×

แผน 10 ปี กฟภ. ทุ่ม 2 แสนล้านบาท พัฒนา Smart Grid ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ AI-Data Center

โดย THE STANDARD TEAM
15.11.2024
  • LOADING...

วันนี้ (15 พฤศจิกายน) ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024: BRAVE NEW WORLD เศรษฐกิจไทย ไล่กวดโลกใหม่ ภายใต้หัวข้อ Smart Grid: Enablers of the New Economy โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ ศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า ในปี 2556 กฟภ. ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์องค์กรใหม่เพื่อรองรับสถานการณ์ ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘ไฟฟ้าอัจฉริยะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน’ โดยมีระบบการจำหน่ายไฟฟ้าที่มีความเป็นอัจฉริยะ หรือโครงข่าย Smart Grid มีโครงข่ายระบบไฟฟ้าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งครอบคลุมคนส่วนใหญ่ของประเทศทั้งผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศและประชาชนในชนบท ซึ่งจะมีส่วนทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

 

โดยโครงข่าย Smart Grid เตรียมความพร้อมไว้ภายใต้ 5 เสาหลัก ดังนี้

 

  1. Microgrid Energy Management System
  2. Energy Trading Platform
  3. Power Conversion System
  4. Microgrid Controller
  5. Utility Interconnection

 

โดยจะเข้ามาแก้ปัญหาระบบจำหน่ายไฟฟ้าและรองรับเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่เข้ามาลงทุนในอนาคต ซึ่งมีความต้องการใช้พลังงานสะอาด โดยประเมินว่าในช่วง 10 ปีข้างหน้า กฟภ. จะใช้เงินลงทุนเพื่อพัฒนาระบบดังกล่าวรวมประมาณ 2 แสนล้านบาท

 

ปัจจุบัน กฟภ. ดูแลพื้นที่ระบบจำหน่ายไฟฟ้าใน 74 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยปัจจุบันกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความหลากหลายมาก ที่ผ่านมา กฟภ. เตรียมความพร้อมโดยการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อรองรับเมกะเทรนด์โลกที่มีความต้องการใช้พลังงานสะอาด 

 

ทั้งประชาชนทั่วไปรวมถึงภาคธุรกิจ โดยเฉพาะจากกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายเชิญชวนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเริ่มทยอยลงทุนในไทยเพิ่มตั้งแต่ปี 2566 เช่น บริษัทกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ AI และ Data Center รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เข้ามามีบทบาทในประเทศไทยมากขึ้น โดยมีความต้องการ EV ในประเทศที่เติบโตเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ (Exponential)

 

ทั้งนี้ มีบริษัทธุรกิจด้าน Data Center ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเข้ามาติดต่อให้ กฟภ. จัดหาพลังงานไฟฟ้าสะอาดขนาด 100 เมกะวัตต์ โดย กฟภ. ช่วยวางแผนแบบครบวงจร หรือให้บริการแบบ One Stop Service โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 

 

ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เป็นหน่วยการใช้ไฟฟ้าในเดือนกรกฎาคมปีนี้ มียอดจำหน่ายไฟฟ้าให้กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อยู่ที่ 611.3 ล้านหน่วย เติบโต 19.96% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งประเมินว่าความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาดรวมของอุตสาหกรรม Data Center แต่ละปีในอนาคตจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์

 

นอกจากนี้ยังเตรียมพร้อมรองรับพลังงานสะอาด ซึ่ง กฟภ. มั่นใจว่าสามารถจัดหาได้เพียงพอกับความต้องการใช้ที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากแผนงานที่เตรียมความพร้อมไว้แล้ว พร้อมทั้งคาดว่าจากความร่วมมือของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลาดซื้อขายพลังงานสะอาดจะเกิดขึ้นภายใน 2 ปีนี้

 

“ลูกค้ากลุ่ม Data Center เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนในไทย มีความต้องการใช้พลังงานสะอาดเป็นจำนวนมาก มีความต้องการความเพียงพอและความน่าเชื่อถือ เพราะเทคโนโลยีของ Data Center ตอบสนองต่อไฟฟ้าได้เร็วมาก ต้องการใช้พลังงานสะอาดจำนวนมาก ซึ่งไฟฟ้าจะมาหยุดๆ ดับๆ ไม่ได้เลย โดยระบบ Smart Grid ของ กฟภ. จะช่วยวางแผนบริหารจัดการด้านพลังงานให้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ได้แบบ One Stop Service”

 

นอกจากนี้ยังปรับเปลี่ยนระบบจำหน่ายไฟฟ้าจาก One-Way ไปสู่แบบ Two-Way ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตไฟฟ้าสามารถขายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรงได้แล้วในบางพื้นที่ 

 

อีกทั้งในอนาคตผู้ใช้ EV ที่ติดตั้งระบบโซลาร์เพื่อใช้เองยังสามารถขายไฟฟ้าที่เหลือจากการผลิตเพื่อใช้เองให้กับ กฟภ. ได้อีกด้วย

 

ศุภชัยกล่าวต่อว่า กฟภ. กำลังจะเปลี่ยนแปลงระบบหม้อแปลงธรรมดามาเป็นหม้อแปลงอัจฉริยะ หรือหม้อแปลงไฟฟ้าที่ใช้ระบบ IIoT (Industrial Internet of Things) ซึ่งจะติดตั้งใช้งานในปี 2568 เพื่อเข้ามาช่วยบริหารจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าแบบครบวงจร และช่วยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ทำให้ทราบถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ สามารถแก้ปัญหาความไม่สมดุลของการจำหน่ายไฟฟ้า รวมทั้งช่วยป้องกันปัญหาไฟฟ้าตกได้ด้วยระบบ Micro Grid หรือ Smart Grid ช่วยให้บริหารการจำหน่ายไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสมในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

 

“ตัวอย่างของระบบ Micro Grid เกิดขึ้นแล้วที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา หลังนำมาใช้งานตอนนี้ไม่มีปัญหาไฟฟ้าตกหรือไฟกะพริบในพื้นที่แล้ว โดยระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟภ. ที่นำมาใช้คือ Smart Grid สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ไฟฟ้าตกหรือดับ ไฟฟ้าไม่พอใช้ เช่น พื้นที่เกาะ ได้แล้ว”

 

นอกจากนี้ ปัจจุบัน กฟภ. ยังติดตั้งสถานีชาร์จ EV บนเส้นทางหลักแล้วจำนวน 413 สถานี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้ EV ว่าระหว่างการเดินทางจะมีจุดชาร์จไฟฟ้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising