×

สว. 67 : ตั้ง ฮั้ว ซื้อ มีครบ! จับตาฝ่า 3 ด่านเลือก สว.

30.05.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า คุยกับ THE STANDARD พร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพิรุธต่างๆ ในการรับสมัคร สว. และเรื่องที่ต้องจับตาในการเลือกทั้ง 3 รอบต่อไป
  • ตั้งแต่จำนวนคนที่มาลงสมัครมากขึ้นในช่วงวันท้ายๆ ตลอดจนบางจังหวัดที่คนสมัครมากเป็นพิเศษ สอดคล้องกับคนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อปี 2566 เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นเค้าลางชัดเจนของการจัดตั้ง
  • “นัดใส่ถุงเท้าสีเดียวกัน ให้รู้ว่าต้องเลือกกันเอง” สติธรกล่าวติดตลกถึงวิธีการฮั้วเลือก สว. ที่เป็นไปได้ เนื่องจากยิ่งคนมาสมัครมาก กลุ่มจัดตั้งยิ่งต้องมีวิธีช่วยจำว่าต้องเลือกใคร
  • สติธรเตือนให้ กกต. และผู้สังเกตการณ์หน้างานจับตาการฮั้วในระดับอำเภอและจังหวัด ที่จะมีความเข้มข้นเพราะเป็นการชิงกันคุมกระดาน ขณะที่ในระดับประเทศจะเริ่มเป็นการซื้อตัวหน้างานมากกว่า

การรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่สิ้นสุดลงแล้ว ด้วยผู้สมัครจำนวน 48,117 คนจากทั่วประเทศ และจำนวนดังกล่าวจะต้องขับเคี่ยวกันเพื่อไปสู่ 200 คนสุดท้ายที่จะได้เป็น สว. ผ่าน 3 กระบวนการ

 

  • รอบอำเภอ เลือกกลุ่มอาชีพเดียวกัน 1 คน แล้วจับสลากเลือกไขว้กลุ่มอาชีพ 1 คน
  • รอบจังหวัด เลือกกลุ่มอาชีพเดียวกัน 1 คน แล้วจับสลากเลือกไขว้กลุ่มอาชีพ 1 คน
  • รอบประเทศ เลือกกลุ่มอาชีพเดียวกันไม่เกิน 10 คน และเลือกไขว้กัน 5 คน

 

อย่างไรก็ตาม กระบวนการรับสมัครยังมีความไม่ปกติอยู่หลายจุด ประกอบกับความกังวลเรื่องการฮั้ว และบรรดาผู้สมัครจัดตั้งของกลุ่มการเมืองต่างๆ

 

THE STANDARD พูดคุยกับ สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เพื่อสำรวจความไม่ชอบมาพากลของการรับสมัคร และประชาชนควรต้องจับตาอะไรในการเลือก สว. ทั้ง 3 รอบที่กำลังจะมาถึง

 

เค้าลาง ‘การจัดตั้ง’ เด่นชัด

 

ตลอด 5 วันของการสมัคร สว. โดยเฉพาะในช่วงปลายของการรับสมัคร สื่อบางสำนักรายงานความเคลื่อนไหวที่ไม่ปกติ เช่น ผู้สมัครบางกลุ่มอาชีพมามากผิดสังเกต โดยเฉพาะกลุ่มสตรี หรือทำสวน บางคนเตรียมเอกสารมาไม่ครบ กระทั่งเขียนชื่อตัวเองยังไม่ได้ สติธรชี้ว่า นี่คือร่องรอยที่พอจะชี้ได้ว่าเป็นเค้าลางของการจัดตั้ง

 

“เราต้องจินตนาการว่า คนที่จะลงสมัคร สว. ในระบบและบรรยากาศแบบนี้ ด้วยเงื่อนไขค่าสมัครและอื่นๆ ภาพลักษณ์ภายนอกก็ควรจะประมาณหนึ่ง” สติธรตั้งข้อสังเกต

 

สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

 

“ไม่น่าจะเป็นภาพตามข่าวที่เราเห็นว่า เป็นชาวบ้านมากๆ อะไรแบบนี้ อารมณ์ไม่น่าจะได้ พอมีคนกลุ่มนี้แทรกเข้ามา ประกอบกับเราระแวงอยู่แล้วว่าจะมีกลุ่มจัดตั้ง มีข่าวลือว่าเขาจ่ายเงินจ้างวานกันมา ทั้งหมดจึงสมเหตุสมผล”

