วันนี้ (24 เมษายน) ในการประชุมคณะกรรมาธิการการทหาร วาระพิจารณาศึกษาเรื่อง กรณี นายพอล เวสลีย์ แชมเบอร์ส (Paul Wesley Chambers) อาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร ถูกกองทัพภาคที่ 3 แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มี วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน เป็นประธานการประชุม
โดยมีการเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย, ผศ.ดร.นภิสา ไวฑูรเกียรติ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จังหวัดพิษณุโลก (กอ.รมน.ภาค 3), กองทัพบก และตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ประธานกรรมาธิการการทหาร
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
กอ.รมน. ภาค 3 ขอความจริง 11 ข้อ จาก ม.นเรศวร
ผศ.ดร.นภิสา กล่าวชี้แจงกระบวนการดำเนินคดีว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ทาง กอ.รมน. ภาค 3 ทำหนังสือเรียนถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และขอให้มหาวิทยาลัยจัดทำเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงส่งให้ กอ.รมน. ภายใน 13 พฤศจิกายน พร้อมแนบเอกสารเนื้อหาที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค (ISEAS-Yusof Ishak Institute) ซึ่งเป็นสถาบันของประเทศสิงคโปร์ และปรากฏภาพของ พอล ในฐานะวิทยากรที่จะสนทนาในงาน
ทั้งนี้ เป็นการสนทนาในหัวข้อ Thai military and police reshuffles และเนื้อหาในเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารคำโปรย และไม่ได้เขียนโดย ดร.พอล และไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เพียงถูกเชิญเป็นวิทยากรเท่านั้น นอกจากนั้น ในสรรพนามของคำโปรยยังใช้คำว่า He ที่สื่อถึง ดร.พอล เอง และหาก ดร.พอล เขียนขึ้นเอง สรรพนามควรเป็นคำว่า I
ในหนังสือของ กอ.รมน. ยังได้ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับ ดร.พอล และสถานประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ถึง 11 ข้อ อาทิ ประวัติการศึกษา ตำแหน่ง ข้อมูลทำสัญญาจ้าง อัตราเงินเดือน ค่าตอบแทน ใช้เงินงบประมาณประเภทใด ความเกี่ยวพันกับหลักสูตร หรือเป็นผู้สอนวิชาใดบ้างในมหาวิทยาลัยนเรศวร มีจำนวนบทความเท่าไร หรือมีผลงานอื่นใด เป็นรูปธรรมต่อเทอม ของ ดร.พอล
ในหนังสือดังกล่าวยังถามถึงประเด็นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ดร.พอล โดยตรง อย่างการก่อตั้งสถานประชาคมอาเซียนศึกษา ใครเป็นผู้ก่อตั้ง มีวัตถุประสงค์ หรือความมุ่งหมายใด อยู่ในความควบคุมดูแลของหน่วยงานใด มีบุคลากรทั้งหมดกี่คน แต่ละคนมีหน้าที่อะไรบ้าง มีผลผลิต หรือผลงานใด ที่เป็นรูปธรรมต่อเทอม หรือต่อปีการศึกษา สถานประชาคมอาเซียนศึกษา มีความเกี่ยวพันใดกับบทความของ ดร.พอล หรือไม่ และบทความนั้น เป็นไปตามหลักสูตร ของคณะสังคมศาสตร์ หรือไม่ อย่างไร เป็นไปตามบทบาทหน้าที่องค์กรหรือไม่ มีบุคคลใดเป็นผู้กำหนดแนวทางหรือรูปแบบการเขียนหรือไม่
และในข้อหนึ่งยังถามว่า ในระหว่างสัญญาจ้างของมหาวิทยาลัยนเรศวรและ ดร.พอล เมื่อจะไปร่วมประชุมสัมมนา หรือประชุมทางไกลผ่านกับองค์กรอื่นๆ ในวันและเวลาของที่ได้รับมอบภารกิจจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ขออนุมัติจากผู้บังคับบัญชา ผู้มีอำนาจของมหาวิทยาลัยนเรศวร อย่างถูกต้อง และเป็นทางการทุกครั้งหรือไม่
ผศ.ดร.นภิสา ไวฑูรเกียรติ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ชี้แจงต่อกรรมาธิการ
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
ผศ.ดร.นภิสา ระบุว่า ส่วนตัวรู้สึกว่า เป็นการเมืองภายในคณะสังคมศาสตร์ ที่พุ่งเป้าโจมตีตนเองและคณาจารย์ อีกทั้งสงสัยในคำถามที่มากถึง 11 ข้อ โดยลงรายละเอียดถึงหลักสูตรการศึกษา จนถึงเรื่องที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับ ดร.พอล จึงคิดว่าไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของ กอ.รมน.
ต่อมาได้ทำหนังสือตอบกลับไป และเป็นการสอบถามเพื่อให้เกิดความกระจ่างว่า การดำเนินการทางหนังสือของ กอ.รมน. ภาค 3 มีข้อสั่งการจาก ผอ.กอ.รมน. หรือไม่ ใช้อำนาจใดในการสั่งการ และมีความเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ภาค 3 อย่างไร เนื่องจากมีช่องทางอื่นที่ กอ.รมน. สามารถมาสอบถามข้อมูลมาก และหากประสานติดต่อมาก็ยินดีที่จะเข้าชี้แจง แต่ก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับมา จนกระทั่งวันที่มีการประสานออกหมายจับดังกล่าว
ขณะที่วิโรจน์ ได้ขอให้เปิดเผยชื่อผู้ลงนามในเอกสาร กอ.รมน. คือ พล.ต.ชายแดน กฤษณสุวรรณ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 (รอง ผอ.รมน. ภาค 3) ทำการแทน ผอ.รมน. ภาค 3 พร้อมระบุว่า ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี จะนำส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบว่า เป็นการดำเนินการโดยชอบหรือไม่ และการดำเนินคดีมีความประณีตถูกต้องหรือไม่
เอกสารที่ กอ.รมน.ภาค 3 ส่งถึงมหาวิทยาลัยนเรศวรเพื่อขอข้อเท็จจริง ซึ่งนำมาแสดงต่อกรรมาธิการ
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ้างพบข้อมูลจากเฟซบุ๊ก-ใช้อำนาจกลาโหม
ด้าน ผู้อำนวยการ กองการข่าว กอ.รมน. ภาค 3 ชี้แจงแทน ผอ.รมน. ภาค 3 ว่า ตรวจพบข้อมูลจากโพสต์เฟซบุ๊กของ ‘อัษฎางค์ ยมนาค’ เรื่อง ‘มหาวิทยาลัยนเรศวรจ้าง “พอล แชมเบอร์ส” มาบั่นทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ หรืออย่างไร?’ ที่มีการแปลข้อความคำโปรยดังกล่าว ซึ่งทาง กอ.รมน. ภาค 3 และกองทัพ ภาค 3 เห็นว่า อาจมีพฤติกรรมใช้ความรู้สึกส่วนตัวตีความ และกระจายไปยังบุคคลภายนอกอันมีผลกระทบสถาบันฯ จึงได้แจ้งความดำเนินคดีกับ ดร.พอล ต่อไปเป็นหน้าของตำรวจดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ อ้างอำนาจตาม พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มาตรา 7 (1) ให้ กอ.รมน. มีหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัย คุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
ทำให้ วิโรจน์แย้งขึ้นว่า มาตราดังกล่าวมอบอำนาจไว้อย่างจำกัด คือต้องนำเรื่องเข้าสู่วาระการประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อมอบอำนาจก่อน ซึ่งจากมติที่ประชุม ครม. ไม่ได้ปรากฏเรื่องดังกล่าว จึงเกิดข้อสงสัยว่าดำเนินการได้อย่าง ถือว่าเป็นการตีความต่างกัน ทางกรรมาธิการจะไม่ตัดสิน แต่จะให้ ป.ป.ช. เป็นผู้ตัดสินเอง
พวงทอง ภวัครพันธุ์ ผู้สังเกตการณ์ (ซ้าย) และ ศุภลักษณ์ กาญจณขุนดี ที่ปรึกษากรรมาธิการ
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
ทางกรรมาธิการได้สอบถามด้วยว่า กอ.รมน. ภาค 3 ได้แจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของบทความหรือไม่ เนื่องจากต้องเอาผิดผู้แปลเนื้อหามาเผยแพร่ ไม่ใช่ดำเนินคดีกับ ดร.พอล ซึ่งเป็นผู้ถูกพาดพิงถึง
ขณะที่ ศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้สังเกตการณ์ แนะนำให้กองทัพหาผู้เชี่ยวชาญมาแปลภาษาอังกฤษใหม่ เพราะเนื้อหาภาษาอังกฤษไม่ได้ซับซ้อน ระบุไว้ชัดเจนว่า เป็นเนื้อหาที่ ดร.พอล จะพูดในงานเสวนา ไม่ใช่สิ่งที่ ดร.พอล พูดไปแล้ว ทั้งนี้ ขอให้ทบทวนเพื่อให้ถอนฟ้อง เนื่องจาก ดร.พอล และครอบครัวได้รับความเดือดร้อนมาก
กมธ. รุมซัก ดำเนินการโดยมิชอบหรือไม่
กอ.รมน. ภาค 3 ยังอ้างถึงคำสั่งที่อาศัยอำนาจมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ที่ว่าด้วยอำนาจของกระทรวงกลาโหม ทำให้กรรมาธิการตั้งคำถามว่า กอ.รมน. สังกัดกระทรวงกลาโหม หรือสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วเหตุใดจึงใช้กฎหมายของกระทรวงกลาโหมได้
ทาง กอ.รมน. ภาค 3 ชี้แจงว่า เนื่องจากมีข้าราชการทหาร จึงถือว่าอยู่ในกระทรวงกลาโหมด้วย ทำให้นายวิโรจน์แย้งว่า ถ้าเช่นนั้นนักการเมืองที่มียศทางทหาร ก็สามารถใช้อำนาจของกระทรวงกลาโหมได้ด้วยใช่หรือไม่ พร้อมขอให้ส่งเอกสารคำสั่งดังกล่าวให้กรรมาธิการด้วย ซึ่ง กอ.รมน. ภาค 3 ตอบว่า จะนำคำถามเรียนผู้บังคับบัญชา และจะส่งเอกสารคำสั่งให้กรรมาธิการต่อไป
จากนั้นกรรมาธิการได้สอบถามเพิ่มเติมว่า เคยใช้กระบวนการเช่นนี้ กล่าวคือการนำข้อกล่าวอ้างจากเฟซบุ๊กมาดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวถึง โดย กอ.รมน. ภาค 3 ตอบว่า ไม่เคยใช้บรรทัดฐานดังกล่าวนี้ดำเนินคดีกับผู้ใดมาก่อน ส่วนคำถามว่าได้ดำเนินคดีกับ อัษฎางค์ ยมนาค ซึ่งเป็นผู้โพสต์ข้อความด้วยหรือไม่นั้น ทาง กอ.รมน. ภาค 3 ไม่ได้ตอบคำถาม
นอกจากนี้ กรรมาธิการยังสอบถามเพิ่มเติม กระบวนการดำเนินคดีมีการกระทำกันอย่างเป็นขบวนการหรือไม่ เพราะหลังจากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ดร.พอล ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้เพิกถอนวีซ่าทันที พร้อมถามถึงการเร่งรีบดำเนินคดีในช่วงที่มีมาตรการกำแพงภาษีสหรัฐอเมริกา การเร่งจับกุมพลเมืองของสหรัฐฯ ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อประเทศชาติหรือไม่ โดย กอ.รมน. ภาค 3 ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว และได้ออกจากระบบ Zoom ไปก่อน
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
สำหรับกรณีดังกล่าว สืบเนื่องจาก ดร. พอล ถูกแจ้งข้อกล่าวหาความผิดฐานละเมิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยกองทัพภาคที่ 3 เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา โดยได้เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลกในวันที่ 8 เมษายน
พนักงานสอบสวนได้นำตัวพอลไปที่ศาลจังหวัดพิษณุโลกเพื่อขออำนาจฝากขังระหว่างการสอบสวน โดยศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษร้ายแรง พร้อมมีคำสั่งเพิกถอนวีซ่าของพอลโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ก่อนที่วันต่อมาจะได้รับประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ประกัน 300,000 บาท และวางเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ และให้ติดกำไล EM