ประเด็นร้อน ค่าครองชีพที่คนไทยติดตามช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับค่าไฟฟ้าเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 ที่ก่อนหน้านี้ กกพ. เสนอ 3 ทางเลือกปรับค่า Ft งวดสุดท้ายของปี 2567 ซึ่งอาจทำให้ค่าไฟฟ้าพุ่งสูงถึง 6.01 บาทต่อหน่วยนั้น จะมีแนวทางหรือมาตรการอย่างไร
ที่ทำเนียบรัฐบาล พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกระแสข่าวการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าว่า ในช่วงสัปดาห์ก่อนตน และ ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางไปประชุมพลังงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย จึงไม่ได้อยู่ชี้แจงข้อเท็จจริง อาจทำให้ข้อมูลสับสน แต่ถือเป็นเรื่องปกติทุกครั้งที่จะมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าก็จะมีข่าวออกไปในทางลบเสมอ ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. และรัฐบาล โดยกระทรวงพลังงานจะต้องหารือร่วมกันทุกครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค. 67 อาจแพงสุดที่ 6.01 บาทต่อหน่วย! ‘กกพ.’ ชำแหละ 3 ทางเลือก ปรับค่า Ft ปี 2567
- วิเคราะห์ ‘ลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า’ นโยบายว้าวุ่นที่เกาไม่เคยถูกที่คัน?
- ส่องค่าไฟไทยเทียบเพื่อนบ้าน ปี 2024 ไทยอยู่ตรงไหน สัดส่วนผลิตไฟฟ้ามาจากไหนบ้าง
- เปิด (ร่าง) แผน PDP เวอร์ชัน 2024 ปรับเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 51%…
สำหรับในครั้งนี้เมื่อตนเดินทางกลับมาจึงได้มอบแนวทางไว้ ซึ่งตนไม่อยู่จึงไม่ได้มีการประชุมหารือกัน วันนี้ได้เชิญประธานคณะกรรมการ กกพ. และ เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้ว่าการ ปตท. มาหารือร่วมกัน โดยได้มีมติยืนค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยตามเดิม
สำหรับค่าไฟฟ้าในงวดต่อไป ต้องขอขอบคุณ กฟผ. ที่สามารถจัดการภายในกันได้ เพื่อช่วยเหลือประชาชน รวมไปถึงทาง ปตท. ยินดีที่จะไม่รับค่าตอบแทนใดๆ จากค่าไฟฟ้างวดนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชน
พีระพันธุ์ยังระบุอีกว่า การช่วยเหลือประชาชนไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้าหรือราคาน้ำมัน การดำเนินการไม่ได้อยู่ที่กระทรวงพลังงานเพียงกระทรวงเดียว ทั้งค่าไฟฟ้าที่ กฟผ. จะต้องนำเงินส่งคลังตามหลักเกณฑ์ แต่ในการให้ลดราคาหรือตรึงราคาค่าไฟฟ้า นั่นหมายความว่าทำให้รายได้ต่ำลง ก็จะต้องนำเงินส่งคลังตามผลกำไรที่เกิดจากรายได้ที่ต่ำลง แต่หน่วยงานอื่นกลับนำเอารายได้ที่ควรจะเป็นจริงหรือกำไรที่คำนวณเองมาให้เขานำเงินส่งคลัง ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องที่ควรแก้ไข เพราะเป็นการให้ กฟผ. รับภาระโดยที่ไม่มีหน่วยงานอื่นไปช่วย
ขณะที่ราคาน้ำมัน พีระพันธุ์ยืนยันว่า จะตรึงไว้ที่ราคาเดิม แต่อย่างที่ตนเคยพูดไว้ แต่เดิมกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลไกหลักมานานในการดูแลราคาน้ำมันให้ประชาชน ซึ่งนับวันก็มีภาระหนี้สินมากขึ้น โดยเฉพาะตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่ให้อำนาจกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหายไปส่วนหนึ่งในการกำหนดเพดานภาษี ซึ่งราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ประชาชนต้องจ่ายมาจาก 2 ส่วน คือ ราคาที่มาจากเนื้อน้ำมันแท้ๆ อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนของภาครัฐ คือ ภาษี แล้วนำมาบวกเพิ่มเรื่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และค่าการตลาด
แต่หากเทียบกันแล้วส่วนใหญ่จะเป็นภาษี เพราะฉะนั้นการจะปรับลดราคาน้ำมันลงมาได้ไม่ได้อยู่แค่ที่เนื้อน้ำมัน จะต้องปรับลดภาษีด้วย แต่เดิมอำนาจทางการกำหนดเพดานภาษีสรรพสามิตเป็นหน้าที่ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ปัจจุบันถูกตัดออก จึงกลายเป็นภาระที่เอาเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้อย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้สัมภาษณ์มาเสมอว่าจะต้องปรับปรุงกฎหมายส่วนนี้ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ สิ่งที่กระทรวงพลังงานจะเร่งดำเนินการและพยายามตรึงไว้ได้คือราคาน้ำมันที่ 33 บาทต่อลิตร
ส่วนจะตรึงราคาค่าไฟฟ้าไว้นานเท่าใดนั้น พีระพันธุ์ระบุว่า ค่าไฟฟ้าจะปรับทุก 4 เดือนตามค่า Ft ซึ่งเป็นการเฉลี่ยค่าใช้จ่ายด้านก๊าซ จะต้องดูว่าปรับขึ้น-ลงอย่างไร
ขณะที่การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง “ไม่ใช่เพียงแต่กระทรวงพลังงานจะต้องคิดว่าจะช่วยกันทำอย่างไร ขอทำความเข้าใจเรื่องราคาน้ำมันดีเซลระหว่างไทยกับมาเลเซีย ที่มาเลเซียถูกกว่าไทยมาก เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียได้ใช้งบประมาณมาดูแลเหมือนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 1 ปี เกือบ 4 แสนล้านบาท แต่ของเรามีหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันทางมาเลเซียก็ไปไม่ไหว มีการยกเลิกอยู่เหมือนกัน ทำให้ปัจจุบันราคาน้ำมันของมาเลเซียขึ้นมา 10 กว่าบาท ไม่ต่างจากเรา”
อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายการกำหนดเพดานภาษีน้ำมัน พีระพันธุ์ระบุว่า ขณะนี้ใกล้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จก็ต้องหารือต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง