×

รศ.ดร.ภาธร กับความในใจของสมาชิกวง อ.ส. วันศุกร์ ที่อยากให้คนจดจำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในฐานะนักดนตรี ไม่ใช่เทพที่อยู่บนสรวงสวรรค์

12.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • รศ.ดร.ภาธร คือสมาชิกนักดนตรีวง อ.ส. วันศุกร์ ที่ถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาเป็นระยะเวลา 30 ปี
  • ภารกิจสำคัญที่รศ.ดร.ภาธรต้องการทำให้ได้มากที่สุดคือการทำงานในฐานะนักวิชาการของมูลนิธิคีตรัตน์ เพื่อนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในฐานะมนุษย์และนักดนตรีที่มีความสามารถ
  • วันที่ 13-15 ตุลาคม รศ.ดร.ภาธรจัดงานแสดงดนตรีถวายความรำลึก ‘49 in Memory ในความทรงจำนิรันดร์’ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในวาระครบรอบ 2 ปี วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ โดยมีไฮไลต์อยู่ที่การแสดงของ Dutch Swing College Band วงดนตรีนิวออร์ลีนส์แจ๊ซระดับโลกที่พระองค์โปรด

ในฐานะสมาชิกนักดนตรีวง อ.ส. วันศุกร์ ที่ถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาเป็นระยะเวลา 30 ปีของ รศ.ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ รองประธานมูลนิธิคีตรัตน์ ที่กำลังจะจัดงานแสดงดนตรีถวายความรำลึก ‘49 in Memory ในความทรงจำนิรันดร์’ กับบทเพลงพระราชนิพนธ์ 49 ทำนอง เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณโดยเฉพาะทางด้านดนตรีเพื่อให้เป็นที่ประจักษ์และจดจำต่อชนรุ่นหลังสืบไปในวันที่ 13-15 ตุลาคม ที่ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์

 

THE STANDARD POP มีโอกาสได้พูดถึงกับรศ.ดร.ภาธรถึงความทรงจำในฐานะนักดนตรีผู้ถวายงานอย่างใกล้ชิด ไปจนถึงภารกิจในฐานะนักวิชาการด้านดนตรีของมูลนิธีคีตรัตน์เพื่อการนำเสนอเรื่องราวที่ถูกต้องของพระองค์ในฐานะ ‘มนุษย์’ และ ‘นักดนตรี’ ที่มีความสามารถ ไม่ใช่ในฐานะเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์ที่ไม่สามารถแตะต้องได้

 

 

ความปรารถนาคืออยากให้จดจำพระองค์ในฐานะ ‘นักดนตรี’ ไม่ใช่เทพเจ้าที่อยู่บนสรวงสวรรค์

เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต หลายสิ่งหลายอย่างกลายมาเป็น Urban Legend ที่ผิดบ้างถูกบ้าง ในช่วงแรกผมยังทำอะไรไม่ถูก ได้แต่เศร้าอยู่ในห้อง แต่พอเริ่มมีสติแล้วไปเปิดดูอินเทอร์เน็ต กลายเป็นว่ามีข้อมูลต่างๆ ว่าท่านทรงทำสิ่งโน้นสิ่งนี้เต็มไปหมด แม้กระทั่งมีคนบอกว่าเป็นนักดนตรีวง อ.ส. วันศุกร์ เพิ่มขึ้นมาเต็มไปหมด ทั้งๆ ที่เราไม่เคยรู้จักเขามาก่อนเลย ซึ่งสะท้อนให้เห็นอะไรหลายๆ อย่างจนผมรู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมารักษาเรื่องนี้เอาไว้ในสิ่งที่เป็นของพระองค์จริงๆ ไม่ใช่ตำนานที่ถูกแต่งเติมขึ้นมา เพื่อรักษาข้อมูลที่ถูกต้องเอาไว้

 

สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดคือผมอยากเห็นคนจดจำในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นมนุษย์ ไม่อยากเห็นคนบูชาแล้วคิดว่าพระองค์ต้องกลายเป็นเทพเจ้า เพราะการที่พระองค์ทรงเป็นนักดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลง นี่คือสิ่งที่ยืนยันถึงความเป็นมนุษย์มากที่สุดว่าพระองค์ทรงมีความคิด มีความรู้สึกเหมือนกับพวกเราทุกคน ไม่ใช่เทพเจ้าที่อยู่บนสรวงสวรรค์แล้วชี้นิ้วลงมาจนเกิดเป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ต่างๆ ผมอยากให้คนจดจำพระองค์ว่าทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงต่างๆ ออกมาเพราะพระองค์ทรงเป็นนักดนตรี ทรงเป็นนักแต่งเพลง ไม่ใช่ว่าเพราะเป็นกษัตริย์ถึงทรงแต่งเพลงพวกนี้ออกมาได้

 

 

ความสุดโต่งของสังคมไทยที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด

ที่น่าเป็นห่วงคือตอนนี้ฝั่งหนึ่งบอกว่าเพลงพระราชนิพนธ์คือเพลงที่คนทั่วไปไม่สามารถจับต้องได้ เป็นเพลงที่ควรอยู่บนหิ้งบูชา กับอีกฝั่งหนึ่งที่บอกว่านี่เป็นเพลงสาธารณะที่จะทำอะไรก็ได้กับบทเพลงเหล่านี้ ซึ่งสำหรับผมคิดว่าพระองค์เองก็ทรงศึกษาถึงความหลากหลายรวมถึงความเปลี่ยนของดนตรีมาตลอด และไม่ได้อยากให้บทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์กลายเป็นเพลงที่จับต้องไม่ได้

 

อย่างเพลง ชะตาชีวิต หรือ H.M. Blues คนส่วนมากคิดว่าการปฏิบัติที่ถูกต้องคือต้องใส่สูท ร้องให้เรียบร้อย ไม่มีความรู้สึก ทั้งที่จริงๆ แล้วเพลงนี้เป็นเพลงในวงเหล้าที่สนุกสนาน เพราะฉะนั้นไม่ผิดอะไรถ้าเราจะเอาเพลงนี้มาแล้วใส่อารมณ์ที่สนุกสนานลงไป สามารถทำได้ ไม่ได้เป็นการดูหมิ่นอะไรเลย หรือบางคนที่เอาบทเพลงพระราชนิพนธ์ไปใส่ทำนองร็อก ถ้าทุกอย่างยังถูกต้องตามหลักทฤษฎีดนตรีและเหมาะสมกับบริบทของเพลงนั้นๆ

 

พระมหากษัตริย์นักดนตรีผู้ทรงสนุกกับการทดลองสิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา

สิ่งหนึ่งที่ผมนับถือเป็นอย่างมากคือการที่พระองค์ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะศึกษาและพัฒนาเรื่องดนตรี ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่พระองค์โปรดดนตรีแบบบิ๊กแบนด์ที่ต้องมีคนเล่น 15-20 คนเป็นอย่างน้อย แต่นักดนตรีในวงมีไม่ถึง พระองค์ก็ทรงศึกษาจนค้นพบวิธีบันทึกเทป 16 แทร็กแล้วเล่นซ้ำแทนส่วนที่ขาดหายจนเป็นเพลงขึ้นมา สะท้อนถึงพระวิริยะของพระองค์ได้เป็นอย่างดี ผ่านไปช่วงเวลาหนึ่ง พระองค์ก็โปรดดนตรีที่เรียกว่านิวออร์ลีนส์แจ๊ซ แล้วก็ทรงสนพระทัยเพลงบลูส์และอีกหลายแนวเพลงที่จะเห็นได้จากบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้ง 49 ทำนองที่ความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 

เพราะฉะนั้นพูดได้ว่านอกจากช่วงเวลาที่ทรงบรรเลงเพลงแล้ว ช่วงเวลาที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับดนตรีก็คือหนึ่งช่วงเวลาที่พระองค์ทรงมีความสุขมากที่สุด และนี่เป็นลักษณะนิสัยพื้นฐานของนักดนตรีที่เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าพระองค์ทรงมีหัวใจของนักดนตรีอย่างเปี่ยมล้นจริงๆ

 

ผมจำได้อีกเหตุการณ์หนึ่งคือประมาณ 20 ปีที่แล้ว รัฐบาลมีโครงการพา เจมส์ มู้ดดี้ นักดนตรีสไตล์โปรเกรสซีฟแจ๊ซมาเล่นถวาย ซึ่งสไตล์การเล่นเขาแตกต่างจากวง อ.ส. วันศุกร์ ของพวกเรามาก ในใจผมก็คิดว่าพระองค์คงไม่น่าสนพระทัย ผมก็ไปทูลถาม ปรากฏว่าพระองค์ทรงรู้จักอยู่แล้วและตรัสว่าให้มาได้เลย พอมาถึงเขาก็เล่นแบบสมัยใหม่มาก ผมยังคิดว่าจะทรงฟังไหวหรือเปล่า แต่พระองค์กลับทรงแซกโซโฟนร่วมกับเขาได้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นพวกผมแทบไม่เคยทราบมาก่อนว่าพระองค์ทรงดนตรีประเภทนี้ได้ เพราะฉะนั้นพระองค์ทรงเปิดรับดนตรีแนวอื่นๆ อยู่ตลอด ไม่เคยปิดกั้นหรือต่อว่าดนตรีแนวไหน มีแค่ว่าโปรดแบบไหนเป็นพิเศษ แล้วก็เป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะจัดหามาให้เท่านั้น

 

ตัวอย่างการแสดงของ เจมส์ มู้ดดี้

 

คอนเสิร์ต ‘49 in Memory ในความทรงจำนิรันดร์’

ใจความสำคัญของงานนี้คือเราต้องการที่จะสืบสานและส่งเสริมสิ่งที่เกี่ยวกับบทเพลงพระราชนิพนธ์ รวมถึงพระปรีชาสามารถทางด้านดนตรีของพระองค์ให้ได้มากที่สุด ในปีนี้เรามี 2 แนวคิดหลักคือ การร่วมรำลึกถึงพระองค์ผ่านบทเพลงที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้ และผ่านแนวเพลงที่พระองค์โปรดก็คือนิวออร์ลีนส์แจ๊ซ

 

ไฮไลต์ของงานนี้คือเรามีวงใหญ่ที่จะมาร่วมบรรเลงเพลงคือวง KU Wind จากประเทศไทยที่ไปสร้างชื่อเสียงมาแล้วทั่วโลก เป็นวงดุริยางค์เครื่องลมขนาดใหญ่ที่จะมาบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีการเรียบเรียงในแบบของเขา

 

และวง Dutch Swing College Band จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ต้องบอกว่าเป็นวงนิวออร์ลีนส์แจ๊ซที่มีชื่อเสียงระดับจักรวาล ซึ่งพระองค์ทรงรู้จักวงนี้เป็นอย่างดี แต่ไม่เคยมีโอกาสได้ทรงดนตรีกับพวกเขา ผมยังจำได้ดีว่าสมัยก่อนพระองค์ทรงนำแผ่นซีดีของวงนี้มาให้พวกเราฟังอยู่บ่อยๆ ในช่วงก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคตยังเคยคิดว่าจะต้องพาวงนี้มาเล่นดนตรีถวายพระองค์ให้ได้ เตรียมการกันแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ทันเวลา พระองค์เสด็จสวรรคตไปเสียก่อน

 

ในครั้งนี้ก็จะเป็นโอกาสที่พวกเราจะทำเพื่อพระองค์อีกครั้ง รวมทั้งจะได้แบ่งประสบการณ์ร่วมกับประชาชนทั่วไปว่าเวลาที่พระองค์ทรงฟังเพลงต่างๆ แล้วรู้สึกอย่างไรในงานนี้

 

เพลง H.M. Blues บรรเลงโดยวง Dutch Swing College Band

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

FYI
  • 49 in Memory ในความทรงจำนิรันดร์ เกิดขึ้นจากการร่วมมือระหว่างคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย, มูลนิธิคีตรัตน์, ศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม และเอ็มควอเทียร์, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และหน่วยงานเอกชน ฯลฯ
  • งานจัดขึ้นในวันที่ 13-15 ตุลาคม ณ บริเวณควอเทียร์ พาร์ค ชั้น M ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ตั้งแต่เวลา 17.00-21.00 น. ทุกคนสามารถเข้าชมได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X