วันนี้ (31 ธันวาคม) ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งทั่วประเทศจำนวน 210 จุด ซึ่งครอบคลุมพื้นที่การใช้ประโยชน์ตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล 6 ประเภท
ผลการประเมินดัชนีคุณภาพน้ำทะเล (Marine Water Quality Index: MWQI) ปี 2567 มีคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งอยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 49 เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 43 เกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 6 และมีเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ร้อยละ 2
แหล่งน้ำทะเลที่มีคุณภาพน้ำทะเลดีที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่
- หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา
- หาดในหาน จังหวัดภูเก็ต
- หาดต้นไทร จังหวัดกระบี่
- อ่าวมาหยา จังหวัดกระบี่
- อ่าวโล๊ะซามะ จังหวัดกระบี่
- เกาะยูง จังหวัดกระบี่
- เกาะไก่ จังหวัดกระบี่
- หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
- หาดบางเบน จังหวัดระนอง
- บ้านทุ่งริ้น จังหวัดสตูล
ส่วนแหล่งน้ำทะเลที่มีคุณภาพน้ำทะเลเสื่อมโทรมมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่
- ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ
- โรงงานฟอกย้อม กม.35 จังหวัดสมุทรปราการ
- ปากคลอง 12 ธันวา จังหวัดสมุทรปราการ
- แหลมฉบัง ตอนใต้ จังหวัดชลบุรี
- ปากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร
ปรีญาพรกล่าวว่า คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2567) มีแนวโน้มคงที่ โดยคุณภาพน้ำทะเลอยู่ในระดับตั้งแต่พอใช้จนถึงดีมาก รวมมากกว่าร้อยละ 90 พื้นที่ที่มีค่าคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือพื้นที่อันดามัน บริเวณที่มีระดับคุณภาพน้ำทะเลเสื่อมโทรมมากอยู่ในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน
ซึ่งพารามิเตอร์ที่มีค่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานฯ มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มสารอาหารและกลุ่มแบคทีเรีย โดยปริมาณสารอาหารอาจส่งเสริมให้เกิดภาวะการเกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีได้มากขึ้น