×

คลื่นการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทเอกชนกลับมาอีกรอบ! ยอดพุ่งทะลุช่วงโควิด ไทยจะรอดหรือไม่?

23.06.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MIN READ
  • Moody’s เผยตั้งแต่ต้นปี มีบริษัททั่วโลกผิดนัดชำระหนี้ไปแล้วถึง 62 แห่ง เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากจำนวน 33 แห่งในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2020 ที่โควิดระบาดหนัก
  • ท่ามกลางปัจจัยต่างๆ รุมเร้า เช่น อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ราคาพลังงานที่ผันผวน แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มืดมน รายได้ของบริษัทที่อ่อนแอ และภาระหนี้จำนวนมาก
  • สำหรับไทยพบมีบริษัทผิดนัดชำระดอกเบี้ยและเงินต้นหุ้นกู้ไปแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL), บมจ.ช ทวี (CHO) และ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK)
  • สำหรับระยะข้างหน้า Moody’s ประเมินว่า อัตราการผิดนัดชำระของตราสารหนี้ระดับเก็งกำไร หรือหุ้นกู้ประเภทที่มีความเสี่ยงสูง ที่เรียกว่า ‘Junk bonds’ ทั่วโลกจะแตะ 5% ภายในสิ้นเดือนเมษายน ปี 2024 จากค่าเฉลี่ยระยะยาว (Long-term Average) ที่ 4.1% 

การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัททั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ โดยในไตรมาสแรกเพียงไตรมาสเดียว ยอดการผิดนัดชำระก็สูงกว่าไตรมาสใดๆ ย้อนกลับไปถึงช่วงปลายปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลหลายประเทศยังคงบังคับใช้มาตรการควบคุมการระบาดของโควิด

 

ในรายงานเดือนมิถุนายน 2023 ของ Moody’s ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก (Credit Rating Agency) แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ต้นปีจำนวนของบริษัทผิดนัดชำระหนี้ทั่วโลกอยู่ที่ 62 แห่ง โดยจำนวนนี้อยู่ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา 41 แห่ง ยุโรป 11 แห่ง ลาตินอเมริกา 7 แห่ง และอีก 2 แห่งในเอเชีย-แปซิฟิก

 

โดยตัวเลข 62 แห่งนับว่าเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากจำนวนบริษัทผิดนัดชำระหนี้ในไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 33 แห่งทั่วโลก ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 ซึ่งขณะนั้นมีเพียง 47 บริษัทเท่านั้นที่ผิดนัดชำระหนี้ โดยหนึ่งในบริษัทเหล่านั้น ได้แก่ Silicon Valley Bank และ Signature Bank

 

อย่างไรก็ตาม ตามรายงานของ Moody’s ระบุว่า แม้การผิดนัดชำระหนี้ในภาคการเงินได้รับความสนใจจำนวนมาก แต่จริงๆ แล้วการผิดนัดชำระหนี้ส่วนใหญ่ในไตรมาสแรกของปีนี้ ยังคงอยู่ในภาคที่ไม่ใช่การเงิน (Non-Financial Sectors)

 

โดยนักยุทธศาสตร์ของ Moody’s ยังระบุว่า 5 ภาคส่วนที่มีการผิดนัดชำระหนี้มากที่สุดในปีนี้ ได้แก่ ธุรกิจบริการ การดูแลสุขภาพและเวชภัณฑ์ การค้าปลีก โทรคมนาคม ตลอดจนโรงแรม เกม และสันทนาการ

 

สถานการณ์ผิดนัดชำระในไทย 

 

ทั้งนี้ Moody’s ยังไม่ได้รับความเห็นชอบให้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศไทย โดยสถาบันที่ได้รับความเห็นชอบมี 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด และบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด

 

สำหรับในประเทศไทย ตามข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน มีบริษัทที่ผิดนัดชำระดอกเบี้ยและเงินต้นหุ้นกู้ไปแล้ว 3 บริษัท ได้แก่ บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL), บมจ.ช ทวี (CHO) และ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK)

 

เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล Senior Director, Corporates / Funds จากฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ระบุเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ว่า ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเทศไทยได้ติดตามสถานการณ์ผิดนัดชำระมาตั้งแต่ปี 2022 แล้ว เนื่องจากเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก

 

อย่างไรก็ตามในมุมของเลิศชัยมองว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งคือสภาพคล่องในระบบค่อนข้างเยอะอยู่ ประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้แรง และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้แรงกดดันในการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางมีน้อยกว่า

 

นอกจากนี้ ในปีที่แล้วจะเห็นได้ว่ารัฐบาลไทยพยายามควบคุมต้นทุนด้านพลังงาน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ทำให้อัตราดอกเบี้ยไทยต่ำกว่าประเทศอื่นค่อนข้างเยอะ แม้กระทั่งในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ด้วยกัน เพราะฉะนั้น ปัญหาเรื่องการรีไฟแนนซ์ หรือผลกระทบจากต้นทุนการเงินที่เกิดขึ้นเทียบกันแล้ว ไทยถือว่ามีผลกระทบ แต่ ‘ไม่มาก’ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ถึงขนาดกลางที่ฟิทช์ดูแลอยู่

 

เลิศชัยกล่าวอีกว่า สถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้น่ากังวลน้อยกว่าช่วงโควิด เนื่องจากในช่วงดังกล่าวอุปสงค์ย่ำแย่แทบทุกอุตสาหกรรม รวมกับประเด็นสภาพคล่องที่น่ากังวลกว่าปัจจุบัน

 

เปิดเบื้องหลังคลื่นผิดนัดชำระระลอกใหม่

 

ในปีที่ผ่านมา หลายบริษัทกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก ไม่ว่าจะเป็น อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ราคาพลังงานที่สูง และแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่มืดมน

 

โดยในเดือนมิถุนายนนี้ Moody’s Investors Service ระบุอีกว่า การผิดนัดชำระหนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในกลุ่มบริษัทที่มีความเสี่ยง เนื่องจากธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลกน่าจะ ‘คง’ อัตราดอกเบี้ยระดับสูงสุดในรอบหลายปีไปอีกสักระยะ ท่ามกลางภาวะที่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ยกระดับความเข้มงวดในการออกสินเชื่อ หรือภาวะสินเชื่อตึงตัว (Credit Crunch)

 

ซึ่งนักกลยุทธ์หลายคนมองว่า ปัจจัยเหล่านี้จะนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น สำหรับบริษัทที่มีรายได้อ่อนแอ และมีภาระหนี้จำนวนมาก

 

จับตาอนาคตต่อจากนี้ ยอดผิดนัดชำระจะสูงขึ้นหรือไม่?

 

Moody’s คาดว่า ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกอาจจะทำให้การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทระดับเก็งกำไร (Speculative-Grade Corporate) เพิ่มขึ้นเป็น 4.6% ภายในสิ้นปีนี้ สูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว (Long-term Average) ที่ 4.1% ค่อนข้างมาก 

 

ก่อนจะแตะระดับสูงสุด (Peak) ที่ 5% ภายในสิ้นเดือนเมษายน ปี 2024 ก่อนจะผ่อนคลายลงสู่ระดับ 4.9% ในเดือนพฤษภาคม

 

ทั้งนี้ ตราสารหนี้ระดับเก็งกำไร (Speculative-Grade) หมายถึง หุ้นกู้ประเภทที่มีความเสี่ยงสูง หรือที่เรียกว่า ‘Junk bonds’ 

 

สำหรับหนึ่งในภาคส่วนที่เปราะบางที่สุดคือ ‘อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์’ หลังจากมูลค่าของอาคารสำนักงานในสหรัฐฯ และหลายพื้นที่ทั่วโลกตกต่ำลงอย่างมากในปีที่แล้ว เนื่องจากสำนักงานจำนวนมากถูกปล่อยให้ว่างเปล่า หรือถูกใช้งานไม่มากพอ เนื่องจากกระแสการทำงานระยะไกล (Remote Working) อย่างต่อเนื่อง อาจทำให้นักพัฒนาริมทรัพย์ (Developer) ผิดนัดชำระหนี้ จนนำไปสู่การขาดทุนในธนาคารเป็นโดมิโน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X