×

เลือกตั้ง 2566 : ‘พีระพันธุ์’ แจงข่าวลาออกเลขานายกฯ ย้ำไม่มีวันทิ้งประยุทธ์ ขออยู่ทำงานจนวินาทีสุดท้าย

โดย THE STANDARD TEAM
22.06.2023
  • LOADING...
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

วันนี้ (22 มิถุนายน) พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โพสต์เฟซบุ๊กกรณีกระแสข่าวเตรียมยื่นใบลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก่อนเข้ารายงานตัวเป็น ส.ส. ต่อสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันระบุว่า ส.ส. จะเป็นข้าราชการการเมืองไม่ได้ ตามหมวด 9 ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามมาตรา 184 และมาตรา 185 ต้องไม่ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ

 

พีระพันธุ์ระบุว่า วานนี้ (21 มิถุนายน) มีรายงานข่าวทางสื่อมวลชนบางฉบับว่าตนเอง ‘ทิ้งลุงตู่’ หรือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง แต่ก็ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และสอบถามผมมาอย่างเข้าใจผิดมากมายว่าผมทิ้งท่านนายกรัฐมนตรีทำไม

 

“ผมขออนุญาตเรียนให้ทราบกันครับว่าคนอย่างผมไม่มีวันที่จะทิ้งคนดีๆ อย่างท่าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเด็ดขาด วันนี้ผมยังอยู่กับท่านและยังคงทำงานให้ท่านในตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีตามปกติทุกวัน ผมพูดอยู่เสมอว่าผมมีความสุขที่ได้ทำงานกับท่านและมันก็ยังคงเป็นอยู่อย่างนั้น 

 

“การได้เจอคนดีนับเป็นโชคดีของชีวิต การได้เจอและได้ทำงานกับคนดีๆ ยิ่งต้องถือว่าทั้งโชคดีและเป็นกำไรของชีวิตที่ได้ซึมซับและได้เรียนรู้เรื่องดีๆ จากคนดีๆ ยิ่งเป็นคนดีที่รักชาติ บ้านเมือง รักสถาบันฯ ยิ่งชีวิตก็ยิ่งต้องถือว่าเป็นโชคมหาศาลของชีวิต

 

“ผมขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันนะครับว่าผมเลือกที่จะอยู่กับท่านจนวินาทีสุดท้ายของท่านในการทำงานและการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของคนไทยและประเทศไทย”

 

ทั้งนี้ วานนี้ (21 มิถุนายน) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ถึงกรณีมีกระแสข่าวดังกล่าวว่า พีระพันธุ์ยังไม่จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีก็สามารถเข้ารายงานตัวเป็น ส.ส. ต่อสภาได้ ควบคู่กับการทำงานในหน้าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี จนกว่าจะปฏิญาณตนต่อที่ประชุมสภาเพื่อทำหน้าที่ ส.ส. 

 

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ส.ส. ไม่สามารถเป็นข้าราชการการเมืองได้ เนื่องจากจะเกิดปัญหาผลประโยชน์ขัดกัน และจะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 184 ที่ระบุว่า ส.ส. ต้องไม่ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ แต่ ส.ส. สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ เพราะมีการเขียนยกเว้นไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 163 ที่ระบุว่า รัฐมนตรีมีสิทธิเข้าประชุมและแถลงข้อเท็จจริงในที่ประชุมสภา แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน เว้นแต่เป็นการออกเสียงลงคะแนนในสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่รัฐมนตรีผู้นั้นเป็น ส.ส. ด้วย

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising