รัฐมนตรีพลังงานประกาศลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าทันทีหลังเศรษฐาประชุม ครม. นัดแรก ชี้มาตรการน้ำมันจะเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาภายใน 2-3 วันจะประกาศอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ทัน 20 กันยายน 2566 พร้อมประกาศใช้ราคาใหม่ทันที ส่วนค่าไฟฟ้าขอหารือ กกพ. เร่งพิจารณาเพิ่มเติมก่อนระบุวันที่ชัดเจน เบื้องต้นจะพิจารณายืดหนี้ กฟผ. 1.5 แสนล้านบาทออกไปก่อน พร้อมยืนยันไม่มีแนวทางในการออกพันธบัตร ส่วนกองทุนน้ำมันยังคงติดลบสะสมแตะ 6 หมื่นล้านบาท
วันนี้ (13 กันยายน) เมื่อเวลา 15.30 น. พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าทำงานในกระทรวงพลังงานเป็นวันแรก และได้ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลเร่งด่วนในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน 2 ด้าน ได้แก่
- มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง
- ราคาน้ำมันดีเซล ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เริ่มวันที่ 20 กันยายน – 31 ธันวาคม 2566 โดยใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
- ราคาน้ำมันเบนซิน จะมุ่งเป้าช่วยเหลือผู้ใช้น้ำมันเบนซินกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างและแท็กซี่ พร้อมกำกับดูแลราคาขายปลีกให้มีค่าการตลาดอยู่ในระดับที่เหมาะสม ประมาณ 2.00 บาทต่อลิตร ตามมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)
- ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ตรึงราคาขายปลีก LPG ที่ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2566 ผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งช่วยเหลือส่วนลดค่าก๊าซหุงต้มให้กับผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มเป้าหมายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
- มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า
- ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ในอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ลงเหลืออัตรา 4.10 บาทต่อหน่วย (หรือลดค่าไฟลง 35 สตางค์)
- มีมาตรการช่วยเหลือส่วนลดค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมให้แก่กลุ่มเปราะบาง โดยให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- วิเคราะห์ ‘ลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า’ นโยบายว้าวุ่นที่เกาไม่เคยถูกที่คัน?
- ส่องดีกรี 9 รัฐมนตรี ‘กระทรวงเศรษฐกิจ’ รัฐบาลเศรษฐา 1 ใครเป็นใคร มีฝีมือด้านใดกันบ้าง
- ส่องโปรไฟล์ว่าที่รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ กับเก้าอี้ที่ใครก็อยากนั่ง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานจะหารือร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการคิดราคาก๊าซธรรมชาติ Pool Gas ให้ไม่เกินค่าประมาณการคงที่ ประมาณ 305 บาทต่อล้านบีทียู และให้นำส่วนต่างของราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บไปทยอยเรียกเก็บคืน ซึ่งจะทำให้ปรับลดราคาค่าไฟฟ้าลงได้อีก
ส่วนแนวทางการจัดการราคาน้ำมันจะเร่งรัดเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา พร้อมประสานงานกระทรวงพาณิชย์ คาดว่า 2-3 วันจะประกาศอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ทันวันที่ 20 กันยายน 2566 ซึ่งจะประกาศใช้ราคาใหม่
ทั้งนี้ สำหรับภาระของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะพิจารณายืดหนี้ 1.5 แสนล้าน และขอยืนยันว่าไม่มีแนวทางในการออกพันธบัตรเพื่อมาแก้ปัญหา
“ผมคิดว่าความหวังของพี่น้องประชาชนก็ต้องการได้รัฐบาลที่ทำงานรวดเร็ว อันไหนทำได้ก็ทำ ดีกว่าไม่ได้อะไรและดีกว่าต้องนั่งรอไปเรื่อยๆ เพราะคติของเราคือลงมือทำอะไรได้ทำก่อน แล้วหลังจากนั้นไม่ใช่ทำแล้วเลิก ต้องทำต่ออีก”
กกพ. รับลูก เตรียมเสนอคณะกรรมการบอร์ด
คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ กกพ. หลัง ครม. มีมติเห็นชอบปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ในอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ลงเหลือในอัตรา 4.10 บาทต่อหน่วย สำนักงาน กกพ. ได้รายงานคณะกรรมการ กกพ. เพื่อทราบมติ ครม. ดังกล่าวแล้ว โดย กกพ. จะเร่งปฏิบัติตามมติ ครม. โดยเร็วเพื่อไม่ให้ประชาชนเสียประโยชน์
“สำนักงาน กกพ. จะเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กฟผ., กฟน., กฟภ. และ ปตท. เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินการให้ตรงตามเจตนารมณ์ในมติ ครม. โดยคาดว่าจะดำเนินการนำเสนอคณะกรรมการ กกพ. ให้แล้วเสร็จ และมีผลบังคับใช้ภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากนี้” คมกฤชกล่าว
ส่องสถานะกองทุนน้ำมันและภาระหนี้ กฟผ.
รายงานข่าวระบุว่า การลดราคาน้ำมันดีเซลหลังจากนี้ทุกๆ 1 บาท จะมีต้นทุนเพิ่มเติมอีกประมาณวันละ 70 ล้านบาท หรือเดือนละ 2,000 ล้านบาท
โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 13 กันยายน 2566 ภาระหนี้มีดังนี้
- สถานะกองทุนน้ำมันติดลบ 69,085 ล้านบาท
- หนี้สินรวม 99,924 ล้านบาท (รวม LPG, LNG และน้ำมัน อาทิ น้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน)
- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีหนี้สะสม 1.5 แสนล้านบาท