×

ฉากชีวิตของ ‘พาตีเมาะ สะดียามู’ ผู้ว่าฯ หญิงมุสลิมคนแรกของประเทศ เส้นทางที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

18.03.2023
  • LOADING...
พาตีเมาะ สะดียามู

HIGHLIGHTS

6 MIN READ
  • ‘พาตีเมาะ สะดียามู’ หญิงมุสลิมชาวยะลาคนแรกของประเทศในวัย 57 ปี กับเก้าอี้ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี
  • ความฝันของเธอคืออยากทำงานราชการ เพราะเห็นครูแถวบ้านในอดีตมีรถมอเตอร์ไซค์ไว้ขับขี่ ซึ่งเธอมองว่านี่คือความเจริญและโอกาส
  • สิ่งเหล่านี้พาเธอมาถึงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด โดยยังเหลืออายุราชการกว่า 10 ปี แม้หลายคนจะกรอกหูว่าเธอน่าจะไม่ได้มีโอกาสได้นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ แต่เธอไม่ย่อท้อ
  • เธอบอกว่าความไม่สงบในพื้นที่กลายเป็นกับดักความรู้สึกของคนนอกที่ไม่กล้าเข้ามาสัมผัส เธอคงรับประกันความปลอดภัยให้ไม่ได้ เพราะเธอไม่มีอำนาจควบคุมสิ่งเหล่านั้น แต่ในฐานะเจ้าบ้านต้องสร้างความมั่นใจให้กับคนนอกที่จะเข้ามา

‘พาตีเมาะ สะดียามู’ หญิงมุสลิมชาวยะลา วัย 57 ปี กับเก้าอี้ปัจจุบันของเธอคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กับเวลาของชีวิตราชการที่ยังเหลืออยู่อีก 3 ปี  

 

จากชีวิตเด็กครอบครัวธรรมดา เรียนโรงเรียนนอกเมือง แต่ด้วยแม่ของเธอที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา นำพาชีวิตช่วงมัธยมศึกษาเข้าสู่โรงเรียนพัฒนาวิทยา และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาที่คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก่อนเข้าสู่เส้นทางการรับราชการ

 

“เป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ เกิดในบรรยากาศที่ประเทศไทยอยู่ในประเทศล้าหลัง พื้นที่ล้าหลัง อยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ถนนหนทางแบบปัจจุบันไม่มีหรอก เรามีแค่ลูกรังสีแดง ส่วนยานพาหนะไม่ต้องพูดถึง ใครมีมอเตอร์ไซค์ก็สุดยอดแล้ว นี่คือสภาพที่เราได้เจอในอดีต คือเรามาพร้อมกับความล้าหลัง” พาตีเมาะกล่าวแนะนำตัวกับ THE STANDARD

 

เธอเรียนโรงเรียนประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดลำใหม่ ซึ่งมีทั้งมุสลิม พุทธ และจีน หลังจากเรียนจบ ป.4 ก็ต้องไปเรียนต่อที่โรงเรียนอีกที่หนึ่ง นั่นคือโรงเรียนบ้านตลาดลำใหม่ แล้วเธอก็เรียนจบชั้น ป.6 ที่นั่น

 

“ทั้งหมู่บ้านจะมีคนที่จบจากที่นี่ไปเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาไม่ได้เยอะอย่างในปัจจุบัน กะเมาะเองโชคดีตรงที่มีพ่อแม่หนุนเสริม แต่ว่าพ่อแม่มีเงื่อนไข เนื่องจากว่าสังคมของเราเป็นสังคมของพี่น้องมุสลิม แล้วก็จะมีสถาบันการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งที่ส่วนใหญ่สมัยก่อนจะเรียกว่าปอเนาะ จากปอเนาะพัฒนาเป็นพัฒนาโรงเรียนเอกชนควบคู่กับสามัญ เราก็มีเงื่อนไขของที่บ้านว่าอยากให้เรียนศาสนาด้วย ให้มีความรู้ทางศาสนา เลยได้มีโอกาสไปเรียนในเมือง ไปเรียนโรงเรียนพัฒนาวิทยา” พาตีเมาะกล่าว

 

หลังจากเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนพัฒนาวิทยาแล้ว พาตีเมาะได้รู้จักกับโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดปัตตานี เธอบอกว่าโรงเรียนสาธิตฯ โดยปกติแล้วเป็นโรงเรียนที่รับเด็กที่เก่ง มีความสามารถ มีศักยภาพ แต่อย่างเธอคงจะเข้าเรียนต่อมัธยมศึกษาตอนปลายที่นั่นยาก  

 

“แต่ว่ามีโปรแกรมหนึ่งที่เขาเปิดขึ้นมา ก็คือโปรแกรมรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา แล้วก็เลยลองสอบเล่นๆ ไม่ได้สอบเล่นๆ นะ สอบจริงนะ ก็เลยได้เรียนโรงเรียนสาธิตฯ” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงและสีหน้าที่ปลื้มปริ่มอย่างยิ่ง

 

 

ความฝันของชีวิตเด็กหญิงพาตีเมาะ

 

“กะเมาะเป็นคนมีความฝันตั้งแต่เด็กแล้วว่าอยากทำงานราชการ คือที่บ้านเราเป็นถนนลูกรัง วันหนึ่งเราเดินเล่น เราก็เห็นสมัยก่อนครูบ้านเราจะขี่มอเตอร์ไซค์ฮอนด้า ตอนนี้เป็นของคลาสสิกไปแล้ว เราก็อยากจะเป็นเหมือนคนนั้นจังเลย”

 

เธออธิบายต่อว่า “คนตามหมู่บ้าน บ้านไหนมีมอเตอร์ไซค์คือสุดยอดแล้ว แล้วนี่ยิ่งคนข้างนอกขี่มอเตอร์ไซค์เข้ามายิ่งสุดยอด เพราะว่าลำพังแค่มีจักรยานก็เก่งแล้ว”

 

และเมื่อเธอได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ พาตีเมาะเลือกที่จะเรียนคณะวิทยาการจัดการ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์เกี่ยวกับการบริหารหน่วยงานรัฐโดยตรง

 

“คือเราอยากเรียนทางด้านรัฐศาสตร์ สายสังคมมาก เพราะเป็นคนมีความฝัน เป็นคนชอบมีความฝันตลอดเลย เพราะทุกคนบอกว่าอย่าไปฝันเลย ฝันแล้วไม่ได้หรอกคนระดับนี้ ไม่เป็นไร กะเมาะเป็นคนมีฝัน ก็ฝันว่าอยากจะเรียนธรรมศาสตร์ เพราะว่ากะเมาะรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน นี่คือมันเป็นสิ่งที่อยู่ในใจมาตลอด”

 

แต่ว่าด้วยบริบทของครอบครัวและปัจจัยหลายอย่างในชีวิต เธอบอกว่ารถแห่งความฝันเป็นรถประจำถิ่น ลงจอดได้ที่หาดใหญ่ 

 

“ระบบการคัดเลือกในอดีตมันไม่ได้ง่ายกับเด็กที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดไกลๆ อารมณ์นั้นต้องสอบแข่งขัน และระบบในอดีตไม่ใช่แบบหนูๆ ต้องยื่นไปมหาวิทยาลัย เลือกเลย 5 คณะ ได้ไม่ได้ก็จบกัน” 

 

 

กะเมาะเป็นคนมีความฝันตั้งแต่เด็กแล้วว่าอยากทำงานราชการ คือที่บ้านเราเป็นถนนลูกรัง วันหนึ่งเราเดินเล่น เราก็เห็นสมัยก่อนครูบ้านเราจะขี่มอเตอร์ไซค์ฮอนด้า ตอนนี้เป็นของคลาสสิกไปแล้ว เราก็อยากจะเป็นเหมือนคนนั้นจังเลย

 

 

พื้นที่ความฝันของหญิงมุสลิม

 

“จริงๆ แล้วในเรื่องการเป็นผู้ว่าฯ ด้วยบริบทของตัวเรา ด้วยปัจจัยของการเป็นผู้หญิง ด้วยปัจจัยของความรู้สึกของคนเป็นมุสลิม ด้วยปัจจัยของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ มันทำให้เราไม่สามารถฝันว่าจะไปถึงได้”

 

พาตีเมาะบอกว่าเธอเคยคิดขอให้ได้เป็นข้าราชการ ซึ่งทำสำเร็จแล้ว ทว่าตอนเธอได้เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่หลายสมัย ทุกคนจะกรอกใส่หูเธอตลอดว่า “หน้าตาอย่างนี้ไม่ได้เป็นหรอกผู้ว่าฯ ไม่ได้เป็นหรอกอยู่อย่างนี้ เป็นคนมุสลิมนะ เป็นผู้หญิงนะ กระทรวงมหาดไทยเขาไม่ค่อยให้ผู้หญิงเป็น”

 

แค่ตอนเป็นรองผู้ว่าฯ เธอบอกว่านั่นคือสิ่งที่ดีใจมากแล้ว ส่วนการเป็นผู้ว่าฯ ไม่ได้คิดเลยว่าจะเดินมาถึงตำแหน่งนี้ แต่เรามองความน่าจะเป็น ซึ่งก็เป็นการวางแผนของเรา 

 

“คือเป็นคนที่ Mindset ค่อนข้างชัดเจน ชัดเจนในวิธีการคิด วิธีการทำงาน เพราะฉะนั้นเราก็มองความเป็นไปได้ของเรา เราผ่านระบบการศึกษาท่ามกลางความไม่มี เราผ่านมาได้แล้ว เรามีพลังของพ่อแม่เรา ที่มีแรงที่สำคัญให้เรา มาวันนี้เราก้าวผ่านมาได้แล้ว ใช้เวลาสิบกว่าปี ยี่สิบปี เรียนท่ามกลางความขาดแคลน ความขาดแคลนไม่ใช่ปัจจัยที่เป็นอุปสรรค แต่มันคือแรงหนุน แรงดันที่คอยดันเรา”

 

พาตีเมาะนั่งตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดตอนเธออายุเพียง 50 ปี เหลือเวลาราชการอีก 10 ปี เธอเริ่มคิดแล้วไปนั่งศึกษา คนเป็นรองผู้ว่าฯ อย่างมากที่สุดเป็นรองผู้ว่าฯ สัก 8 ปี ก็ต้องให้ขึ้นเป็นผู้ว่าฯ แล้ว 

 

“อย่างน้อยในความเป็นผู้หญิงจะถูกพิสูจน์แล้วด้วยวันเวลาของการเป็นรองผู้ว่าฯ เพราะฉะนั้นกะเมาะเลยคิดว่า โอเค เรามีสิทธิ์แล้ว โดยหลักทั่วไป เราอยู่ในสายงานตรงแล้ว เพราะฉะนั้นในสายงานตรง 3-4 ปี ก็ได้เป็น (ผู้ว่าฯ) แล้ว แต่ไม่ใช่สำหรับเรา เพราะเราเป็นผู้หญิง

 

“เราไม่ได้โทษกระทรวงมหาดไทย แต่ด้วยวิธีการคิด Mindset การทำงานที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงหนึ่งที่อยู่ในบริบทของลักษณะของกระทรวงเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งพัฒนาการของประเทศไทยในประวัติศาสตร์ การเกิดหรือการแก้ปัญหาต้องอยู่ในมือของผู้ชาย มันไม่ใช่เรื่องของการแยกเพศ ณ ปัจจุบัน แต่ในอดีตใช่ว่างานลักษณะแบบนี้เป็นงานของผู้ชายนะ แต่วันหนึ่งเรามาอยู่ตรงนี้ เราก็คิดว่าความเป็นผู้หญิงของเราก้าวผ่านแล้ว ก้าวผ่านด้วยวันเวลาว่าอย่างน้อยเราเป็นรองผู้ว่าฯ 8 ปี ความเป็นอาวุโสอย่างไรก็ต้องตั้งเราแล้ว” พาตีเมาะกล่าว

 

ส่วนบริบทของผู้หญิงที่เป็นคนมุสลิม ก็มีมุมมองทัศนคติในมิติของศาสนามาเป็นส่วนหนึ่งในการนำพา พิจารณาในภาวะความเป็นผู้นำ ก็ถูกท้าทายและลบคำสบประมาทด้วยตัวเธออยู่แล้ว ด้วยการทำงานให้สังคมได้เห็น

 

“กะเมาะอยากแทนตัวเองว่ากะเมาะ ใช้คำนี้มาโดยตลอด แล้วในพื้นที่ก็จะใช้คำนี้มายาวนานละ ตั้งแต่ในอายุราชการ ใช้ตั้งแต่อายุ 20 ปีด้วยซ้ำไป คือเรียกแทนตัวเองว่ากะเมาะผู้ว่าฯ ปัตตานี แต่ก่อนเราใช้คำว่ากะเมาะรองผู้ว่าฯ นราธิวาส หรือพี่เมาะ มีสองคำนี้ กะเมาะกับพี่เมาะ คำว่ากะกับพี่คือคำเดียวกัน กะแปลว่าพี่นั่นเอง

 

“ความรู้สึกของคนที่ยิ่งใหญ่กว่าก็คือแม่ แม่เขาดีใจแบบธรรมชาตินะ ลูกของเขาคนหนึ่งซึ่งมาจากฐานล่างที่สุดเลย แล้ววันหนึ่งมาอยู่จุดนี้ แม่เขาดีใจมาก เขามีความสุข เขาร้องขอชีวิตที่ยาวนานขึ้น”

 

 

โดยหลักทั่วไป เราอยู่ในสายงานตรงแล้ว เพราะฉะนั้นในสายงานตรง 3-4 ปี ก็ได้เป็น (ผู้ว่า) แล้ว แต่ไม่ใช่สำหรับเรา เพราะเราเป็นผู้หญิง

 

 

ภารกิจ ‘ผู้ว่าฯ กะเมาะ’ ที่ปัตตานี

 

“สิ่งหนึ่งที่มาวันแรกเลย เรามองในมุมมองว่าต้องก้าวข้ามในเรื่องของผู้บังคับบัญชา ปัจจุบันการบริหารจัดการ การทำงานสิ่งแรกนะของความร่วมมือ มันต้องขอความร่วมมือ กะเมาะต้องบอกว่าไม่มีนโยบายอะไรมา สิ่งนี้อยากจะทำ เราลองคิดสิว่าจะสร้างเมืองปัตตานีอย่างไร พี่น้องประชาชนของเรา 700,000 กว่าคน เราต้องมาช่วยคิดว่า 20 ปีข้างหน้าปัตตานีจะเป็นอย่างไร

 

“การทำงานวันนี้ เราต้องหันกลับมาดูที่คน คนของเราต้องเพิ่มแล้ว เพิ่มอะไร Skill ต้องมาแล้ว Skill ทางภาษาเป็น Skill ทั่วไปที่ทุกคนต้องพึงมี อย่างน้อยเราต้องมีวิธีคิดว่าคนของเราต้องเก่งสองภาษา เก่งไม่ใช่พูดได้อ้อแอ้ หมายถึงสามารถสร้างความเข้าใจ สื่อสารเรียนรู้ได้ ไปถึงขั้นเจรจาได้ มันต้องมีทักษะของคน ทักษะทางด้าน IT ทักษะภาษา ไม่ได้ต้องถูกวัดจากความเป็นเกรด ต้องวัดจากสิ่งที่เขามี แล้วก็ใช้คอมพิวเตอร์ ภาษา C ภาษาควรต้องใส่ในตัวเด็กเล็กๆ”

 

ส่วนเรื่องอื่นเธอบอกว่าอยากผลักดันเรื่องสัญลักษณ์ในปัตตานี ที่มีการลงโครงสร้างหลายอย่างไว้แล้วแต่ไม่ได้เดินต่อ เช่น แลนด์มาร์ก หรือถนนที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของปัตตานี

 

และอีกสิ่งหนึ่งที่พาตีเมาะบอกว่าเธอยากผลักดันคือเรื่องของผู้หญิง ซึ่งเธอได้พูดคุยกับหลายองค์กรเรื่องของการพัฒนาองค์ความรู้ของผู้หญิงในพื้นที่ พัฒนาทักษะที่เขาควรจะมี 

 

“สิ่งหนึ่งที่กะเมาะเห็นมาโดยตลอด 20 ปี แค่ในวงการเรียน เด็กผู้หญิงจะเรียนยาว แต่เด็กผู้ชายจะเรียน ป.1-6 พอเข้า ม.1 ก็เริ่มไม่อยู่ในห้องเรียน พอ ม.6 เริ่มไม่มี กลายเป็นเด็กผู้หญิงล้วน พอมหาวิทยาลัยไม่มีผู้ชายเลย มีแต่ผู้หญิง ถามว่าผู้ชายหายไปไหน 

 

“ด้วยความเคารพก็คือว่าในเรือนจำของเราที่นี่ 80-90% ด้วยซ้ำไปรู้ไหม ใครอยู่ตรงไหน ผู้ชาย 90% วัยประมาณ 18-40 ปี ซึ่งวัยนี้เป็นวัยที่ปูเรื่องดูแลชีวิตคน แต่คนเหล่านี้กลับไปอยู่ในที่ที่ทำให้เขาเป็นภาระของครอบครัว” พาตีเมาะกล่าว

 

พาตีเมาะอธิบายต่อไปว่า จากสถิติเหล่านี้ผู้หญิงต้องรับภาระ พอเขาไปอยู่ในนี้ เขาไม่ได้อยู่แค่ 1-2 ปี เขาอยู่ 4-5 ปี คำถามเพราะอะไร คำตอบง่ายๆ คือเรื่องยาเสพติด 

 

“นี่คืออยากสะท้อนให้พวกเรา เพราะฉะนั้นทำไมกะเมาะถึงบอกว่าวันนี้เราต้องไปทำกับผู้หญิง เพราะผู้หญิงดูแลครอบครัว ผู้หญิงทำมาหากิน ทำอย่างไรให้ครอบครัวมีคุณภาพ เราก็ต้องเสริมพลังของผู้หญิง เพราะเขาสามารถอยู่ได้ด้วยอะไร Skill ทักษะของการทำงาน ความสามารถ บริบทของการตอบสนอง มันก็พูดด้วยเรื่องของความสามารถ ทักษะภาษาการสื่อสาร ต้องสร้างพลังเหล่านี้ให้ตัวเอง บริบทหนึ่งที่ต้องมองคือผู้หญิงเป็นผู้ที่มีบทบาทแก่ครอบครัว “

 

 

เราต้องก้าวข้ามในเรื่องของผู้บังคับบัญชา ปัจจุบันการบริหารจัดการ การทำงานสิ่งแรกนะของความร่วมมือ มันต้องขอความร่วมมือ 

 

 

‘ความไม่สงบ’ กับดักความรู้สึกของคนนอกที่มองปัตตานี

 

เมื่อพูดถึงปัตตานี หลายคนจะนึกถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ที่มีมาอย่างยาวนาน พาตีเมาะยอมรับว่าวันนี้ความรุนแรงยังคงมีอยู่ 

 

“ถามว่าเราจะทำสถานการณ์นี้อย่างไร เหมือนที่บอกเลยว่าเรามีชุดความรู้ที่หลากหลายในพื้นที่บ้านเรา แล้วก็มีความแตกต่างกัน แต่ละคนก็มีชุดความรู้ต่างกัน เรื่องของชุดความไม่สงบ กะเมาะมองว่าอย่างไรในปัจจุบัน โอกาสที่จะมีมันก็คงมีอยู่”

 

เธอเล่าต่อไปว่าเวลาจัดเวทีพูดคุยกับคนในพื้นที่ ประเด็นความมั่นคงคนในพื้นที่กลับพูดน้อยมาก คนในพื้นที่พูดอย่างเดียวคือเรื่องปัญหา ‘ยาเสพติด’ เธอบอกว่านี่คือภาพความเป็นจริงที่คนในมอง

 

“สถานการณ์ความไม่สงบ ใช่ มันเป็นส่วนหนึ่ง แต่มีปัจจัยอีกหลายปัจจัยที่มาเป็นตัวเสริมตัวนั้น ง่ายๆ อย่างกะเมาะไปกรุงเทพฯ ขนาดเพื่อนสนิทกันบอกว่าปลอดภัยไหม มาได้ไหม บอกว่าปลอดภัยไหมจะมาแล้ว พอจองตั๋วเรียบร้อยแล้ว ตู้มทีเดียว ยกเลิกตั๋วแล้ว เรียบร้อยแล้ว นี่คือขนาดคนใกล้เรา คนใกล้ตัวเราเขายังไม่มีความเชื่อมั่นเลย”

 

เหตุการณ์ความไม่สงบที่ล่วงเลยมากว่า 20 ปี ก็กลายเป็นกับดักของคนข้างนอก เป็นกับดักของความรู้สึกของคน ความไม่เชื่อมั่น ไม่เชื่อว่าความปลอดภัยยังคงมีอยู่ 

 

สิ่งหนึ่งที่กะเมาะคิดคือเราต้องทำบริบทคนข้างในเราให้มีความไว้วางใจกัน แล้วก็ต้องสร้างบรรยากาศกันข้างใน ทุกสิ่งที่พูดนี่คือการสร้างบรรยากาศข้างใน แล้วบรรยากาศเหล่านี้มันจะถูกปล่อยออกโดยเครื่องมือทางเทคโนโลยีมากมาย ที่จะอยู่ในมือพวกเรา 

 

“เราจะไปบอกการันตีคนข้างนอกว่ามาเถอะ รับรองได้ไม่มี คนพูดอย่างเรายังไม่มั่นใจเลย เพราะเราคุมในสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องทำสิ่งเหล่านี้” พาตีเมาะกล่าว

 

พาตีเมาะบอกว่า เธอเชื่อว่าการต่อสู้ด้วยวิธีการโต้กลับไปกลับมามันไม่จบ สุดท้ายแล้วต้องมาพูดบนพื้นฐานความเข้าใจ ต้องมาคุยกันว่าเราอยากจะทำอะไร อยากจะมาสร้างบ้านเราอย่างไร ก้าวผ่านในเรื่องของประวัติศาสตร์ในอดีต อะไรที่มาแล้วก็ไป 

 

“อยากให้พวกเราคิด ช่วยกันในสถานการณ์อย่างนี้ ความเชื่อมั่นว่าสุดท้ายแล้วมันจะนำไปสู่ความสุขร่วมกัน นำไปสู่สันติสุขที่ยั่งยืนร่วมกัน ด้วยวิธีคิด วิธีการทำงานของกะเมาะ เราจะทำงานของเราทำจากคนข้างใน ให้เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน การเคารพซึ่งกันและกัน การให้เกียรติซึ่งกันและกัน แล้วเมื่อข้างในเราเรียนรู้ร่วมกับข้างนอก แล้วข้างนอกก็จะได้รับสิ่งเหล่านี้เช่นกัน ท่ามกลางสถานการณ์ที่อาจยังไม่สงบ” พาตีเมาะกล่าวทิ้งท้ายในที่สุด

 

เราต้องทำบริบทคนข้างในเราให้มีความไว้วางใจกัน แล้วก็ต้องสร้างบรรยากาศกันข้างใน เราจะไปบอกการันตีคนข้างนอกว่ามาเถอะ รับรองได้ไม่มี คนพูดอย่างเรายังไม่มั่นใจเลย เพราะเราคุมในสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องทำสิ่งเหล่านี้

 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising