×

แผน PDP 2024 ยังไม่สะเด็ดน้ำ! ราคาค่าไฟไม่ใช่ 3.80 บาท/หน่วย รัฐบาลยังแบกหนี้ กฟผ. อยู่กว่าแสนล้าน

17.06.2024
  • LOADING...

พลังงานเผยแผน PDP 2024 ยังไม่นิ่ง! ปลัดพลังงานย้ำ รับฟังทุกภาคส่วน หวังเพิ่มพลังงานหมุนเวียนลดคาร์บอน ปรับแผนเพิ่มโซลาร์ใหม่เป็น 10,000 เมกะวัตต์แรกให้เร็วขึ้นเป็นภายในปี 2573 ยืนยันก๊าซธรรมชาติยังเป็นเชื้อเพลิงหลัก ยังไม่เคาะราคาค่าไฟที่ 3.80 บาทต่อหน่วย เหตุต้องคืนหนี้ กฟผ. อีก30 สตางค์ต่อหน่วย ยังแบกหนี้ กฟผ. อยู่กว่าแสนล้านบาท

 

พร้อมย้ำว่าเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาครัฐและภาคเอกชนในกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานไปแล้ว ส่วนในระยะต่อไปจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน ก่อนที่จะนำความเห็นทั้งหมดมาพิจารณา โดยคาดว่าจะประกาศใช้เดือนกันยายน 2567

 

วันนี้ (17 มิถุนายน) ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024) ว่าขณะนี้กระทรวงพลังงานยังอยู่ในระหว่างจัดทำแผน ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้รับฟังความคิดเห็นต่อแผนจากภาครัฐและภาคเอกชนในกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจพลังงาน

 

ในระยะต่อไปจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนก่อนที่จะนำความเห็นทั้งหมดมาพิจารณาปรับปรุงเป็นแผน PDP 2024 ฉบับสมบูรณ์ และเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาต่อไป

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ประเสริฐระบุว่า การจัดทำแผน PDP 2024 จะมุ่งเน้นตอบโจทย์ในเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ไทยประกาศเป้าหมายในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) โดยมีเป้าหมายในการเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2608 รวมทั้งพิจารณาถึงเป้าหมาย 40% ของแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี 2564-2573 (Thailand’s Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021- 2030: NDC)

 

เร่งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์

 

ดังนั้นแผน PDP 2024 ที่จะประกาศใช้จะกำหนดให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นและเร็วขึ้น เช่น เร่งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่จากเดิมที่กำหนดให้เข้าระบบรวม 24,000 เมกะวัตต์หลังปี 2573 ให้เร็วขึ้น

 

ปรับเป็นให้มีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่เข้าระบบ 10,000 เมกะวัตต์แรกก่อนปี 2573 ส่วนที่เหลืออีก 14,000 เมกะวัตต์จะเข้าระบบหลังปี 2573 เป็นต้นไป เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

 

นอกจากลดการปล่อยคาร์บอนได้ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นยังช่วยให้ค่าไฟฟ้าของไทยมีราคาคงที่ไม่ผันผวน เนื่องจากไม่มีปัจจัยความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงตามตลาดโลก การเพิ่มขึ้นของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จึงไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในอนาคต

 

ประเสริฐย้ำว่า จะพิจารณาปัจจัยเรื่องของการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น แผน PDP 2024 จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยสำคัญอื่นๆ ได้แก่ โอกาสการเกิดไฟฟ้าดับ โดยพิจารณาจากเกณฑ์ ‘LOLE’ โดยมีมาตรฐานว่าไฟฟ้าจะดับได้ไม่เกิน 0.7 วันต่อปี

 

หมายความว่า “แม้จะส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่กระทรวงพลังงานก็ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องของเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าด้วย โดยการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติยังถือว่าเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ”

 

ลุ้นผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณเพิ่ม 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ช่วยลดค่าไฟและลดการนำเข้า

 

ส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่ใช้แหล่งเชื้อเพลิงภายในประเทศจะกลับมาเป็นปกติ หลังจากแหล่งก๊าซเอราวัณสามารถเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจนกลับมาอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ จะช่วยทำให้ค่าไฟฟ้าในประเทศคงที่ ไม่ผันผวนไปตามราคาต้นทุนเชื้อเพลิงที่มาจากการนำเข้าก๊าซ LNG เหมือนที่ผ่านมา

 

ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นก็จริงแต่ ยึดใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก

 

แม้แผน PDP 2024 จะมุ่งเน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่ก๊าซธรรมชาติยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากในช่วงที่พลังงานหมุนเวียนต่างๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เนื่องจากธรรมชาติไม่เอื้ออำนวย

 

“เชื้อเพลิงที่ดีที่สุดก็ยังคงเป็นเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่สร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้า ซึ่งในต่างประเทศก็ใช้แนวทางนี้เช่นกัน เพราะเป็นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนเต็มที่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าทั้งจากก๊าซธรรมชาติและการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหมุนเวียนควบคู่กันไป”

 

ยังไม่เคาะราคาค่าไฟ หวั่นหนี้คงค้าง กฟผ. แสนล้านบาทอ่วม

 

ปลัดกระทรวงพลังงานระบุอีกว่า จากกระแสข่าวที่ว่าค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผน PDP 2024 จะอยู่ที่ 3.80 บาทต่อหน่วยนั้น ในเรื่องนี้ยังไม่สามารถที่จะสรุปอัตราค่าไฟฟ้าเช่นนั้นได้ เนื่องจากในส่วนของการคำนวณค่าไฟฟ้านั้นยังจะต้องมีการรวมหนี้ภาระค่าไฟคงค้างประมาณ 1 แสนล้านบาท ที่จะทยอยคืนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประมาณ 30 สตางค์ต่อหน่วยผ่าน Ft ด้วย จึงขอให้รอการประกาศค่าไฟฟ้าในแต่ละงวดที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้ประกาศให้ทราบเป็นระยะๆ

 

ย้อนฟังเสียงสะท้อนภาคเอกชนและประชาชน

 

รายงานข่าวระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานเปิดรับฟังความเห็นภาคเอกชน ที่มีทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม และตัวแทนจากบริษัทด้านพลังงาน

 

โดยเวทีเสวนามีความคิดเห็นในหลายประเด็น โดยเฉพาะมุมมองกรณีการกำหนดสัดส่วนการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และภาคเอกชนที่ยังไม่มีความชัดเจน รวมทั้งการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่อาจสูงเกินไป ซึ่งควรอยู่ที่ 3.50 บาทต่อหน่วย

 

อีกทั้งร่างแผน PDP 2024 นั้นหากจะใช้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงเกินไปหรือไม่ ซึ่งส่งผลต่อการคำนวณจำนวนโรงไฟฟ้าที่มากขึ้น และทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น รวมถึงกังวลว่าได้จัดทำแผน PDP 2024 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้พิจารณาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของภาครัฐและเอกชนอย่างเหมาะสมหรือไม่

 

รวมไปถึงรายละเอียดของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ก็ยังไม่ชัดเจน

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แผนยังไม่นิ่ง ต้องทำประชาพิจารณ์ให้ครบทุกมิติก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.), คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับต่อไป คาดว่าจะประกาศใช้แผน PDP 2024 ได้ภายในเดือนกันยายน 2567

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising