งในผู้ใหญ่ที่มีอิทธิพลทางความคิดแก่เขาในวัยและเวลานั้นคือ ‘ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช’ ซึ่งต่อมาทั้งคู่จะได้ร่วมงานกันในพรรคกิจสังคม วันนอร์เข้ารับพระราชทานปริญญาครุศาสตรบัณฑิต สาขาสังคมศึกษา ในปี 2512
อาจารย์วันนอร์: มีลูกศิษย์ในทุกอำเภอของจังหวัดชายแดนใต้
‘อาจารย์วันนอร์’ คำเรียกนี้มีที่มาจากที่วันนอร์กลับไปบรรจุเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยครูสงขลา หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาในปัจจุบัน ต่อมา เขากลับเข้ามาศึกษาระดับปริญญาโทที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ด้านการบริหารการศึกษา ก่อนกลับไปเป็นอาจารย์ประจำที่วิทยาลัยแห่งเดิม โดยมีตำแหน่งสุดท้ายคือรองอธิการบดี ก่อนจะลาออกลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนฯ สมัยแรก
วันนอร์ยังเป็นอาจารย์พิเศษทั้งที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในบันทึกของเขาเล่าว่า ถึงตอนนี้ ‘อาจารย์วันนอร์จึงมีลูกศิษย์อยู่ในทุกอำเภอของจังหวัดชายแดนใต้’
นับจากปี 2512 ที่เขาดำรงตำแหน่งประธานนิสิตครุศาสตร์ในรั้วจุฬาฯ ต่อมาเป็น ครูใหญ่, อาจารย์, รองอธิการบดี, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรี ให้หลังจากนั้นอีก 27 ปี วันนอร์ก้าวขึ้นเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกในปี 2539
บนถนนการเมือง ใครจะประเมินและล่วงรู้ได้ว่าให้หลังจากปี 2539 อีก 27 ปี วันนอร์จะก้าวขึ้นเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่สองอีกวาระหนึ่ง
ถึงวันนี้ ประวัติศาสตร์การเมืองไทยบันทึกไว้แล้วว่า หลังทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา มีเพียง อุทัย พิมพ์ใจชน, ชวน หลีกภัย และ วันมูหะมัดนอร์ มะทา เท่านั้น ที่ได้รับเกียรติประวัติทางการเมืองในฐานะประมุขสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติมากกว่าหนึ่งสมัย
ทางแพร่งชีวิต: อาจารย์-นักการเมือง-รัฐมนตรี
งานศึกษาของ ‘ศิริเดือน’ ชี้ว่า วันนอร์เป็นนักการเมืองที่มีองค์ประกอบหลายข้อที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งเป็นผู้แทนฯ สมัยแรกในปี 2522
วันนอร์เป็นผู้นำที่โดดเด่น เป็นนักกิจกรรมแต่เด็ก เขารู้จักกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ตั้งแต่ในรั้วจุฬาฯ พ่อของวันนอร์เคยลงสมัคร สส. มีฐานทางการเมืองตามหมู่บ้านต่างๆ เป็นที่รู้จักของประชาชน ตัววันนอร์มีความสุขุม เคร่งขรึม พูดจาน่าเชื่อถือ มีบทบาทความเป็นครู-อาจารย์ พร้อมทั้งมีทั้งลูกศิษย์ เครือข่าย และญาติพี่น้องให้การสนับสนุน
‘อาซีส เบ็ญหาวัน’ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตนายก อบจ.ยะลา เล่าถึงการหาเสียงครั้งแรกในชีวิตของวันนอร์ “วันนอร์ใช้วิธีปราศรัยแทนการเจาะหัวคะแนนโดยตรง ในหมู่คนไทยพุทธวันนอร์ใช้ภาษาไทย ในหมู่มุสลิมก็ใช้ภาษามลายูอย่างคล่องแคล่ว เขาปราศรัยบอกข่าวใหม่ๆ บอกโอกาสใหม่ๆ ที่จะทำได้ หากเขาได้เป็น สส. ทำให้ประชาชนมีความหวัง วันนอร์ไม่เคยโจมตีใคร ไม่โจมตีข้าราชการ ทำให้ได้คะแนนจากกลุ่มไทยพุทธ ได้มามากด้วย” (อ่านต่อที่หนังสือนักการเมืองท้องถิ่นยะลา)
ในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2522 พรรคกิจสังคมที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค ได้รับชัยชนะในภาคใต้จำนวน 17 ที่นั่ง หนึ่งในนั้นคือวันนอร์ซึ่งเป็น สส. สมัยแรก พร้อมได้รับคะแนนสูงสุดของจังหวัดยะลาอีกด้วย
วันนอร์เคยตัดสินใจยุติบทบาททางการเมือง ไม่ลงสมัคร สส. เป็นสมัยที่ 2 ในปี 2526 เขาเล่าว่าเป็นผลจากภาระค่าใช้จ่ายในการทำหน้าที่ผู้แทนฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่เงินเดือน สส. ได้รับเพียงเดือนละ 15,000 บาทเท่านั้น เขากลับไปเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยครูสงขลาเป็นเวลา 3 ปี
ถึงที่สุด วันนอร์ตกผลึกกับเส้นทางชีวิตในเวลาต่อมาว่า “ผมคิดว่าเป็นอาจารย์ก็ดี สร้างคน แต่ถ้าเป็นนักการเมือง ผมสามารถจะทำประโยชน์และแก้ไขปัญหามากกว่าที่จะเป็นอาจารย์
“ถ้าเป็นนักการเมือง เป็นผู้แทนฯ ก็สามารถบอกได้ว่าพี่น้องประชาชนเดือดร้อนอะไร มีกฎหมายอะไรบ้างที่ควรแก้ไข แต่ถ้าเราสามารถจะมาเป็นรัฐมนตรี มาเป็นผู้บริหารประเทศ เราก็สามารถที่จะมาทำได้มากกว่านี้ เพราะการเมืองคือจุดที่มีอำนาจที่จะแก้ไขปัญหาได้”
กลุ่มวาดะห์: แก้โจทย์การเมืองชายแดนใต้
วันนอร์กลับสู่ถนนการเมืองในฐานะผู้แทนสมัยที่ 2 ในปี 2527 พร้อมกับเป็นผู้นำ-ผู้ก่อตั้ง ‘กลุ่มเอกภาพ’ หรือชื่อเป็นภาษาอาหรับว่า ‘วาดะห์’ ในพรรคประชาธิปัตย์ เป็นฐานที่มั่นของผู้สมัคร สส. ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา สตูล ปัตตานี นราธิวาส และบางส่วนของสงขลา โดยมีเงื่อนไขทางการเมืองว่า ถ้ากลุ่มวาดะห์ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา 5 คน ต้องได้รัฐมนตรี 1 เก้าอี้
เงื่อนไขนี้เป็นผลจากโจทย์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในภาคใต้ นั่นคือนักการเมืองจากภาคใต้ไม่ค่อยได้มีโอกาสก้าวสู่ตำแหน่งระดับสูงในทางการเมือง เพราะกระจายตัวตามพรรคต่างๆ จึงทำให้มีอำนาจต่อรองไม่มาก และทำให้ปัญหาของพี่น้องชาวใต้ไม่ได้รับการแก้ไข
ถึงตรงนี้ วันนอร์จึงร่วมกับบรรดาผู้นำในพื้นที่ แก้โจทย์ทางการเมืองด้วยการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อสร้างพลังทางการเมืองและการต่อรองในนามกลุ่มวาดะห์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองแบบภูมิภาคนิยม มีการนำศาสนาอิสลามซึ่งเป็นทางนำชีวิตของประชาชนในภาคใต้มาเป็นหลักในการทำงาน
กลุ่มวาดะห์มีเป้าหมายชัดเจน นั่นคือ ‘ต้องการรักษาสิทธิในฐานะประชาชนคนไทยให้เท่าเทียมกับคนไทยในทุกภูมิภาค ปกปักรักษาสิทธิประโยชน์ทั้งด้านวัตถุและจิตใจ ดำเนินงานด้านการเมืองและเศรษฐกิจทั้งระดับจุลภาคและมหภาค เพื่อเฉลี่ยความสมบูรณ์พูนสุขสู่ประชาชนใน 5 จังหวัดภาคใต้อย่างเสมอภาคและเป็นธรรม”
บนถนนการเมือง กลุ่มวาดะห์มีทั้งช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์และอัสดง แม้เปลี่ยนพรรค แต่ยังคงความเป็นกลุ่มก้อนเหนียวแน่น
กลุ่มวาดะห์เปลี่ยนพรรคการเมืองตั้งแต่พรรคประชาธิปัตย์, พรรคประชาชน, พรรคเอกภาพ, พรรคความหวังใหม่, พรรคไทยรักไทย, พรรคมัชฌิมาธิปไตย, พรรคมาตุภูมิ, พรรคเพื่อไทย ก่อนลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงที่พรรคประชาชาติ
ภายใต้สังกัดของกลุ่มวาดะห์ พวกเขาสามารถผลักดันผู้นำทางการเมืองในสังกัดขึ้นสู่ตำแหน่งต่างๆ ทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ วันนอร์เป็นหนึ่งในความสำเร็จของสังกัดแห่งนี้
ข้อเขียนชิ้นนี้เรียบเรียงจากงานเขียนและงานศึกษา 4 ชิ้น ประกอบด้วย
- หนังสือ ‘วันรำลึก วันนอร์ มะทา ครบ 5 รอบ หนึ่งในผู้นำทางการเมือง’ (2547) รวบรวมคำรำลึก คำนิยม และชีวประวัติของวันนอร์
- หนังสือ ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา (2539-2543)’ (2543) จัดทำและจัดพิมพ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
- หนังสือ ‘ชีวิต การทำงานและบทบาทการสื่อสารด้านการเมืองของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา’ (2547) เขียนโดย ‘ศิริเดือน ระดิ่งหิน’ ส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรวารสารศาสตรมหาบัณฑิต (การสื่อสารภาครัฐและเอกชน) คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- หนังสือ ‘นักการเมืองท้องถิ่นจังหวัดยะลา’ (2555) เขียนโดย ‘ผศ.ดร.บูฆอรี ยีหมะ’