×

ทนายย้ำ เจ้าของข้อมูลบนถุงขนมโตเกียว ฟ้องร้องได้ทั้งแพ่ง-อาญา ถึงเป็นแพทย์กฎหมายก็ถือว่ามีความผิด

โดย THE STANDARD TEAM
22.09.2022
  • LOADING...
ถุงขนมโตเกียว

วันนี้ (22 กันยายน) สืบเนื่องจากกรณีที่มีผู้ร้องเรียนผ่านทีมข่าว THE STANDARD ว่าพบความผิดปกติของถุงกระดาษที่ใส่ขนมโตเกียว ทำมาจากเอกสารประวัติผู้ป่วย รวมถึงใบรับรองการเสียชีวิต (ใบมรณบัตร) ของโรงพยาบาลในจังหวัดชลบุรี ซึ่งต่อมาทางกองทัพเรือได้ชี้แจงว่าเป็นโรงพยาบาลในสังกัด กรมแพทย์ทหารเรือ ซึ่งเกิดข้อผิดพลาดระหว่างการเผาทำลาย 

 

ทีมข่าว THE STANDARD ได้พูดคุยกับ ณัชนพ เกตุเลขา ทนายความในส่วนของข้อกฎหมาย ว่าหากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับตัวเราหรือบุคคลใกล้ตัว สามารถดำเนินคดีได้อย่างไรบ้าง

 

ณัชนพกล่าวว่า ในทางกฎหมาย ข้อมูลดังกล่าวที่ปรากฏจัดเป็นข้อมูลในทางการแพทย์ ในส่วนนี้จะมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุขภาพแห่งชาติ ปี 2550 มาตรา 7 ระบุไว้ว่า ‘ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่ากรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือกฎหมายอื่น เพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้’

 

ซึ่งผู้ที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ปี 2550 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 49 มีโทษอาญาคือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกส่วนหนึ่งคือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 323 บัญญัติไว้ว่า 

 

‘ผู้ใดล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่น โดยเหตุที่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ โดยเหตุที่ประกอบอาชีพแพทย์ เภสัชกร คนจำหน่ายยา นางผดุงครรภ์ ผู้พยาบาล นักบวช หมอความ ทนายความหรือผู้สอบบัญชี หรือโดยเหตุที่เป็นผู้ช่วยในการประกอบอาชีพนั้น แล้วเปิดเผยความลับนั้นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ’

 

ณัชนพกล่าวต่ออีกว่า เจ้าของข้อมูลดังกล่าวจึงถือว่ามีสิทธิฟ้องทั้งทางแพ่งและอาญา ฉะนั้นเมื่อพบเอกสารที่มีรายละเอียดของตน สามารถนำไปแจ้งความร้องทุกข์ได้ทันที อีกทั้งในส่วนของกฎหมาย PDPA หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ก็มีการกล่าวถึงในส่วนของประวัติคนไข้ที่ต้องได้รับการคุ้มครองเช่นกัน

 

ข้อสังเกตหนึ่งของเรื่องนี้คือจะเห็นว่า พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ปี 2550 ที่ออกมาตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว สะท้อนว่ามาตรฐานของวิชาชีพแพทย์ สถานพยาบาลถูกกำหนดเอาไว้สูง ฉะนั้นการที่ปล่อยให้มีข้อมูลหลุดออกมาได้ อาจสะท้อนถึงปัญหาการจัดการภายใน และในอนาคตควรจะปิดรอยรั่วที่เกิดขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising