สงครามเย็น รอบใหม่? การเดินทางเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร (2 สิงหาคม) ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่จีนเป็นอย่างมาก เพราะจีนถือว่าไต้หวันเป็นเกาะปกครองตนเองและเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน ดังนั้น รัฐบาลปักกิ่งจึงมองว่า การเดินทางของเพโลซีถือเป็นการรับรองเอกราชโดยพฤตินัยของไต้หวัน
และเพื่อตอบโต้สหรัฐฯ จีนได้สั่งให้กองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA) ปฏิบัติการซ้อมรบบริเวณ 6 จุดยุทธศาสตร์รอบเกาะไต้หวัน เมื่อวันพุธ (3 สิงหาคม) เป็นวันแรกไปจนถึงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (7 สิงหาคม) ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเตือนว่า กรณีดังกล่าวอาจทำให้การขนส่งสินค้าบริเวณช่องแคบระหว่างไต้หวันและจีน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเส้นทางที่พลุกพล่านที่สุดประสบความยากลำบากเพิ่มขึ้น และยังกระทบต่อการค้าในภูมิภาคด้วย
ด้านนักวิเคราะห์มองว่า สถานการณ์ปัจจุบันเริ่มใกล้เคียงกับสงครามเย็นใหม่ (New Cold War) มากขึ้น พร้อมแนะประชาคมโลกเตรียมรับมือและป้องกันไม่ให้เกิดสงครามแบบใช้กำลังและอาวุธ หรือสงครามจริงเกิดขึ้น
จีนปิดล้อมเกาะไต้หวันจ่อดันค่าขนส่งในภูมิภาคสูงขึ้น
หนังสือพิมพ์ South China Morning Post รายงานว่า ผู้ประกอบการบริษัทขนส่งในไต้หวันมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนเส้นทางตามคำแนะนำของรัฐบาลไต้หวัน เมื่อวันพุธที่ผ่านมา เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากการซ้อมรบทางทะเลและทางอากาศของกองทัพจีนรอบเกาะ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินไปถึงช่วงสุดสัปดาห์นี้ โดยการซ้อมรบดังกล่าวยังอาจจะทำให้การขนส่งเกิดความล่าช้า
ตามข้อมูลจากสำนักข่าว Bloomberg ระบุว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เรือคอนเทนเนอร์เกือบครึ่งหนึ่งของโลกได้แล่นผ่านช่องแคบไต้หวัน ซึ่งอยู่ระหว่างไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางน้ำใกล้ไต้หวันน่าจะสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากกองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA) ดำเนินการซ้อมรบเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากการซ้อมรบในปัจจุบัน
ขณะที่ Ambrose Linn อดีตสมาชิกสภาพัฒนาโลจิสติกส์แห่งฮ่องกง คาดการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ก็น่าจะเพิ่มขึ้นราว 10% เนื่องจากสินค้า ‘เร่งด่วน’ จะต้องเปลี่ยนไปใช้เครื่องบินแทนเรือ
สอดคล้องกับ Nick Marro หัวหน้านักวิเคราะห์ของ The Economist Intelligence Unit ที่ระบุว่า การปิดเส้นทางคมนาคมขนส่งเหล่านี้ แม้เพียงชั่วคราว จะส่งผลกระทบไม่เพียงแต่ต่อไต้หวันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการค้าในภูมิภาค ซึ่งเกี่ยวข้องถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ด้วย
ด้าน Shi Yinhong ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมินในกรุงปักกิ่ง ยังกล่าวว่า จีนสามารถดำเนินการปิดล้อมไต้หวันทางทะเลได้ โดยหากสหรัฐฯ ไม่สามารถรับชิปได้ หรือการส่งชิปล่าช้าเป็นเวลา 1 หรือ 2 สัปดาห์ นั่นจะเป็นความเสียหายอย่างมาก
สหรัฐฯ-จีนแข่งวางระเบียบโลก นำไปสู่สงครามเย็นใหม่?
ด้านสำนักข่าว Nikkei รายงานว่า ไต้หวันอาจไม่ใช่สาเหตุของความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนครั้งนี้ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากการแข่งขันเพื่อควบคุมระเบียบระหว่างประเทศระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยการต่อสู้นี้น่าจะคงอยู่นานถึง 10 หรือ 20 ปี
เนื่องจาก ปัจจุบัน สหรัฐฯ กำลังระแวงวิสัยทัศน์ด้านระเบียบระหว่างประเทศของจีน หลังจากรัฐบาลปักกิ่งยังคงยืนหยัดเคียงข้างรัสเซีย ท่ามกลางสงครามในยูเครน ทำให้รัฐบาลวอชิงตันสงสัยว่า จีนกำลังพยายามบ่อนทำลายระเบียบโลกหลังยุคสงครามโลกที่ตะวันตกเป็นผู้นำ
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ไม่ได้สนับสนุนไต้หวันเพียงเพราะว่า ไต้หวันเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีที่สำคัญ และเป็นป้อมปราการของประชาธิปไตย แต่วอชิงตันยังคิดว่าการรักษาสภาพที่เป็นอยู่รอบไต้หวันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการรักษาขอบเขตอิทธิพลของจีนไม่ให้แพร่กระจายไปทั่วเอเชีย
ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งก็เริ่มไม่ไว้วางใจสหรัฐฯ เช่นกัน โดยผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์และสื่อจีนต่างประเมินว่า สหรัฐฯ กำลังทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อยับยั้งการเติบโตของเศรษฐกิจจีน โดยการพูดถึงสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยใดๆ ถือเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น
รายงานของ Nikkei ยังระบุอีกว่า แม้สถานการณ์ปัจจุบันยังแตกต่างจากสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียก่อนหน้านี้ เนื่องจาก สหรัฐฯ และจีนได้เข้าร่วมแนวรบด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด แต่สถานการณ์ปัจจุบันกลับมีความคล้ายคลึงกับสงครามเย็นใหม่ (New Cold War) มากขึ้น ซึ่งหมายความว่า โลกจำเป็นต้องวางแผนเพื่อจัดการกับวิกฤต และเพื่อป้องกันสงครามร้อน (Hot War) หรือสงครามแบบใช้กำลัง
วิเคราะห์ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนจะไปยังไงต่อ?
ขณะที่ Shi Yinhong ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมินในกรุงปักกิ่ง ระบุว่า การมาเยือนไต้หวันของเพโลซีได้ฉุดให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ไปสู่จุดต่ำสุดใหม่ แต่จนถึงตอนนี้ จีนยังคงแสดงท่าทียับยั้งชั่งใจ และโอกาสที่จะเกิดการปะทะทางอาวุธอย่างเต็มกำลังกับสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับต่ำ
สอดคล้องกับ แนนซี เพโลซี ที่แถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม หลังเข้าพบนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น ว่าการเดินสายเยือนประเทศต่างๆ ในเอเชีย รวมถึงแวะที่ไต้หวัน ไม่ได้มีเจตนาใดๆ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลง Status Quo ในไต้หวันหรือในภูมิภาคนี้
ด้านนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างพากันจับตาการประชุมผู้นำ G20 ซึ่งจะจัดขึ้นที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ เนื่องจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ และ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน น่าจะพบปะกันในการประชุมนี้
อ้างอิง:
- https://asia.nikkei.com/Spotlight/Comment/Pelosi-s-Taiwan-visit-signals-start-of-drawn-out-U.S.-China-struggle
- https://asia.nikkei.com/Politics/International-relations/US-China-tensions/Why-China-is-furious-over-Pelosi-s-Taiwan-trip-5-things-to-know
- https://www.scmp.com/economy/china-economy/article/3187725/taiwans-marine-shippers-airlines-re-route-avoid-chinas?module=feature_package_2_2&pgtype=homepage