×

เซลฟีจนเสียชีวิต 259 คนใน 7 ปี สาเหตุหลักจมน้ำ-วิ่งตัดหน้ารถไฟ-ตกจากที่สูง

04.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • งานวิจัยในอินเดียพบกรณีผู้เสียชีวิตจากการเซลฟีมากถึง 259 คนในช่วงระหว่างปี 2011-2017 แต่สิ่งที่น่ากังวลคือตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
  • สาเหตุการเสียชีวิตมาจากการเซลฟีที่เสี่ยงอันตราย โดยส่วนใหญ่ตายเพราะจมน้ำ (70 คน), วิ่งตัดหน้ารถไฟ (51 คน), ตกจากที่สูง (48 คน) หรือถ่ายรูปกับสัตว์อันตราย (8 คน)
  • ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ราว 72%) และมีอายุต่ำกว่า 30 ปี โดยอินเดียครองแชมป์ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากการเซลฟีมากที่สุด (159 คน) ส่วนสหรัฐฯ ครองแชมป์มีผู้เสียชีวิตจากการลั่นไกปลิดชีพตัวเองโดยไม่ตั้งใจขณะโพสท่าถือปืน

การถ่ายรูปเซลฟีให้ได้ภาพที่สมบูรณ์แบบหรือแหวกแนวจากคนอื่นอาจดูเป็นเรื่องเท่หรือสนุก แต่การเซลฟีในท่าโลดโผน ถ่ายรูปขณะขับรถ ถือปืนที่บรรจุกระสุน หรือยืนบนหน้าผาสูงชัน อาจทำให้คุณเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตเช่นกัน เพราะจากสถิติที่รวบรวมโดยคณะนักวิจัยจาก All India Institute of Medical Sciences ในอินเดีย พบว่ามีผู้เสียชีวิตขณะพยายามเซลฟีราว 259 คนในช่วงระหว่างปี 2011-2017 โดยจำนวนนี้เสียชีวิตจากการจมน้ำมากที่สุด ตามมาด้วยอุบัติเหตุในระบบคมนาคมขนส่งและตกจากที่สูง

 

ผลการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Family Medicine and Primary Care ระบุว่าอินเดียมีผู้เสียชีวิตจากการเซลฟีมากที่สุดจำนวน 159 คน ตามมาด้วยรัสเซีย สหรัฐอเมริกา และปากีสถาน โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ราว 72%) และอายุต่ำกว่า 30 ปี

 

ถึงแม้งานวิจัยพบว่าผู้หญิงจะรักการเซลฟีมากกว่าผู้ชาย แต่ผู้ชายมักมีพฤติกรรมการเซลฟีที่เสี่ยงอันตราย เช่น ยืนบนขอบหน้าผาเพื่อเก็บภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจ นั่นจึงสามารถอธิบายได้ว่าทำไมการเสียชีวิตขณะเซลฟีจึงเกิดขึ้นกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

 

จากสถิติยังพบว่าการจมน้ำเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในบรรดาการเสียชีวิตขณะเซลฟี โดยมีคนจมน้ำตายเพราะถูกคลื่นซัดหรือตกจากเรือรวม 70 คน รองลงมาคือการเสียชีวิตในระบบขนส่งมวลชน เช่น มีกรณีการเสียชีวิตขณะเซลฟีโดยวิ่งตัดหน้าขบวนรถไฟที่กำลังวิ่งอยู่ถึง 51 คน

 

ส่วนอันดับ 3 คือการเสียชีวิตจากการตกจากที่สูง (48 คน) โดยล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีสามีภรรยาคู่หนึ่งตกลงมาตายหลังจากที่พยายามเซลฟีบนสันกำแพงสูง 130 ฟุตในโปรตุเกส

 

นอกจากนี้ยังมี 8 คนที่เสียชีวิตขณะพยายามเซลฟีกับสัตว์ที่อันตราย และกรณีอื่นๆ เช่น อุบัติเหตุเกี่ยวกับไฟหรือไฟฟ้า

 

เมื่อดูเป็นรายประเทศ สหรัฐฯ ครองแชมป์ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากการเซลฟีขณะถือปืนมากที่สุด โดยมีหลายกรณีที่คนลั่นไกปลิดชีพตัวเองโดยไม่ตั้งใจขณะโพสท่าถือปืน

 

อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตขณะเซลฟี แต่มีรายงานตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริงก็คือการเซลฟีขณะขับรถ เพราะส่วนใหญ่จะถูกรายงานว่าเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถชน

 

สิ่งที่น่าวิตกจากรายงานของคณะนักวิจัยก็คือการเสียชีวิตขณะเซลฟีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากปี 2011 มีผู้เสียชีวิต 3 คน จากนั้นพุ่งเป็น 50 คนในปี 2015 และ 93 คนในปี 2017

 

รายงานระบุว่าเยาวชนและนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มผู้เสียชีวิตที่พบมากที่สุด เพราะพวกเขาอาจต้องการดูเท่โดยการโพสต์รูปลงโซเชียลมีเดียเพื่อให้คนมากด ‘ไลก์’ หรือคอมเมนต์

 

“การเซลฟีไม่ใช่เรื่องอันตราย แต่มนุษย์มีพฤติกรรมการเซลฟีที่เสี่ยงอันตราย ซึ่งแต่ละคนควรได้รับคำแนะนำหรือตักเตือนเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เสี่ยงและสถานที่อันตรายที่ไม่ควรเข้าไปถ่ายเซลฟี” รายงานระบุ

 

คณะนักวิจัยยังแนะนำด้วยว่าประเทศต่างๆ ควรกำหนดพื้นที่ห้ามเซลฟีสำหรับนักท่องเที่ยว หรือ No Selfie Zones เช่น บนยอดเขา บริเวณน้ำลึก บนดาดฟ้าตึกสูง หรือสถานที่อันตรายอื่นๆ

 

นักบินคนหนึ่งฝากข้อคิดไว้เป็นอุทาหรณ์ว่า มันอาจดูเท่ถ้าคุณรอดชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกทั้งที่บันทึกภาพวิดีโอเหล่านั้นไปด้วย แต่ถ้าคุณเสียชีวิตเพียงเพราะสนใจเรื่องถ่ายวิดีโอหรือถ่ายรูปมากกว่าปฏิบัติตามกฎเพื่อความปลอดภัย มันไม่ใช่เรื่องเท่เลย เพราะรูปถ่ายรูปเดียวไม่มีทางมีค่าไปกว่าชีวิตของคุณแน่

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising