×

วิธีบริหารแกรมมี่ มิวสิค ของ ภาวิต จิตรกร เมื่อเพลงไม่ได้มีแค่ฟัง

20.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ภาวิตเชื่อว่าผู้ผลิตสื่อทุกรายต้องปรับตัว อย่างแกรมมี่เองก็ปรับตัวด้วยการกระจายคอนเทนต์ไปในทุกๆ แพลตฟอร์ม เพื่อเข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน
  • เขาคิดค้นสติกเกอร์ร้องเพลงบนแพลตฟอร์ม LINE ขึ้นมาเป็นรายแรกเพื่อต่อยอดมูลค่าคอนเทนต์เพลง โดยปีที่ผ่านมาสติกเกอร์ทั้ง 12 ชุดนี้สามารถทำรายได้มากกว่า 30 ล้านบาท
  • แกรมมี่ไม่ปิดกั้นการร่วมผลิตผลงานกับคู่แข่งเจ้าอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเพลง เพราะผู้เล่นทุกรายล้วนแล้วแต่มีส่วนผลักดันธุรกิจดนตรีให้แข็งแรงและเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

‘มะพร้าวนอกสวน’ คือนิยามที่ ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค เรียกแทนตัวเองระหว่างพูดคุยกับเรา

 

ทำไมเขาเปรียบตัวเองเช่นนั้น

 

ข้อแรก ภาวิตไม่ใช่คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเพลงมาก่อน เพราะอยู่ในวงการโฆษณามา 21 ปี ตำแหน่งก่อนหน้านี้คือกรรมการผู้จัดการ บริษัท โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

 

ข้อถัดมา เขาบอกว่าการเป็นมะพร้าวนอกสวนที่ถูกขุดมาเพาะเลี้ยงต่อในสวนกล้วยและขนุนเป็นข้อดี เพราะช่วยให้ได้เรียนรู้วิธีทำงานและคิดค้นกลยุทธ์ที่ต่างออกไปในสนามรบใหม่ๆ ที่มีความผันผวนแบบไม่รู้จบ

 

 

กลางปีที่แล้ว THE STANDARD มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นที่ผู้บริหารวัย 43 ปีคนนี้มีต่อวงการดนตรีและอุตสาหกรรมความบันเทิงไปแล้ว (คลิกอ่านที่นี่) ครั้งนี้เราขอให้เขาอัพเดตกลยุทธ์ใหม่ๆ ของแกรมมี่ มิวสิค ทัศนคติการทำธุรกิจเพลงใน พ.ศ. 2561 ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์และการ Disruption ของสื่อจากเทคโนโลยีสมัยใหม่

 

ล่าสุด 19 เมษายนที่ผ่านมา GMM Grammy และ Netflix ได้ประกาศร่วมงานอย่างเป็นทางการ นำคอนเทนต์ซีรีส์และหนังจากประเทศไทย 700 ชั่วโมง ออกอากาศบนแพลตฟอร์มสตรีมมิงวิดีโอออนดีมานด์ โดยภาวิตได้กล่าวว่าความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการเปิดศักราชสร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญให้กับคอนเทนต์ไทย

 

“เราภูมิใจและตื่นเต้นที่ฝีมือของคนไทยทั้งนักแสดง คนเขียนบท ผู้กำกับ และทีมโปรดักชันจะได้เข้าถึงผู้ชมกว่าล้านคนทั่วโลก ทีมครีเอเตอร์ในเครือ GMM Grammy จะได้นำคอนเทนต์ที่หลากหลายออกสู่สายตาของผู้ชมทั่วโลกบนแพลตฟอร์มของ Netflix ซึ่งจะสามารถดึงดูดความสนใจและทำให้ทุกคนทั่วโลกได้รู้จักวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยมากขึ้น”

ต้องบอกว่าวิธีคิดของภาวิตน่าสนใจไม่น้อย เพราะกลยุทธ์การบริหารค่ายเพลง GMM Grammy บางข้อที่เขาใช้คือการนำศาสตร์แขนงอื่นๆ มาผนวกรวมเข้ากับ ‘ศิลป์’ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรธุรกิจเพลงยักษ์ใหญ่เบอร์ 1 ของไทยได้อย่างมีชั้นเชิงและน่าศึกษาตาม