 

นอกจากนี้ สติธรยังชวนให้ตรวจสอบข้อมูลในเชิงปริมาณในแต่ละวัน “ก็จะยิ่งเข้าเค้า”

 

โดย กกต. รายงานจำนวนผู้สมัครตั้งแต่วันที่ 20-24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งหมด 48,117 คน แบ่งเป็น

 

  • วันแรกมีผู้สมัคร 4,642 คน
  • วันที่สองมีผู้สมัคร 6,607 คน
  • วันที่สามมีผู้สมัคร 9,434 คน
  • วันที่สี่มีผู้สมัคร 13,486 คน
  • และวันที่ห้ามีผู้สมัคร 13,948 คน

 

“เปิดรับสมัครวันแรกๆ คนยังไม่ค่อยมา พอวันท้ายๆ คนเริ่มมาเป็นกระจุก” สติธรอธิบาย

 

“แปลว่าวิธีการของคนที่ต้องการคุมเกม เขาจะดูสถานการณ์ก่อนใน 3-4 วันแรกว่าผู้สมัครเยอะไหม แล้วต้องวางคนจำนวนแค่ไหน อำเภอไหนยังมีที่ว่าง กลุ่มไหนสมัครแล้วเข้ารอบได้ง่ายๆ ก็ต้องรีบหาคนไปวาง วันท้ายๆ จึงเริ่มมาลงสมัครกันแต่ละจังหวัดในสัดส่วนที่กระจายตัว ทำให้เห็นเค้าลางของกลุ่มจัดตั้ง”

 

อย่างไรก็ตาม สติธรยังมองว่าประมาทไม่ได้ เนื่องจากกลุ่มผู้สมัครอิสระก็ทยอยมาสมัครกันมากในช่วงวันท้ายเหมือนกัน เพราะแม้บางคนจะลงสมัครเพื่อโหวตเท่านั้น แต่ก็มีไม่น้อยที่ไม่อยากจะตกรอบตั้งแต่รอบแรก จึงต้องดูท่าทีของไม่กี่วันแรกก่อนแล้วค่อยรับสมัคร เป็นเหตุให้จำนวนดีดตัวขึ้นมา

 

จับตาหน้างาน ‘สีเสื้อส่งสัญญาณ’

 

เราถามสติธรว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่จับตาเหตุการณ์ แม้จะมีข้อสังเกตมากมาย แต่ยังขาดหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีการฮั้ว แล้ว กกต. และบรรดาผู้สมัครที่อยู่หน้างานควรจับตาอย่างไรในวันรับเลือก?

 

บรรยากาศการรับสมัคร สว. วันแรก

ที่สำนักงานเขตพญาไท เมื่อ 20 พฤษภาคม 2567

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

สติธรให้ความเห็นว่า จากข้อมูลต่างๆ ต้องเก็บรวบรวมเป็นสัญญาณให้คนที่อยู่หน้างาน เพราะสุดท้ายไม่ว่าจะเป็นผู้สมัครธรรมชาติหรือถูกจ้างมา ต่างก็มีเป้าหมายที่จำเพาะเจาะจงว่าต้องเลือกใครในแต่ละรอบ โดยเฉพาะในรอบเลือกไขว้น่าจะเห็นได้ไม่ยาก

 

“เพราะการจะให้คนมานั่งจำ โดยเฉพาะในอำเภอใหญ่ๆ ว่าถ้าจับสลากเจอว่าถ้าเป็น 3 กลุ่มนี้จะต้องเลือกคนไหนบ้าง ทำให้ต้องจำคนทั้ง 20 กลุ่มซึ่งยากมาก”

 

“จึงต้องมีวิธีช่วยจำ มีคนพูดกันเล่นๆ ว่า ใช้การแต่งตัวได้ไหม ติดเข็มกลัด ติดต่างหูสีเดียวกัน นัดกันใส่ถุงเท้าสีเดียวกัน เพื่อให้รู้ว่าต้องเลือกกันเอง ถามว่าเรื่องเหล่านี้ กกต. ตรวจหรือไม่ คุณยึดมือถือก็จริง แต่คุณยึดเข็มขัดไหม อย่างนี้ง่ายเลยนะ”

