ธุรกิจภาพยนตร์ จริงๆ แล้วเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง เพราะกว่างานชิ้นหนึ่งจะถูกผลิตออกมาได้ คนทำหนังและสตูดิโอต้องใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปี และพวกเขามีโอกาสเดียวเท่านั้นในการนำเข้าฉายโรงภาพยนตร์ เพราะหลังจากฉายแล้ว ถ้าผลตอบรับออกมาดีก็ดีไป แต่ถ้าออกมาไม่ดี พวกเขาก็ไม่มีโอกาสแก้ตัวอีกอย่างใด ไม่มีการขอกลับไปแก้และอัปเดตเฟิร์มแวร์ส่งตามไปให้คนดูทีหลัง (หรือต่อให้มันมีจริงๆ คนดูคนไหนจะยอมกลับมาเข้าโรงอีกรอบ เพื่อดูหนังฉบับแก้ตัวนะ) ดังนั้น ถ้าเกิดผิดพลาดขึ้นมา ก็อาจจะต้องไปแก้ตัวกันอีกทีในภาค 2 ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า
ดังนั้น ความเสี่ยงเหล่านี้ที่คนทำอาจจะต้องเผชิญ จึงเป็นเหตุที่มาแห่งความพารานอยด์มากมายที่เกิดขึ้นในห้องสกรีนเทสต์ของสตูดิโอภาพยนตร์ ว่าหนังร่างไฟนอลที่เพิ่งดูกันไปนั้นเป็นเวอร์ชันที่ควรจะออกฉายได้แล้วหรือยัง โดนหรือยัง จี๊ดหรือยัง คนดูชอบแล้วหรือเปล่า และจะได้เงินไหม เพราะโอกาสมีแค่ครั้งเดียวเท่านั้น
ในกรณีล่าสุดของหนังเรื่อง Sonic the Hedgehog ฉบับ Live Action ที่มีการปล่อยภาพนิ่งและเทรลเลอร์ออกมาสู่สาธารณะเมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา และเกิดกระแสลบมากมายถึงคาแรกเตอร์ดีไซน์ในฉบับหนังที่ทำออกมาไม่เหมือนในเกม ซึ่งส่งผลให้เกิดการที่คนดูที่มีฝีมือในเรื่อง Photoshop รีทัชและสร้าง Sonic แบบที่ควรจะเป็นออกมา ซึ่งออกมาเหมือนในเกมมากกว่า และประชาชนก็ต่างสรรเสริญสิ่งนี้มากมาย
จริงๆ แล้วเหตุการณ์แบบนี้ก็เกิดขึ้นสม่ำเสมอกับหนังที่สร้างจากนิยาย เกม หรือพวกหนังรีเมกที่คนดูมีภาพจำมาก่อนแล้ว คนทำหนังประเภทนี้จะต้องต่อสู้กับจินตนาการและภาพจำเหล่านั้นของคนดู (เหมือนเราเป็นแฟนใหม่ แต่ต้องทำตัวให้เหมือนแฟนเก่าเขา) ถ้าแบบเซฟๆ ก็คือ เราก็ต้องทำยังไงก็ได้ให้หนังเราใกล้เคียงกับสิ่งที่คนดูคิดและคุ้นเคยมากที่สุด เพื่อที่จะพิชิตใจพวกเขา และพวกเขาจะได้เข้ามาดูหนังเยอะๆ แต่ในขณะเดียวกัน อันที่จริงแล้วการตีความต้นฉบับก็เป็นสิ่งที่ทำได้ ผู้กำกับมีสิทธิ์สร้างสิ่งที่พวกเขาเห็นขึ้นมา โดยที่อาจจะไม่ได้ตรงกับต้นฉบับเสียทีเดียว ตัวอย่างเช่น การนำ ไมเคิล ฟาสส์เบนเดอร์ มาเล่นเป็น สตีฟ จ็อบส์ ที่ทุกคนต่างออกเสียงว่า เขาไม่เหมือนสตีฟเลย แต่สุดท้ายไมเคิลก็สามารถแสดงจนคนดูรู้สึกว่า เขาคือสตีฟได้จริงๆ (โดยที่หน้าตาก็ยังไม่เหมือนเสียทีเดียว)
ประเด็นคือ แม้ว่าไมเคิลจะหน้าไม่เหมือนสตีฟ แต่ผู้กำกับ แดนนี่ บอยล์ ก็ยืนยันว่า ต้องเป็นไมเคิล ไม่มีการเปลี่ยนนักแสดง หรืออย่างกรณีล่าสุดคือ Aladdin ฉบับคนแสดง ที่ตัวละครจินนี่ ซึ่งนำแสดงโดย วิลล์ สมิธ นั้นก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า นี่มันคืออะไร แต่ทางค่ายก็ยืนยันและพยายามทำอย่างไรก็ได้ให้คนดูซื้อจินนี่ในเวอร์ชันที่คนดูอาจจะไม่คุ้นตานี้ให้ได้ ในขณะที่ทางฝั่งของผู้สร้าง Sonic the Hedgehog นั้นออกมาประกาศว่า ทางสตูดิโอจะกลับไปแก้ไขคาแรกเตอร์เม่นฟ้าตัวนี้ให้ดีขึ้น หรืออาจจะใกล้เคียงกับเวอร์ชันเกมมากขึ้น
คำถามมีอยู่ว่า ต่อให้แก้ Sonic ให้ออกมาเหมือนกับสิ่งที่คนดูอยากให้เป็นแล้ว หนังเรื่องนี้จะยังได้รับความนิยมตอนออกฉายหรือไม่ เพราะการที่บอกให้แก้ และคนทำก็แก้ตามนั้น แสดงให้เห็นว่า คนทำหนังเรื่องนี้ไม่มั่นใจในตัวเองเท่าไรนัก เขาจึงไม่ได้ยืนยันว่า Sonic ที่เขาตีความออกมานั้น มันจะดีในแบบฉบับของมันแน่นอน แม้ว่าอาจจะไม่คุ้นตา แต่พวกเราคิดมาดีแล้ว และไอ้ความไม่มั่นใจของคนทำแบบนี้ ก็อาจทำให้คนดูไม่มั่นใจกับหนังเรื่องนี้อยู่ดี มันก็จะยังเป็นหนังที่มีปัญหา แม้ว่าจะได้รับการแก้ไขแล้ว คนดูอาจจะคิดต่อไปอีกว่า ถ้าตอนก่อนออกฉายยังขนาดนี้ ในตัวหนังอาจจะมีข้อผิดพลาดแบบนี้อีกก็เป็นไปได้
ในขณะที่บางเสียงจากฝั่งคนทำก็คิดว่า คนดู (หรือนักวิจารณ์) ต้องหยุดวิจารณ์หนังในแนวทางว่า “หนังเรื่องนี้ควรจะเป็นแบบนั้น”, “ฉันคิดว่าหนังเรื่องนี้จะดีขึ้น ถ้า…” , “ถ้าเป็นฉัน ฉันจะทำหนังเรื่องนี้ให้เป็นแบบนี้แบบนั้น” เพราะนั่นคือการอยากเห็นหนังเป็นไปในแบบที่ตัวเองต้องการเท่านั้น และปิดรับความหลากหลายของตัวงานที่อาจจะมาจากโลกคนละใบกับคนดู มาจากคนละวัฒนธรรมกับผู้รับสาร คนดูเองหรือเปล่าที่อาจจะต้องปรับดวงตาให้เปิดรับสิ่งใหม่ที่ไม่เหมือนกับตัวเองบ้าง เพื่อสร้างความหลากหลายของผลงานบนโลกใบนี้
การแก้ไขหนังตามคนดูบอกนี้ จึงคิดได้ 2 แบบ คือ เป็นการเอาคอมเมนต์ต่างๆ มาทำให้หนังดีขึ้นตามประชามติ หรืออีกทางคือ เป็นการเอาใจคนดูเพื่อผลทางรายได้ (สมมติว่า Sonic the Hedgehog ฉายฟรี หรือทำเอามัน การแก้ไขนี้ก็อาจจะไม่เกิดขึ้นก็เป็นได้ เพราะไม่แคร์ว่าจะได้กี่บาท) มันอาจจะเป็นทั้งความผิดพลาดของคนทำและความผิดพลาดในการดูหนังของคนดู เป็นเรื่องที่อาจจะไม่สามารถตัดสินได้ว่าควรจะเป็นแบบไหน ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นคนทำแบบไหน และคุณเป็นคนดูแบบไหนมากกว่า
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล