วันนี้ (24 กุมภาพันธ์) รอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงการลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในรอบเกือบ 20 ปี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่า จากการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการลงพื้นที่ตลอดทั้งวัน พบว่าข้อความในทางการเมืองที่อดีตนายกรัฐมนตรีต้องการจะสื่อสารต่อประชาชนในพื้นที่นั้นเป็นเรื่องที่เน้นในมิติทางการเมืองและความมั่นคงเป็นด้านหลัก แตกต่างไปจากนายกรัฐมนตรีทั้งสองคนที่เคยลงพื้นที่ชายแดนใต้ก่อนหน้านี้ ซึ่งทั้งนายกฯ เศรษฐา และนายกฯ แพทองธาร จะเน้นหนักไปที่ประเด็นในทางเศรษฐกิจและการพัฒนา โดยหลีกเลี่ยงที่จะสื่อสารในประเด็นข้างต้นอย่างจงใจตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
“ประเด็นที่ดูจะแหลมคมนี้จึงเป็นหน้าที่ของคุณทักษิณ ที่แม้ว่าจะเดินทางลงพื้นที่ในหมวกของที่ปรึกษาประธานอาเซียนและอดีตนายกรัฐมนตรี แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่เป็นตัวจริงในการกำหนดทิศทางของงานด้านความมั่นคงของรัฐบาลปัจจุบัน”
รอมฎอนมองว่า ข้อความทางการเมืองที่สำคัญที่สุดเห็นจะได้แก่การขออภัยต่อการบริหารงานที่ผิดพลาดในสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประเด็นคาใจประชาชนในพื้นที่มาโดยตลอด ดูเหมือนว่าทักษิณจะเน้นย้ำเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นการกล่าวซ้ำๆ กันถึง 3 ครั้งในการเยือนสถานที่ซึ่งแตกต่างกัน 3 จุดในวันเดียวกัน นั่นก็คือที่โรงเรียนสัมพันธ์วิทยา จังหวัดนราธิวาส, โรงเรียนสายบุรีอิสลามวิทยา จังหวัดปัตตานี และที่บ้านศรียะลาของประธานรัฐสภาที่จังหวัดยะลา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่ซึ่งมีนัยทางการเมืองอย่างมาก
การกล่าวคำขออภัยเช่นนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะทักษิณเคยกล่าวถ้อยคำในลักษณะเช่นนี้มาแล้วในรายการสนทนาออนไลน์เมื่อวันครบรอบ 18 ปีเหตุการณ์ตากใบในปี 2565 ความจริงใจในการขอโทษมี 2 องค์ประกอบหลัก คือ คำพูดและการกระทำ นอกจากนี่จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ทักษิณขอโทษแล้ว การกระทำของรัฐบาลยังสะท้อนความไม่จริงใจ
เมื่อพิจารณาว่าเป็นคำกล่าวในช่วงที่อายุความของคดีตากใบสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หรือผ่านมาแล้ว 4 เดือนท่ามกลางคำถามที่ว่ารัฐบาลพยายามมากเพียงพอหรือไม่ที่จะโน้มน้าวให้จำเลยที่ประชาชนผู้เสียหายฟ้องร้องดำเนินคดีที่ศาลประทับรับฟ้องแล้วให้เดินทางไปเบิกตัวต่อศาล คำถามที่ว่านี้พุ่งตรงไปที่รัฐบาลปัจจุบัน เนื่องจากจำเลยคนสำคัญมีสถานะเป็น สส. ของพรรคเพื่อไทยเอง
นอกจากนี้การที่ทักษิณพูดว่าเหตุการณ์ตากใบเป็นความผิดพลาดในการทำงาน ยังเป็นการลดทอนความสำคัญของรากเหง้าปัญหา แล้วยังเรียกร้องฝ่ายเดียวให้ประชาชนให้อภัย โดยไม่ได้พูดสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรให้เกิดสันติภาพในพื้นที่
รอมฎอนกล่าวต่อไปว่า ทักษิณยังเน้นย้ำหลายครั้งถึงสถานะของการพูดคุยสันติภาพและทิศทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้กรอบคิดและยุทธศาสตร์ใหม่ ซึ่งพบว่าทักษิณย้ำถึงความสำคัญของการพูดคุยและที่มาที่ไปของการริเริ่มการพูดคุยสันติภาพในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ตนมีส่วนร่วมอย่างสำคัญ แต่ก็มีลักษณะที่คลุมเครือและไม่ชัดเจน
แม้ว่าจะเน้นย้ำว่าภายในปีนี้ (2568) จะเห็นสัญญาณเชิงบวกและปัญหาจะต้องจบภายในปีหน้า (2569) แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะผลักดันและขับเคลื่อนไปอย่างไร กรณีการปัดฝุ่นนำแนวทางของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 กลับมาใช้ก็ระบุเพียงแค่ว่าเป็นแนวทางที่ต้องมีการหารือกันอีก
ในขณะที่การสร้างมุ่งความร่วมมือในพื้นที่นั้นจะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อมีนิติสงครามและการฟ้องร้องปิดปากที่ยังดำเนินอยู่ ส่วนความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านที่แม้จะระบุว่าผู้นำหลายประเทศได้แสดงเจตจำนงในการให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะอดีตรองประธานาธิบดีอินโดนีเซีย แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนบรรดาผู้นำเหล่านั้นจะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพอย่างไร
“คุณทักษิณส่งสัญญาณว่าจะต้องจบ แต่ก็ไม่ได้ให้ความมั่นใจว่าจะเดินไปในทิศทางใด การพูดคุยสันติภาพที่จะนำไปสู่สันติสุขนั้นจะหมายถึงการบรรลุถึงข้อตกลงสันติภาพหรือไม่ หรือเป็นเพียงการพูดคุยกันเฉยๆ โดยไม่ได้คาดหวังถึงความคืบหน้าใดๆ ตรงนี้ไม่ชัดเจน คำถามก็คือคำว่าจบในความหมายนี้คืออะไร สิ่งนี้ยังคงคลุมเครือ ซึ่งอาจจะสะท้อนความไม่จริงใจ หรือไม่มีเจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้จริงๆ”
รอมฎอนกล่าวด้วยว่าสิ่งที่ทักษิณสื่อสารนั้นแตกต่างไปจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน แต่ปัญหาก็คือเป็นคำกล่าวของบุคคลที่ไม่ได้มีความรับผิดรับชอบหรือตำแหน่งทางการในระบบการเมือง ด้วยเหตุนี้ตนและพรรคประชาชนจะต้องติดตามและสอบถามรายละเอียดต่อรัฐบาลและผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวกับทิศทางในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
โดยในวันพฤหัสบดีนี้ตนได้เสนอบรรจุวาระการประชุมของคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ เพื่อพิจารณาสถานะของกระบวนการพูดคุยสันติภาพและยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ใหม่ของรัฐบาล โดยเชิญรองนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง และหวังว่าจะได้หารือและรับทราบสาระสำคัญที่รัฐบาลกำลังคิดและดำเนินการอยู่จริง