 

สติธรเล่าอย่างติดตลกถึงกลวิธีต่างๆ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จับไม่ได้ เช่นที่พบบ่อยในวันเลือกตั้ง มีการตะโกนขึ้นมาก่อนเข้าคูหาว่า “อย่าลืมนะวันที่ 5 เจอกันบ้านผู้ใหญ่” แปลว่าส่งสัญญาณให้เข้าไปกาเบอร์ 5 ซึ่งสุดวิสัยของ กกต. ที่จะห้ามผู้คนให้พูดคุยกัน

 

ผู้สมัครพุ่ง ‘จังหวัดสีน้ำเงิน’ พื้นที่จัดตั้ง?

 

อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันพอสมควร คือจังหวัดที่มีจำนวนผู้สมัคร สว. มากสุด จากที่คาดกันว่าเป็นกรุงเทพฯ กลับแพ้ให้ศรีสะเกษไป ทั้งยังมีอีกหลายจังหวัดในพื้นที่อีสานใต้ ที่มีผู้สมัครเป็นจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ

 

ข้อมูลจาก กกต. เรียงลำดับจังหวัดตามจำนวนผู้สมัคร สว. ได้ว่า

 

อันดับ 1 ศรีสะเกษ 2,764 คน

อันดับ 2 กรุงเทพฯ 2,489 คน

อันดับ 3 เชียงใหม่ 2,000 คน

อันดับ 4 บุรีรัมย์ 1,836 คน

อันดับ 5 นครศรีธรรมราช 1,798 คน

 

สติธรบอกเราว่า ให้ลองสังเกตข้อมูลนี้แล้วไปเทียบกับจำนวนผู้มาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าปี 2566 แล้วจะพบความสอดคล้องกันในหลายจังหวัด

 

ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2566 ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย โพสต์ข้อความตั้งข้อสังเกตว่า มีการเก็บบัตรประชาชน และลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าผิดปกติที่จังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร และศรีสะเกษ ถึงขั้นที่ กกต. ก็ยอมรับว่ามีความไม่ปกติและให้มีการไต่สวน

 

“จังหวัดเหล่านี้เป็นพื้นที่ซึ่งคนพูดกันบ่อยๆ ว่ามีพรรคการเมืองพยายามจัดตั้ง” สติธรกล่าว “นี่มันไม่ใช่บังเอิญแล้ว ที่มาตรงกับจังหวัดที่มีรถขนคนมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า นี่คือการจัดตั้งของแท้อย่างเห็นได้ชัด”

 

สติธรเองก็เห็นด้วยกับหลายฝ่ายว่า กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทั้งการศึกษา สถานที่ทำงาน ทั้งประชากรก็เยอะกว่า เอื้อกันกับกติการับสมัคร สว. แต่จำนวนผู้สมัครกลับไปโผล่จังหวัดแปลกๆ

 

“อย่างไรก็จัดตั้งชัวร์ๆ” สติธรกล่าว

 

จับตา ‘3 โค้งอันตราย’ ก่อนได้ สว.

 

  • ระดับอำเภอ

 

สติธรเน้นให้จับตาเรื่องฮั้ว เพราะการเลือกในระดับอำเภอเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความสำเร็จในการฮั้วภายใต้กติกานี้ เพราะในการเลือกรอบแรกกลุ่มละไม่เกิน 5 คน จากนั้นไขว้กันเพื่อให้ได้ผู้มีคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม จากทั้งหมด 20 กลุ่มในทุกอำเภอ จำนวนดังกล่าวจะถูกล็อกไปตั้งแต่ระดับจังหวัดจนถึงระดับประเทศ

 

“ใครคุมผลลัพธ์ของรอบอำเภอได้ คือคุมทั้งกระดาน” สติธรเน้นย้ำ

 

สติธรเตือนด้วยว่า ถ้าในจำนวนคนที่ผ่านเข้ารอบจากระดับอำเภอไปได้ เป็นคนจากกลุ่มจัดตั้งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือผสมกันสัก 8,000 คน ก็เท่ากับฝ่ายจัดตั้งคุมเกมสำเร็จ

 

ตอนนี้ผ่านช่วงเปิดรับสมัครมาแล้ว ดังนั้นการเชิญชวนให้คนมาสมัครมากๆ เพื่อเอาปริมาณเสียงอิสระมาสกัดการจัดตั้งที่เคยรณรงค์กันนั้นไม่สามารถทำได้แล้ว เมื่อสู้ด้วยจำนวนไม่ได้ ต้องสู้ด้วยคุณภาพ

 

“เราก็ได้แต่ลุ้นว่าคนที่ถูกจัดตั้งเขาย่อมไม่มีใจมา เขาก็มีโอกาสเลือกผิดเป้าสูง จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หน่วยเลือกว่าจะคุมอย่างไรไม่ให้คนส่งสัญญาณแลกคะแนนกันแบบง่ายๆ เช่น แต่งตัวมาเหมือนกัน นี่จะเป็นการคุมคุณภาพ สว.”

 

กลุ่มผู้ประสงค์ลงสมัคร สว. ในการจำลองกระบวนการเลือก สว.

ที่หอศิลปกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2567

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

  • ระดับจังหวัด

 

ระดับนี้จะคล้ายระดับอำเภอ เพราะกระบวนการเลือกคล้ายกัน ต่างกันแค่จำนวนที่จะได้

 

“ถ้ารอบจังหวัดล็อกมาจากรอบอำเภอได้แล้วก็จบ แต่ถ้ารอบอำเภอพลาดเป้าจะต้องมาล็อกที่รอบจังหวัดอีกครั้ง เพราะสุดท้ายผลลัพธ์คล้ายกันคือ 2 คนต่อกลุ่ม เป็นจำนวนตายตัว”

 

สติธรยกตัวอย่างจังหวัดศรีสะเกษที่คนสมัครเยอะ กลุ่มจัดตั้งอาจ ‘กันเหนียว’ จากรอบอำเภอ จึงเกณฑ์คนมาสมัครเป็นจำนวนมาก กรณีแบบนี้สติธรคาดว่าฝ่ายจัดตั้ง ‘ขอเหมายกจังหวัด’ คือหวังผลให้ได้ผู้สมัครอย่างน้อย 40 คนจากศรีสะเกษให้เข้ารอบสู่ระดับประเทศให้ได้

 

“คือไม่ได้หวังแค่คนสองคนแน่ๆ” สติธรให้ความเห็น

 

  • ระดับประเทศ

 

สำหรับรอบ 200 คนสุดท้ายจะมีความแตกต่างออกไป คือการ ‘ซื้อหน้างาน’ โดยพวกที่มีทุนหน้า สติธรมองว่าหากคุมเสียงใน 2 รอบที่ผ่านมาไม่สำเร็จ ก็จำเป็นต้องมาซื้อตัวผู้สมัครก่อนเข้าสู่กระบวนการเลือกระดับประเทศ หรือบางกลุ่มก็ตั้งใจมาซื้อในขั้นตอนนี้เลยตั้งแต่แรก

 

“แต่ไม่ง่ายหรอก เพราะจะต้องซื้อแพง รอบนี้มี 3,000 คน ยิ่งผ่านเข้ารอบสุดท้ายมาก็ยิ่งมีราคา” สติธรอธิบาย

 

เขาบอกด้วยว่าในระดับประเทศนี้ อย่างน้อยจะมีลางบอกเหตุคือ กกต. จะส่งเอกสารข้อมูลผู้ที่เข้ารอบระดับประเทศมาให้ผู้สมัครในรอบเดียวกัน 3 วันล่วงหน้า

 

“ในวันที่เห็นข้อมูลนี่แหละจะเป็นวันเริ่มเปิดประมูล และในรอบนี้แต่ละคนจะมีไพ่ในมือเยอะขึ้น ไม่เหมือนรอบอำเภอ จังหวัด ที่แต่ละรอบมี 2 แต้ม รอบนี้แต่ละคนจะเลือกได้เยอะขึ้น มีโอกาสแลกกันได้เยอะ ปรากฏการณ์ซื้อขายแลกเปลี่ยนจะมีในรอบนี้”

 

อัปเดตข่าวล่าสุด เลือก สว. 2567 เกาะติดผลการเลือก สว. ได้ที่ https://thestandard.co/thai-senate-election-2024/, Facebook : THE STANDARD และ YouTube : THE STANDARD

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising