×

ม่านรูดซบเซา! เปิดใจเจ้าของ PEEP INN ในวันที่คนไม่เข้าม่านรูดอีกต่อไป

14.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins read
  • เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้วหรือราวๆ พ.ศ. 2530-2535 ธุรกิจโรงแรมม่านรูดในประเทศไทยเฟื่องฟูมากๆ แต่การเข้ามาของอสังหาริมทรัพย์อย่างคอนโดมิเนียม​ อพาร์ตเมนต์ โฮสเทล​ หอพัก ตลอดจน Airbnb ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย จึงทำให้โมเทลค่อยๆ เสื่อมถอยลง
  • ในอดีตช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ ลอยกระทง และวันปีใหม่ ถือเป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจโรงแรมม่านรูด เพราะมีแขกผู้ใช้บริการเต็มตลอดทั้งวัน แต่ปัจจุบันจำนวนลูกค้าในช่วงเทศกาลสำคัญเพิ่มขึ้นจากวันปกติแค่ 20% เท่านั้น
  • นอกจากจะดำเนินกิจการม่านรูด สรัญ​ ลิ้มสวัสดิ์วงศ์ ยังหันมาทำธุรกิจโรงแรมหรู 5 ดาวในเครือ S Hotel ด้วย และถึงแม้ผลประกอบการจะห่างกัน 6 เท่า แต่รายรับโดยรวมของม่านรูดก็ยังอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ

 

“ผมยังแปลกใจเลยครับ พวกคุณดูเป็นคนรุ่นใหม่กันมาก ไม่น่าจะรู้จักธุรกิจของผม” สรัญ​ ลิ้มสวัสดิ์วงศ์ ผู้บริหารวัย 44 ปี และเจ้าของกิจการโรงแรมหรูระดับ 5 ดาวเครือ S Hotel และโรงแรมม่านรูดปีป อินน์ (PEEP INN) เอ่ยคำทักทายกับเรา

 

 

‘ธุรกิจ’ ที่สรัญว่าคงไม่ได้หมายถึง S Hotel แน่ๆ เพราะกิจการโรงแรมหรูของเขาเพิ่งจะดำเนินมาได้เกือบ 10 ปีเท่านั้น แต่ ‘ธุรกิจ’ ในบริบทนี้หมายถึง ปีป อินน์ กิจการโรงแรมม่านรูด (Motel) ที่คุณพ่อของเขา วิชัย ลิ้มสวัสดิ์วงศ์ เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมา

 

หากใครเกิดทันช่วง พ.ศ. 2530-2535 คงจะพอทราบว่ากิจการม่านรูดในประเทศไทยช่วงนั้นเฟื่องฟูและได้รับความนิยมมากๆ ชนิดที่ว่าคิวจองใช้บริการช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ แน่นเอี้ยดเต็มตลอดทั้งวัน ถึงขนาดที่เคยเกิดปรากฏการณ์บรรดาแม่บ้าน เมียหลวง และนักข่าวมานั่งเฝ้าสังเกตการณ์หน้าโรงแรมแต่ละแห่งมาแล้ว!

 

กาลเวลาผ่านไปเกือบ 3 ทศวรรษ ธุรกิจโรงแรมม่านรูดที่เคยมีลูกค้าแวะเวียนเข้ามาใช้บริการไม่ขาดสายในวันนั้น วันนี้กลับทำได้เต็มที่ก็แค่ ‘ประคองตัว’ ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยได้รับบาดแผลเหวอะหวะจากพิษเศรษฐกิจจนต้องปิดตัวไปในที่สุด เราจึงชวนสรัญมาแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นของเขาผ่านประสบการณ์บริหารกิจการปีป อินน์ ที่ผ่านมาหมดแล้วทั้งยุคเฟื่องฟู ถดถอย ไปจนถึงช่วงเวลาของการปรับตัวและแตกไลน์ไปทำธุรกิจอื่นๆ เฉกเช่นที่กำลังเป็นไปในปัจจุบัน

 

 

อดีตหอมหวานของโรงแรมม่านรูดกับบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

สรัญรำลึกความหลัง ย้อนความเล่าให้เราฟังว่า เมื่อประมาณ 40 กว่าปีที่แล้ว (ช่วง พ.ศ.​ 2520) พ่อของเขาได้เปิดกิจการโรงแรมม่านรูดในชื่อ ปีป อินน์ ขึ้นมา เนื่องจากที่บ้านของเขาประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมาก่อน ส่งผลให้ต้องต้อนรับขับสู้แขกผู้ใหญ่อยู่เป็นประจำ

 

“ช่วงนั้นคุณพ่อเลยคิดอยากจะทำธุรกิจโรงแรม แต่ก็ไม่ได้ตั้งใจจะทำเป็นโรงแรมม่านรูดเลยนะ แค่อยากจะยกเกรดและระดับของโรงแรมแบบนั้นให้มันดีขึ้น จำได้เลยว่าสมัยก่อนค่าพักห้องชั่วคราว 3 ชั่วโมงไม่ถึง 100 บาทด้วยซ้ำ

 

สิ่งที่ทำให้ ปีป อินน์ แตกต่างจากโรงแรมม่านรูดแบรนด์อื่นๆ ในเวลานั้นคือดีไซน์การออกแบบตัวห้องที่แปลกใหม่ โดยทุกครั้งที่จะสร้างม่านรูด คุณวิชัยจะลงทุนพาดีไซเนอร์เดินทางไปดูสไตล์การออกแบบห้องพักไกลถึงประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการให้ความสำคัญกับระบบความปลอดภัยด้านอัคคีภัย ระบบทำน้ำร้อน ตลอดจนระบบทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศ

 

ราวๆ ปี พ.ศ. 2530-2535 น่าจะเป็นช่วงเวลาที่พีกสุดๆ ของกิจการม่านรูดในประเทศไทย เจ้าของธุรกิจประเภทนี้สามารถทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจนนำไปสู่การจัดตั้งสมาคมเป็นผู้ประกอบการจริงจัง มีการนัดพบปะสังสรรค์กันเป็นเรื่องเป็นราว เช่นเดียวกับ ปีป อินน์ ที่สามารถขยายกิจการได้มากถึง 4 สาขา ทั้งรัตนาธิเบศร์ รัชดา หัวหมาก และสุขุมวิท 33 มีจำนวนห้องพักรวม 800 ห้อง ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าอยู่ดี

 

 

เมื่ออสังหาริมทรัพย์จำพวกคอนโดมิเนียม​ อพาร์ตเมนต์ โฮสเทล และหอพักเริ่มผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ความนิยมของโรงแรมม่านรูดจึงค่อยๆ ‘รูด’ ถอยลงสวนทางกัน โมเทลหลายแห่งในตัวเมืองจำต้องปิดตัวลง บ้างก็ไปฝังตัวอยู่ตามชานเมือง ไม่ต่างจากผู้ประกอบการหลายเจ้าที่หันไปประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ แทน

 

“ผมว่ามันถดถอยมาเรื่อยๆ จนถึงจังหวะที่เรารู้ว่ามันคงที่แล้ว อย่างตอนนี้ ปีป อินน์ ก็เปิดให้บริการแค่ 3 สาขา รัชดา หัวหมาก รัตนาธิเบศร์ มีห้องเหลือให้บริการประมาณ 200-300 ห้อง จำนวนลูกค้ารวม 3 แห่งเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ประมาณ 200 ห้องขึ้นไป ซึ่งถือว่าน้อยลงจากเมื่อก่อนมาก จาก 100% สัดส่วนก็อาจจะลดลงมาเหลือ 35% เท่านั้น” สรัญบอก

 

ปัจจุบันค่าบริการเข้าพักโรงแรมปีป อินน์ 3 ชั่วโมงอยู่ที่ 1,000 บาท โดยในแต่ละปี ธุรกิจนี้จะทำเงินให้เขาได้กว่า 100 ล้านบาท (ยังไม่หักลบต้นทุน กำไร ขาดทุน) ขณะที่เงินสะพัดโดยรวมของธุรกิจม่านรูดในไทยจะอยู่ที่ประมาณปีละ 900 ล้านบาท

 

 

ภาพความคึกคักที่เปลี่ยนไปของเทศกาลสำคัญและบริการโรงแรมม่านรูด

ทุกๆ ช่วงเทศกาลสำคัญของปีจะมีลูกค้าเข้ามาจับจองใช้บริการโรงแรมม่านรูดแบบไม่ว่างเว้น เรียกว่า วาเลนไทน์ ลอยกระทง หรือวันปีใหม่เมื่อไร เจ้าของกิจการม่านรูดจะต้องวางระบบจัดการและคอยตระเตรียมงานกันแบบทุ่มสุดตัวทุกครั้ง เพราะถือเป็นช่วงไฮซีซันและกอบโกยรายได้ขนาดมหาศาล แต่ภาพเหล่านี้คงไม่มีให้เห็นอีกแล้วในปัจจุบัน

 

สรัญบอกว่า “เปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบันนี่ถือว่าแตกต่างกันมากนะครับ สมัยก่อนช่วงวาเลนไทน์ผมต้องอยู่เฝ้าโรงแรม คอยเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ของห้องพักเป็นจำนวนมาก เมื่อก่อนวันที่ 13 กุมภาพันธ์เราต้องเตรียมความพร้อมเหมือนจะมีงานใหญ่กันเลย ต้องเตรียมผ้าขนหนู ปลอกหมอนประมาณ 400-500 ผืน แต่ปัจจุบันมันก็เป็นแค่อีกวันหนึ่งเท่านั้น อาจจะเพิ่มตัวเลขลูกค้าจากวันธรรมดาขึ้นมาแค่ 20% แต่ก็ถือว่าไม่ได้แตกต่างกันมาก ก็ปกติๆ ทั่วไป”

 

 

ผลสำรวจการใช้จ่ายของคนไทยในช่วงวันวาเลนไทน์ 2561 ที่จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ปีนี้คนไทยจะใช้เงินซื้อสินค้าและบริการให้กับคนรักเฉลี่ยประมาณ 1,490 บาท/คน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 156 บาท พร้อมคาดการณ์ว่ามูลค่าเงินสะพัดในปีนี้อาจจะสูงเกือบ 3,822 ล้านบาท

 

ที่น่าสนใจคือตัวอย่างจากผลสำรวจส่วนใหญ่มองว่าโรงแรมม่านรูดน่าจะเป็นสถานที่ที่คู่รักวัยรุ่นจะเลือกไปฉลองวาเลนไทน์ด้วยการมีเพศสัมพันธ์กันมากที่สุดถึง 31.3% รองลงมาคือห้องพักรายวัน (16.4%) หอพัก (15.9%) อพาร์ตเมนต์ (15.2%) บ้านที่ไม่มีคนอยู่ (13.8%) และสวนสาธารณะ (7.2%)

 

อย่างไรก็ดี สรัญมองว่าตัวเลขจากผลสำรวจดังกล่าวอาจจะดูสูงเกินความเป็นจริง โดยเฉพาะเมื่อนำมาวัดกับคะแนนความนิยมของการใช้บริการโรงแรมม่านรูดในปัจจุบัน “กลุ่มลูกค้าสมัยนี้ที่ยังรู้จักและใช้บริการโรงแรมประเภทนี้น่าจะอายุ 40 ปีขึ้นไปกันแล้ว รุ่นอายุ 20-30 ปีนี่เห็นน้อยมากๆ ไม่น่าจะถึง 30% เพราะว่าเทรนด์มันเปลี่ยนไป ทั้งการใช้งานหรือเรื่องความสะดวกสบาย คนรุ่นใหม่เขามีทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรงแรมแบบนี้แล้ว”

 

 

จากม่านรูดสู่โรงแรม 5 ดาว เปลี่ยนแปลงเพื่ออยู่รอดและลมหายใจเฮือกสำคัญ

ช่วงแรกๆ ที่ความนิยมของโรงแรมม่านรูดเริ่มถอยหลังลงเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว ม่านรูดหลายแห่งต่างก็ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่โดยใช้วิธีที่เหมือนๆ กัน เช่น การเปลี่ยนสไตล์ ดีไซน์การออกแบบห้องในธีมบรรยากาศที่แปลกใหม่ อย่างสนามมวย ห้องอวกาศ ห้องรถถัง ห้องรถตู้ ฯลฯ

 

“มันก็เป็นธีมครับ คนเริ่มหาความแตกต่าง อยากจะเปลี่ยนบรรยากาศ ผู้ประกอบการเลยต้องขายบรรยากาศที่ต่างออกไป เลยมีธีมประจำของแต่ละห้อง ตอนนั้นต้องแข่งกันที่ธีม แต่พอมาถึงวันนี้เทรนด์มันก็ไม่ใช่เรื่องของ ‘ธีม’ แล้ว ผมมองว่าคนส่วนใหญ่เขามองหาความสะดวก ความสะอาด และความปลอดภัย ไม่ต้องมีสีสันหรืออะไรมากนัก”

 

ประมาณปี 2550 สรัญและครอบครัวเริ่มมองหาความท้าทายครั้งสำคัญ โดยหันมาจับธุรกิจโรงแรม 5 ดาวในตระกูล ‘S’ (ตามมาด้วยเลขซอยในพิกัดที่ตั้ง) และเปิดให้บริการที่โรงแรม S15 (สุขุมวิท 15) เป็นที่แรก ก่อนที่ต่อมาจะกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนของปีป อินน์ รัชดาให้กลายเป็น ‘โรงแรม S รัชดา’ เพื่อรีโนเวตพื้นที่ที่ไม่ใช้งานมารองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนแทน

 

 

“เมื่อก่อนปีป อินน์ รัชดามี 400 ห้อง แต่ทุกวันนี้เราเปิดให้บริการไม่ถึงจำนวนนั้น ใช้แค่ประมาณ 90-100 ห้องต่อวัน มันก็เลยเหลือที่ว่างส่วนอื่นๆ เราเลยเปลี่ยนมันมาเป็นโรงแรมที่พักที่ไม่ใช่ม่านรูด ตอนทำนี่สนุกกว่าการสร้างตึกใหม่ขึ้นมาอีก เพราะการสร้างตึกใหม่เราสามารถออกแบบอะไรๆ ได้เลย แต่การรีโนเวตมันต้องเอาโครงเดิมที่เป็นม่านรูดมาก่อนมาประยุกต์ให้กลายเป็นห้องพัก

 

“พอเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ มันก็ทำเงินให้เรามากขึ้น เพราะเราศึกษามาแล้วว่ารัชดามีนักท่องเที่ยวจีนเป็นจำนวนมาก ส่วนโรงแรมม่านรูดปีป อินน์ ก็ยังเปิดให้บริการควบคู่ไปด้วยกันอยู่”

 

สรัญยังบอกเราอีกด้วยว่าตอนนี้โรงแรมในเครือ S Hotel มีแพลนจะขยายต่อในสาขาที่ 6 และจะทำให้จำนวนห้องพักที่มีอยู่ในปัจจุบันจาก 500 ห้องเพิ่มขึ้นเป็น 900 ห้อง ด้านตัวเลขผลประกอบการในพอร์ต ณ ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 600 ล้านบาท/ปี

 

และเมื่อนำรายได้แบบกลมๆ ของทั้งปีป อินน์ และ S Hotel มาเปรียบเทียบกันแบบคร่าวๆ จะพบว่าต่างกันมากถึง 6 เท่าตัว! แต่เมื่อคำนวณด้วยการหักลบต้นทุนค่าดำเนินการจริงๆ แล้วกลับพบว่าโรงแรมม่านรูดมีค่าประกอบการถูกกว่าโรงแรม 5 ดาวด้วยซ้ำ

 

“โรงแรมพวกนั้น (ม่านรูด) คนมาใช้บริการในระยะเวลาที่สั้น กลับกันพนักงานที่ต้องให้บริการในโรงแรม 5 ดาวต้องใช้จำนวนมากกว่า อย่างแขก 2 ท่านก็ต้องมีบริกร 1 คนโดยเฉลี่ยคอยให้บริการ แต่ม่านรูดเนี่ย ห้องพัก 10 ห้อง แขก 20 คน พนักงานคนเดียวก็สบายแล้ว”

 

 

“ตราบใดที่ยังมีลูกค้า ผมก็คิดว่าจะทำต่อไป”

เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ของบริการม่านรูดปีป อินน์ ในปัจจุบันจะอยู่ในช่วงวัย 40 ปีเป็นหลัก นานวันเข้ากลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้อาจจะมีกำลังซื้อน้อยลงเรื่อยๆ และเริ่มหายไปตามกาลเวลา ถึงอย่างนั้นสรัญก็บอกกับเราว่า เขาตั้งใจจะประกอบกิจการม่านรูดนี้ต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นสิ่งที่พ่อเขารัก และก่อร่างสร้างฐานขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรง

 

“ตราบใดที่ยังมีกลุ่มลูกค้า ผมก็ยังคิดว่าจะทำต่อไป ด้วยความรักในสิ่งที่พ่อเราทำมาด้วยมั้ง แต่จำนวนพอร์ตก็จะกลายเป็นส่วนที่เล็กลงไปเรื่อยๆ (ผลประกอบการ) มันก็ยังไปได้อยู่แหละ แต่ไม่มั่นใจว่าอีกสัก 20 ปีจะเป็นอย่างไร เพราะกลุ่มลูกค้าที่อายุ 40 ปีของเรา เขาก็จะอายุมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ไม่มีลูกค้ากลุ่มใหม่มาเสริม

 

 

“ถ้าเปรียบเทียบในระยะยาวผมว่ายังไงโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยวก็ทำเงินได้มากกว่าอยู่แล้ว แต่ถามว่าทำไมผมถึงยังทำธุรกิจม่านรูดปีป อินน์ อยู่ ผมมองว่า ในเมื่อเราทำให้คนรู้จักเราจากธุรกิจนี้ เราก็ควรจะเก็บมันไว้ เพราะมันก็ยังทำเงินให้เราได้”

 

ปัจจัยสำคัญที่สรัญเชื่อว่าจะทำให้ผู้ประกอบการกิจการม่านรูดในปัจจุบันยังอยู่รอดได้คือ ‘ความพร้อมที่จะปรับตัวและเปลี่ยนแปลง’ เมื่อไลฟ์สไตล์ของผู้คนเปลี่ยนไป ม่านรูดอาจจะไม่ใช่แค่สถานที่ประกอบกิจกรรมรักอีกแล้ว โดยอาจจะตีโจทย์ใหม่ให้เป็นที่พักชั่วคราว เซฟเฮาส์ ฯลฯ

 

“เราต้องเปลี่ยนคีย์ว่าตัวเองไม่ใช่โรงแรมม่านรูดอีกต่อไป ต้องวางโพสิชันนิ่งตัวเองใหม่ หรือมองเทรนด์ใหม่ๆ ของการให้บริการ มันอาจจะกลายเป็นจุดแวะพักหรือสถานที่เพื่อให้คนได้มารีเฟรชตัวเอง รองรับคนที่กลับบ้านไม่ทันหรือดื่มแอลกอฮอล์มาแล้วกลับบ้านไม่ไหว มันยังมีเซกเมนต์อื่นๆ ที่เราสามารถเข้าไปทำธุรกิจได้อีกมาก”

FYI
  • Motel มาจากการประสมคำของ Motor และ Hotel โดยส่วนใหญ่โรงแรมม่านรูดในต่างประเทศจะเน้นการใช้งานคล้ายจุดจอดรถแวะพักชั่วคราวราคาถูกเป็นหลัก มากกว่าสถานที่ประกอบกิจกรรมทางเพศ แต่ละแห่งไม่ได้มีม่านปิดและเป็นลานจอดรถกว้างๆ พร้อมอาคารที่พักซึ่งถูกจัดสรรแยกเป็นห้องๆ
  • ทุกๆ 5 ปีโรงแรมม่านรูดจะทำการรีโนเวตเพื่อปรับปรุงสภาพห้อง เนื่องจากแต่ละวันห้องต่างๆ มีอัตราการเข้าใช้งานที่สูง ต่างจากโรงแรม 5 ดาวที่จะใช้ระยะเวลา 8 ปีต่อการรีโนเวตห้องครั้งหนึ่ง
  • พนักงานโรงแรมม่านรูดต้องทำตัวเหมือนเป็น ‘นินจา’ พร้อมหายตัวและปรากฏตัวทุกครั้งที่ลูกค้าเรียกหา
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X