 

 

กระจายตัวไปแพลตฟอร์มใหม่ๆ ทางแยกของการเปลี่ยนแปลงหลังการเกิด Disruption

หลายปีที่ผ่านมา การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีและอิทธิพลแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียพลอยทำให้วงการสื่อทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบไปด้วยหนักเบาต่างกรรมต่างวาระกันไป เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมดนตรี

 

แม้ตลอดปี 2560 ที่ผ่านมา สมาคมผู้ประกอบกิจการเพลงของสหรัฐอเมริกา (RIAA) จะเผยข้อมูลว่ายอดขายแผ่นเสียงไวนิลและแผ่นซีดีเพลงในประเทศจะมีมูลค่ารวมกันมากกว่ายอดดาวน์โหลดเพลงแบบถูกกฎหมายที่ 1,495 ล้านเหรียญสหรัฐ : 1,330 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

แต่ในความเป็นจริง ยอดขายสินค้าแบบจับต้องได้เหล่านี้กลับมีสัดส่วนรวมกันแค่ 18% ของตลาดดนตรีเท่านั้น เมื่อเทียบกับยอดการดาวน์โหลดเพลงกับยอดการฟังเพลงบนสตรีมมิงมิวสิกที่มีสัดส่วนรวมกันที่ 82% (รายได้ตลาดสตรีมมิงมิวสิกสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 5,664 ล้านเหรียญสหรัฐ โตขึ้นจากปี 2559 ถึง 43%)

 

สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดเพลงทั่วโลก รวมถึงที่ประเทศไทย หนุ่มสาวออฟฟิศและผู้คนจำนวนไม่น้อยพอใจที่จะฟังเพลงผ่านผู้ให้บริการอย่าง Apple Music, Spotify หรือ Joox มากกว่าการซื้อแผ่นซีดีมานั่งฟัง ซึ่งยุ่งยากกว่าพอสมควร (ยังมีสัดส่วนยอดขายที่จับต้องได้หลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง)

 

 

ในประเด็นนี้ ภาวิตบอกว่าจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ก็ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่บริษัทก็ไม่เคยนิ่งนอนใจในการปรับตัวแบบมียุทธศาสตร์ ทำให้ปีที่ผ่านมาแกรมมี่มีรายรับจากตลาดดิจิทัลเพิ่มขึ้นประมาณ 28% ปัจจัยสำคัญเกิดขึ้นจากการวิ่งเข้าไปยังทุกแพลตฟอร์มที่ผู้บริโภคอยู่ ส่วนธุรกิจ Showbiz และรายได้จากงานจ้าง ช่องทาง Sponsorship ก็เติบโตขึ้นที่ 70% และ 50% เหมือนกัน

 

“ผมเชื่อจากทัศนคติของตัวเองว่าโลกเปลี่ยนทุกนาที ถ้าโลกไม่เปลี่ยนนี่แหละน่ากลัว การเปลี่ยนแปลงมันมีอยู่ทุกเจเนอเรชัน คำถามคือเราพร้อมจะรับความจริงแล้วเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เร็วแค่ไหน Disruption เกิดขึ้นกับบริษัทแกรมมี่ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เราขายเทปคาสเซตต์อยู่ดีๆ โลกก็เปลี่ยนมาซื้อขายซีดีเพลง เป็น MP3 จนมาสู่การดาวน์โหลดและสตรีมมิงมิวสิก กลไกสำคัญของบริษัทคือต้องฉลาดที่จะปรับตัว ทุกคนควรเติบโตและก้าวร่วมไปกับแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้น เพราะอำนาจอยู่ในมือผู้บริโภคทั้งหมด

 

“ปีที่ผ่านมาแกรมมี่จับมือกับแพลตฟอร์มทุกเจ้า แม้กระทั่งคู่แข่งในตลาดเพลงรายอื่นๆ เพราะทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมเพลงยังดำรงอยู่ต่อไปได้ ยุคนี้มันเป็นยุคของความร่วมมือ ต้องแบ่งเงินและแชร์ความสำเร็จกัน ส่วนตัวผมไม่เคยปิดกั้นแพลตฟอร์มสตรีมมิงมิวสิกเลย ผมยืนอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่เอาผู้บริโภคเป็นตัวตั้งเสมอ เขาหมุนไปทางไหน เราต้องหมุนตาม จะเร็วกว่าหรือช้ากว่าไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง รอเขาเดินไปไกลๆ แล้วคุณค่อยตามเขาไป คุณตายแน่ๆ”

 

ผลของการกระจายตัวเข้าไปอยู่ในทุกๆ แพลตฟอร์มของคอนเทนต์ดนตรีจากค่ายย่านอโศกนี่เองที่ทำให้จีเอ็มเอ็ม มิวสิค มีรายรับจากตลาดดิจิทัลในปี 2560 ที่ผ่านมา (นับเฉพาะสตรีมมิงมิวสิก) รวมๆ แล้วเป็นเงินมากกว่า 300 ล้านบาท

 

“ธุรกิจเพลงยังเป็น Cash Cow ของบริษัทอยู่นะครับ 30 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าธุรกิจเพลงทำกำไรได้ทุกปี ผมเคยย้อนกลับไปดูตัวเลขสถิติทางการเงินในวันที่แกรมมี่ยังอยู่ในยุคล้านตลับว่าเรามีรายรับเท่าไร เทียบกับปัจจุบันที่ไม่ใช่ยุคล้านตลับ พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก เชื่อไหมว่าแกรมมี่ยังมีรายรับเป็นหลักพันล้านบาทไม่แพ้ยุคล้านตลับเลย หมายความว่าเรามีการบริหารจัดการและปรับรูปแบบการบริหารธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเสมอมา”

 

 

Music Sticker ตัวอย่างการคิดนอกกรอบและการแปรรูป ‘เพลง’

‘เพลงอยู่ในทุกช่วงชีวิตของคน ไม่ได้เป็นสินค้าเพื่อการฟังเท่านั้น และจะต้องต่อยอดเป็นสินค้าที่ทำรายได้ให้กับบริษัทไม่รู้จบ’

 

แนวคิดเช่นนี้ของภาวิตสะท้อนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านการนำเพลงในค่ายแกรมมี่มาผลิตเป็นสติกเกอร์เพลง หรือ ‘Music Sticker’ บนแพลตฟอร์ม LINE แชตแอปพลิเคชันยอดนิยมเบอร์ 1 ของประเทศไทยที่มียอดผู้ใช้ในปัจจุบันมากกว่า 42 ล้านราย

 

ภาวิตทราบดีว่าคนใช้ LINE ไม่ได้ชอบแค่ประโยชน์ในการช่วยให้ติดต่อสื่อสารได้รวดเร็วและสะดวกขึ้นเท่านั้น แต่สติกเกอร์แทนอารมณ์ยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือเสริมสร้างอรรถรสบนสนทนาให้ไม่จืดชืด โดยสถิติที่น่าสนใจจาก LINE ระบุว่า ปี 2560 ที่ผ่านมา ตลาดสติกเกอร์ในไทยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 38% แซงหน้าประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และอินโดนีเซีย ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศผู้ใช้งานหลัก

 

“ช่วงรอยต่อที่กำลังจะเข้ามารับงานที่แกรมมี่ ผมมีโอกาสไปสอนหนังสือตามมหาวิทยาลัย และเก็บมาคิดอยู่ตลอดว่าทำไมคนชอบส่งสติกเกอร์แชตกันเยอะ แต่ไม่มีใครคิดทำมันออกมาเป็นสติกเกอร์เพลงเลย พอเข้ามาที่แกรมมี่แล้วได้ขายไอเดียครั้งแรก มีแต่คนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีของ LINE ยังไม่ซัพพอร์ต (ระยะเวลาปล่อยเสียงของสติกเกอร์เคลื่อนไหวใน LINE จะอยู่ที่ 3 วินาทีเท่านั้น)

 

“ตอนนั้นผมตัดสินใจนัดคุยกับบริษัท LINE เพื่อโน้มน้าวทีมงานเขาเลยว่าพอจะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะขยายเวลาสติกเกอร์มีเสียงจาก 3 วินาทีเป็น 8 วินาที ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผมวิจัยออกมาแล้วว่าเพียงพอต่อท่อนฮุกเพลง 1 ท่อน พร้อมเสนอความเป็นไปได้ว่าเราน่าจะสร้างรายได้มากขึ้นแค่ไหน ถ้าทำได้ เรามีไอเดียที่จะทำได้มากกว่า 30-40 ชุด ต้องบอกว่าเรื่องนี้มันไปไกลถึงญี่ปุ่นเลยนะ”

 

 

เจ้าของไอเดียสติกเกอร์ร้องเพลงบอกกับเราว่า ในอีกมุมหนึ่งเขาเห็นโอกาสผลิต Music Sticker ด้วย Typography ง่ายๆ เพราะเล็งเห็นว่าตลาดสติกเกอร์ภาพวาดสวยๆ กราฟิกน่ารักๆ เป็น Red Ocean ที่ต้องหลีกหนี การใช้ประโยคหรือวลีจากเพลงดังที่คัดเลือกมาซึ่งตรงกับชีวิตประจำวันของมนุษย์แล้วถ่ายทอดออกมาด้วยกราฟิกง่ายๆ เป็นวิธีที่ไม่ต้องลงทุนเยอะ แต่กลับได้ผลลัพธ์ดีเกินคาด

 

“ผมเดินไปคุยกับลูกน้องว่าอยากทำสติกเกอร์ที่ไม่ใช่รูป แต่เป็นข้อความตัวอักษรง่ายๆ เช่น สติกเกอร์สำหรับคนทำงาน ใช้คำว่า ‘ลาออก’ ไปเลย ไม่จำเป็นต้องใช้รูปพี่บิลลี่ โอแกน (ศิลปินเจ้าของเพลง ลาออก) หรือคำว่า ‘อ้าว เฮ้ย’ ก็เป็นวลีที่เข้าใจได้ดีเหมือนกัน ไม่ต้องใช้ภาพอะตอม ต้องบอกว่านอกจากเรื่องสติกเกอร์เพลง ถ้าคุณนั่งโฟกัสทำความเข้าใจผู้บริโภคในทุกๆ ธุรกิจ เข้าใจวิถีชีวิตของเขาให้ได้ คุณก็สามารถต่อยอดทำอะไรๆ ได้มากมาย”

 

จากเงินลงทุนผลิตสติกเกอร์เพลงที่มีมูลค่าไม่สูงนัก แต่เพราะกระบวนการคิดและความสร้างสรรค์จากอินไซด์ผู้บริโภคผนึกร่างเข้ากับคอนเทนต์เพลงคุณภาพ จึงทำให้สติกเกอร์ร้องเพลงจากแกรมมี่จำนวนกว่า 12 ชุดในปีที่ผ่านมาขายดีมากๆ จนมียอดขายเป็นอันดับ 1 ของ Music Sticker ทั้งตลาด และทำรายได้ไปกว่า 30 ล้านบาท

 

‘พัฒนา ผลิต โปรโมต และเก็บเกี่ยว’ 4 สเตปเพิ่มมูลค่าศิลปินที่มากกว่าแค่ถือไมค์ร้องเพลง

อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทเอเจนซีโฆษณาระดับโลกย้ำกับเราตลอดบทสนทนากว่า 1 ชั่วโมงเศษๆ ว่าหน้าที่สำคัญของแกรมมี่ในฐานะค่ายต้นสังกัดศิลปินประกอบด้วย 4 ส่วนหลักๆ คือการพัฒนา ผลิต โปรโมต และเก็บเกี่ยว

 

เขาบอกว่าในอุตสาหกรรมเพลงมีบุคลากรที่เก่งกาจ มีความสามารถด้านการผลิตและโปรโมตเป็นจำนวนมาก แต่สเตปที่ปราบเซียนและทำให้ใครหลายคนตกม้าตายนับครั้งไม่ถ้วนคือขั้นตอนของ ‘การเก็บเกี่ยว’

 

“คุณจะเก็บเกี่ยวความสำเร็จจากสิ่งที่ผลิตและโปรโมตได้อย่างไร มันก็ขึ้นอยู่กับโมเดลธุรกิจที่แข็งแรงด้วยนะ ต้องสร้างสมดุลทั้ง 4 ข้อนี้ให้ได้ ยุคนี้เป็นยุคที่ศิลปินทำเพลงและมีช่องทางโปรโมตเป็นของตัวเอง ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องดีนะ แต่คำถามคือถ้าเพลงและศิลปินดัง เราจะสามารถเก็บเกี่ยวความสำเร็จตรงนั้นได้มากน้อยแค่ไหนเพื่อให้คนทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุด

 

“เมื่อเรารู้ว่าเพลงดังในวันนี้มันเก็บเกี่ยวยาก ฉะนั้นสิ่งที่มันชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นการต่อยอดไปยังงาน Sponsorship และงานจ้าง นั่นคือเหตุผลที่รายได้ของแกรมมี่ในส่วนนี้โต 50% จากปีที่ผ่านมา ในทางกลับกัน เรารู้ว่าเมื่อเพลงดังแล้ว โปรดักต์ Showbiz จะออกมาตอบสนองเพื่อเก็บเกี่ยวได้ เราก็รันคอนเสิร์ตออกมาตลอดเวลา และจับมือกับพาร์ตเนอร์มากมาย”

 

ขณะที่การประกาศผลิต Artist Content ร่วมกับ LINE TV เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาออกอากาศรายการวาไรตี้ 12 รายการ เช่น ถ่ายเรี่ยราด ของศิลปิน White Music, เที่ยวบ้านพี่ไมค์ กับบทบาทเกษตรกร 4.0 ของ ไมค์ ภิรมย์พร, นู๋เปาวลีมี 300 และ ฮาแทะเล็ม โดย โอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการเก็บเกี่ยวและต่อยอดความสำเร็จ รวมถึงเปิดเผยตัวตนที่ต่างออกไปของศิลปินให้แฟนคลับได้สัมผัส

 

“Artist Content คือการแปรรูปคอนเทนต์อีกรูปแบบ ตัวอย่างศิลปินหนึ่งคนที่มีแฟนๆ ชื่นชอบและนิยมเขาในฐานะนักดนตรีที่ร้องเพลงเพราะ เล่นดนตรีเก่ง ในอีกมุมหนึ่งเขาอาจจะมีวิถีชีวิตน่าชื่นชมไม่แพ้กัน เราจึงเลือกหยิบดีเอ็นเอของเขาที่ไม่ได้เป็นพาร์ตการร้องเพลงออกมาทำรายการออนไลน์เพื่อให้แฟนๆ ได้ติดตาม

 

“ผมชอบเปรียบเปรยว่าเพลงคือ ‘ไก่’ ถ้าแกรมมี่มีไก่ 1 ตัว เราจะนำมันไปทอด ต้ม คั่ว ผัด และตุ๋น ส่วนกระดูกจะต้องนำไปปรุงน้ำซุป บริษัทเพลงต้องมองให้ออกว่าศิลปินและเพลงดังแต่ละเพลงจะต่อยอดความสำเร็จได้อย่างไร ต้องมองให้เห็นโอกาสการค้าทุกช่องทาง และใช้ความพยายามที่หลากหลายเพื่อให้เกิดรูปแบบการค้าที่ตอบสนองความสำเร็จเหล่านั้น

 

 

ให้ความสำคัญกับคลื่นลูกใหม่ไม่แพ้การพัฒนาศิลปินเรือธง

นอกจากภาพลักษณ์ของความเป็นสื่อบันเทิงมหาอำนาจและอากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานบริหารบริษัท แวบแรกที่นึกถึงแกรมมี่ คุณจะคิดถึงศิลปินคนใด

 

ถ้าเป็นศิลปินรุ่นใหญ่ หลายคนคงคิดถึง เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์, คริสติน่า อากีล่าร์ หรือดิวาระดับตำนาน แอม-เสาวลักษณ์ ลีละบุตร, อุ๊-หฤทัย ม่วงบุญศรี ฯลฯ

 

ตัดภาพมาปัจจุบัน เราได้เห็นศิลปินอย่าง บอดี้สแลม, ลาบานูน, เป๊ก-ผลิตโชค อายนบุตร, โอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน, ป๊อบ-ปองกูล สืบซึ้ง, ไผ่ พงศธร หรือต่าย อรทัย โลดแล่นผลิตผลงานดีๆ ป้อนวงการบันเทิงและเดินหน้าสร้างชื่อเสียงอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

 

ภาวิตบอกว่าทุกวันนี้แกรมมี่ยังคงผลักดันและสนับสนุนศิลปินให้ผลิตผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมประกาศชัดว่ายุคที่ศิลปินจะออกอัลบั้มเต็มยังไม่ล่มสลายไป เพราะปีที่แล้วค่ายก็ปล่อยอัลบั้มเต็มออกมากว่า 10 อัลบั้ม เช่นเดียวกับปีนี้ที่ไม่น่าจะน้อยไปกว่ากัน

 

“บอกเลยว่ายุคของ Full Album ยังไม่หมดไป เรายังทำการค้าได้จาก Full Album แม้ว่ารายได้จากการค้าแผ่นจะเป็นเรื่องที่เล็กลง ซึ่งลักษณะการทำ Full Album มันมีอยู่ 2 รูปแบบ คือทำให้ครบ 10 เพลงแล้วปล่อยออกมาเป็น Full Album ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆ คือ เบิร์ดมินิมาราธอน (2561) กับอีกแบบคือทยอยปล่อยซิงเกิลเพลงออกมาเรื่อยๆ แล้วรวมให้ครบ 10 เพลงเป็นหนึ่งอัลบั้มเต็ม เช่น เคสของลาบานูน (N.E.W.S., 2559) หรืออะตอม (Cyantist, 2560) ซึ่งเราก็มีแผนที่จะสร้างการค้าต่อยอดในรูปแบบที่แตกต่างกันไป”

 

สำหรับเกณฑ์ที่จะชี้ว่าศิลปินคนไหนสามารถมีอัลบั้มเต็มเป็นของตัวเองได้ ภาวิตบอกว่าเขาจะดูจากโรดแมปของศิลปินที่หัวหน้าค่ายได้วางไว้ เส้นทางในวงการเพลงหรือชั่วโมงบิน รวมถึงฐานแฟนคลับที่วิเคราะห์ผ่านการทำ Big Data ของแกรมมี่ที่เจ้าตัวนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การสนับสนุนศิลปินยอดนิยมของค่ายคือการพัฒนาศิลปินสายเลือดใหม่ขึ้นมาประดับวงการ

 

“นี่เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากๆ คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม พูดถึงเรื่องนี้ตลอดว่าเราต้องสร้างคนคุณภาพและต่อยอดความสำเร็จของเขาให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ละเลยที่จะคัดเลือกศิลปินใหม่ๆ เข้ามาในตึก ปัจจุบันเรามีค่ายเพลงน้องใหม่อย่าง MBO ที่เน้นเจาะกลุ่มวัยรุ่น มีศิลปินใหม่ๆ ทยอยเข้ามาอย่าง จีน่า เดอซูซ่า, มิว-ชิษณุชา ตันติเมธ ส่วนค่ายเพลงร็อก Genie Records ก็เพิ่งเปิดค่ายลูก Gene Labs โดยมี โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ นักร้องนำวงค็อกเทล รับหน้าที่ดูแลและคัดเลือกศิลปินรุ่นใหม่เข้ามา

 

“ส่วนตัวผมมองว่าการคัดเลือกศิลปินใหม่ๆ ถือเป็นหัวใจสำคัญสำหรับไม้ยืนต้นเลยนะ เพราะจะช่วยให้เกิดการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตัวศิลปินได้อย่างมีวัฏจักร แต่การคัดเพชรในยุคนี้ไม่ได้ง่ายเหมือนยุคเก่าอีกแล้ว คนอยากเป็นดารามากกว่าเป็นนักร้อง เรื่องนี้เป็นแพสชันส่วนบุคคลล้วนๆ แต่คุณไพบูลย์สอนผมว่าบริษัทเรามีเวทมนตร์นะ เราอยู่ในอุตสาหกรรมมานานจนแตกฉานและเข้าใจวิธีที่จะทำให้สำเร็จที่สุด นั่นคือแบรนด์แกรมมี่ที่เป็นผู้นำในวงการเพลงมาตลอด 35 ปี”

 

 

ร่วมมือกับคู่แข่งและฟังเสียงคนรอบตัว

ในยุคที่สื่อต้องเผชิญภัยพิบัติของการถูก Disruption ส่ิงที่ภาวิตเชื่อว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการผ่านพ้นมรสุมลูกยักษ์นี้ไปได้คือการร่วมมือกันทำงานระหว่างผู้เล่นในอุตสาหกรรมรวมถึงคู่แข่งในตลาดเดียวกัน ทั้งยังต้องรับฟังคำแนะนำจากคนรอบตัว ไม่ว่าคุณจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่แค่ไหนก็ตาม

 

“อย่างที่บอกครับว่ายุคนี้มันเป็นยุคของความร่วมมือ ผมจะพูดอยู่บ่อยๆ ว่าแกรมมี่พร้อมเดินไปกับทุกคนที่มีความเชื่อเหมือนเรา ผมไม่เคยปิดกั้นการร่วมมือกับผู้เล่นรายอื่นๆ ในตลาดหรือคู่แข่ง มิวสิกเฟสติวัลหลายงานที่เราจัดก็มีศิลปินทุกค่ายมารวมตัวกัน ในอนาคตความร่วมมือที่ว่ามานี้อาจจะขยายสเกลใหญ่ขึ้นเป็น Collaboration Concert ก็ได้ ผมนึกไม่ออกเลยว่าทำไมเราต้องกีดกันการร่วมมือกันทำการค้า ในเมื่อวันนี้เราทุกคนล้วนแล้วแต่ส่งมอบสินค้าคุณภาพสู่อุตสาหกรรมเดียวกัน

 

“เวลาผมเห็นผู้เล่นรายอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเพลงเคลื่อนไหวแล้วประสบความสำเร็จ ผมโคตรดีใจและไม่รู้สึกอิจฉาเลย อุตสาหกรรมเพลงไม่ควรจะมีค่ายเพลงเจ้าเดียวที่ทำศิลปินดัง ทางเลือกของมนุษย์ไม่มีใครรับของที่เสิร์ฟมาแบบเดียว มันต้องมีความหลากหลาย อุตสาหกรรมจึงจะโตขึ้น ในขณะเดียวกันเราก็ต้องไม่หลงระเริงในความเป็นผู้นำ ต้องย้อนมองดูตัวเพื่อเตรียมพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น”

 

แม้จะเป็นบริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่ แต่ภาวิตยืนยันว่าแกรมมี่รับฟังฟีดแบ็กจากคนฟัง พาร์ตเนอร์ ซัพพลายเออร์ คู่แข่ง แล้วนำมาปรับปรุงแนวทางการดำเนินธุรกิจเสมอ “สังคมที่ดีไม่ควรมีด้านเดียว ผมมีความเชื่อแบบนี้เสมอ เมื่อไรก็ตามที่สังคมเป็นด้านเดียวมันคือการที่เราไม่คิดจะฟังใครเลย โลกทุกวันนี้เป็นแบบนั้นไม่ได้แล้ว

 

“มันเป็นกระจก เป็นเหรียญที่มองเห็นได้สองด้านเสมอ ซึ่งการให้ฟีดแบ็กหรือคำตัดสินที่เราได้รับทุกวันนี้ก็เป็นไปแบบเรียลไทม์ หากเปรียบการผลิตเพลงของเราเป็นเหมือนคน ถ้าไม่มีใครกล้าบอกเลยว่าเราเป็นคนดีหรือแย่อย่างไร ความล้มเหลวก็จะมารออยู่ตรงหน้าทันที คนทำธุรกิจควรจะมีมายด์เซตเหมือนๆ กันคืออยากได้ยินฟีดแบ็กจากทุกคน โลกที่มันพร้อมจะฟีดแบ็กกลับมาให้คนทำงานนี่เราควรจะมองมันเป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรคนะ ผมมองว่ามันเป็นความหวังดีที่มีต่อตัวเรา

 

อ้างอิง:

FYI
  • ภาวิตคิดค้นการทำระบบ Big Data ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือทำความเข้าใจ Artist Fanclub, Artist Content, Music Content หรือ Purchasing Content แล้วรวมกันออกมาเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือสร้างโอกาสใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยให้เขาสามารถคำนวณผลลัพธ์ล่วงหน้าได้ เช่น บัตรคอนเสิร์ตจะขายได้กี่ใบ มีโอกาสขายหมดหรือไม่
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising