×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: ถอดบทเรียนดีเบตในอดีต ก่อนถึงศึกดวลวิสัยทัศน์ ทรัมป์-ไบเดน ยกแรก

28.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ชาวอเมริกันทั่วประเทศจับตาศึกดีเบตผู้สมัครประธานาธิบดี โดยหลายครั้งหลายคราวสิ่งที่เกิดขึ้นบนเวทีดีเบตอาจทำให้คะแนนนิยมของผู้สมัครสูงขึ้นหรือตกต่ำลงได้ในชั่วข้ามคืน
  • เรแกนเคยใช้เวทีดีเบตแก้ปัญหาคนที่กังวลเรื่องอายุของเขา เมื่อผู้ดำเนินรายการถามเขาว่า อายุของเขาจะเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ประธานาธิบดีหรือไม่ เรแกนตอบว่า “ผมจะไม่เอาอายุที่น้อยและความด้อยประสบการณ์ของคู่แข่งของผมมาเป็นประเด็นทางการเมือง” เรแกนตอบโต้ได้ชาญฉลาด เขาเอาประเด็นเรื่องอายุที่ควรจะเป็นจุดอ่อนของเขามาโยนให้เป็นจุดอ่อนของคู่แข่งแทน ผู้ชมในห้องส่งพึงพอใจกับคำตอบนี้มาก 
  • สำหรับดีเบตที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 29 กันยายนนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีของทรัมป์ที่จะใช้เป็นจุดเปลี่ยนของแคมเปญการหาเสียงของเขา หลังจากที่คะแนนของเขาตามหลังไบเดนมาตลอดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

การดีเบตครั้งแรกสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์และ โจ ไบเดน กำลังจะเกิดขึ้นในคืนวันอังคารที่จะถึงนี้ (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ เมืองคลีฟแลนด์ มลรัฐโอไฮโอ ซึ่งการพบกันบนเวทีดีเบตแบบตัวต่อตัวระหว่างผู้สมัครจากสองพรรคถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการหาเสียงที่ชาวอเมริกันหลายสิบล้านคนทั่วประเทศเฝ้าจับตาดูอยู่ และหลายครั้งหลายคราวที่สิ่งที่เกิดขึ้นบนเวทีดีเบตอาจทำให้คะแนนนิยมของผู้สมัครสูงขึ้นหรือตกต่ำลงได้ในชั่วข้ามคืน

บทความนี้จะพาย้อนดูผลงานการดีเบตในอดีตที่ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งหรืออนาคตทางการเมืองของผู้สมัครในเวลาต่อมา

 


นิกสัน-เคนเนดี (1960)
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 1960 เป็นการชิงชัยระหว่าง จอห์น เอฟ. เคนเนดี จากพรรคเดโมแครต และ ริชาร์ด นิกสัน จากพรรครีพับลิกัน ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่มีการดีเบตกันของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 2 คน และมีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ

เคนเนดีเป็นนักการเมืองหนุ่มหน้าตาดี ในขณะที่นิกสันเป็นนักการเมืองที่มีอายุแล้วและมีริ้วรอยไปตามวัย ทีมหาเสียงของเคนเนดีทราบดีว่าการดีเบตออกโทรทัศน์ครั้งนี้ ชาวอเมริกันจะไม่ได้ตัดสินกันที่เนื้อหานโยบายที่เอามาโต้เถียงกันอย่างเดียว แต่ภาพลักษณ์ที่ออกมาบนจอก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ทีมงานจึงพยายามดึงเอาความเป็นคนหนุ่มหน้าตาดีของเคนเนดีออกมาใช้ให้ได้มากที่สุด ด้วยการให้เคนเนดีหยุดเดินสายหาเสียงก่อนวันดีเบตเพื่อให้เขาได้พักผ่อนเต็มที่ หน้าตาจะได้ดูผ่อนคลายและสดชื่น และที่สำคัญเคนเนดีแต่งหน้าเพื่อให้ตัวเองขึ้นกล้องอีกด้วย

ในทำนองตรงข้าม ทีมงานของนิกสันไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องภาพลักษณ์ ทีมงานของนิกสันมั่นใจว่าด้วยประสบการณ์การเป็นรองประธานาธิบดีมา 8 ปีจะทำให้นิกสันสามารถอภิปรายถึงเรื่องนโยบายได้เหนือกว่าเคนเนดี โดยเฉพาะเรื่องการต่างประเทศและสงครามเย็น นิกสันไม่เตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ เขายังออกเดินสายปราศรัยหาเสียงในวันนั้นด้วยซ้ำก่อน ทำให้หน้าตาของนิกสันดูเหนื่อยล้าและเขายังปฏิเสธไม่แต่งหน้าอีกด้วย

ภาพที่ปรากฏบนจอโทรทัศน์คือ เคนเนดีดูหล่อเหลา ดูเป็นคนหนุ่มที่มีความมั่นใจในตัวเองและมีบุคลิกความเป็นผู้นำ ในขณะที่ภาพบนจอของนิกสันเต็มไปด้วยริ้วรอย ปากของเขาดูขาวซีด (เพราะไม่ได้ทาลิปสติกช่วย) มีเหงื่อออกเป็นระยะเหมือนคนป่วย นอกจากนี้ระหว่างดีเบตนิกสันก็ดูกลอกตาไปมาและทำตัวแข็งเกร็งตลอด ซึ่งน่าจะเป็นผลจากความเหนื่อยล้าที่เขาพักผ่อนมาไม่เพียงพอ

ผลโพลระบุว่า คนที่รับชมดีเบตทางโทรทัศน์ยกให้เคนเนดีเป็นฝ่ายชนะ ในขณะที่ผู้ฟังทางวิทยุที่ไม่เห็นภาพของผู้สมัครให้นิกสันเป็นฝ่ายชนะ (แต่ผู้ฟังทางวิทยุเป็นคนส่วนน้อยเพราะในปี 1960 คนอเมริกันกว่า 90% มีโทรทัศน์ในครัวเรือนแล้ว)

ผลการเลือกตั้งปี 1960 เป็นการเลือกตั้งที่สูสีมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เคนเนดีชนะคะแนน Popular Vote ไปอย่างหวุดหวิด 49.7% ต่อ 49.5% และเคนเนดีชนะคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ได้ด้วยการชนะในมลรัฐใหญ่ๆ ไปอย่างฉิวเฉียดหลายมลรัฐ รวมทั้งอิลลินอยส์, มิสซูรี และนิวเจอร์ซีย์ ที่เขาชนะคะแนน Popular Vote เหนือนิกสันแค่ประมาณ 40,000 เสียงเท่านั้น ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าถ้าวันนั้นนิกสันมีภาพในโทรทัศน์ที่ดีกว่านี้ และชนะใจชาวอเมริกันเพิ่มได้อีกแค่ 40,000 คน เราก็อาจจะไม่มีประธานาธิบดีที่ชื่อเคนเนดี

 

 

เรแกน-มอนเดล (1984)
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1984 นั้น นักวิเคราะห์ทางการเมืองทุกคนมองตรงกันว่าประธานาธิบดีเจ้าของตำแหน่งอย่างเรแกนน่าจะรักษาเก้าอี้ไว้ได้อย่างสบายๆ เพราะคะแนนนิยมของเขาสูงมาก อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วภายใต้การบริหารประเทศด้วยหลักเศรษฐกิจแบบกระตุ้นอุปสงค์ (Supply-side Economy) ของเขา อย่างไรก็ดี เมื่อฤดูกาลหาเสียงมาถึงจริงๆ ผลโพลระบุว่า ชาวอเมริกันเริ่มมีความกังวลในเรื่องอายุของเรแกน เพราะในขณะนั้นเขามีอายุถึง 73 ปีแล้ว และหลายครั้งหลายคราที่เรแกนให้สัมภาษณ์ เขาก็ดูจะมีปัญหาเรื่องความจำ ทำให้เริ่มมีเสียงเล่าลือว่าเรแกนอาจจะเริ่มมีอาการของโรคสมองเสื่อมและอาจไม่สามารถบริหารประเทศในสมัยที่ 2 ได้ ในทางตรงข้าม คู่แข่งของเขาจากพรรคเดโมแครตอย่าง วอลเตอร์ มอนเดล ซึ่งเป็น ส.ว. จากมลรัฐมินนิโซตาเป็นนักการเมืองที่หนุ่มกว่าและมีอายุแค่ 56 ปี

ผลจากความกังวลในเรื่องอายุทำให้คะแนนนิยมของเรแกนลดลงมาในระดับหนึ่ง ซึ่งทางทีมงานของเรแกนกังวลกันว่าถ้ายังปล่อยให้เรื่องนี้เป็นประเด็นสำหรับการเลือกตั้งก็อาจจะเป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่ทำให้คนอเมริกันหันไปเลือกมอนเดลแทน เรแกนได้ใช้เวทีดีเบตในการจัดการปัญหานี้ เมื่อผู้ดำเนินรายการถามเขาว่า อายุของเขาจะเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ประธานาธิบดีหรือไม่ เรแกนตอบทันควันว่า

“ผมจะไม่เอาเรื่องอายุมาเป็นประเด็นในการหาเสียงหรอกนะ ผมจะไม่เอาอายุที่น้อยและความด้อยประสบการณ์ของคู่แข่งของผมมาเป็นประเด็นทางการเมือง”

เรแกนตอบโต้ได้ชาญฉลาดมาก เขาเอาประเด็นเรื่องอายุที่ควรจะเป็นจุดอ่อนของเขามาโยนให้เป็นจุดอ่อนของมอนเดลแทน ผู้ชมในห้องส่งพึงพอใจกับคำตอบนี้มากถึงกับหัวเราะและปรบมือให้เรแกนกันอย่างเกรียวกราว

หลังจากดีเบตในวันนั้นก็ไม่มีใครตั้งคำถามเรื่องอายุกับเรแกนอีก และเขาก็เอาชนะการเลือกตั้งไปได้อย่างถล่มทลายโดยที่ชนะมอนเดลได้ถึง 49 จาก 50 มลรัฐ

 

 

บุช-คลินตัน (1992)
การดีเบตระหว่าง จอร์จ บุช ผู้พ่อ กับ บิล คลินตัน ในปี 1992 ใช้รูปแบบของ Town Hall กล่าวคือ คำถามของดีเบตจะถูกถามโดยประชาชนชาวอเมริกันที่ได้รับเชิญให้เข้ามาร่วมในดีเบตโดยตรง (ไม่ใช่จากการถามโดยผู้ดำเนินรายการเหมือนดีเบตทั่วๆ ไป)

ก่อนหน้าจะมีการดีเบต คะแนนเสียงของบุชตามคลินตันอยู่พอสมควร เพราะชาวอเมริกันไม่พอใจผลงานการบริหารเศรษฐกิจที่ไม่ดีของบุช จนทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขนาดย่อมและมีคนตกงานเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้บุชยังมีภาพของชนชั้นนำที่สนใจแต่ผลประโยชน์ของนายทุนและชนชั้นสูงที่ไม่เข้าใจความเดือดร้อนของคนอเมริกันเดินดิน

บุชมาทำพลาดระหว่างดีเบต โดยที่คำถามหนึ่งที่บุชได้จากสตรีคนหนึ่งคือคำถามว่า ปัญหาหนี้ของประเทศ (ซึ่งโดยนัยเธอหมายถึงปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำด้วย) ส่งผลกระทบต่อบุชเป็นการส่วนตัวอย่างไร บุชทำพลาด 2 อย่างระหว่างการตอบคำถามนี้คือ 1. เขาแอบเหลือบมองนาฬิกาที่ข้อมือก่อนจะลุกขึ้นมาตอบ ซึ่งเป็นภาษากายที่บอกว่าเขาไม่แคร์และไม่อยากตอบคำถามเรื่องความเดือดร้อนของคนอเมริกา และ 2. เนื้อหาการตอบของเขาก็ดูวกวนไม่ตรงประเด็น พอเขาถูกจี้มากๆ ว่าแล้วมันส่งผลกระทบต่อเขาเป็นการส่วนตัวอย่างไร และถ้ามันไม่ส่งผลกระทบต่อเขาเป็นการส่วนตัว เขาจะเห็นใจชาวบ้านทั่วไปได้อย่างไร บุชหลุดปากตอกกลับหญิงคนนั้นไปว่า ถึงมันไม่กระทบเขาเป็นการส่วนตัว เขาก็เห็นใจชาวบ้านทั่วไปได้ เหมือนที่เขาไม่เคยเป็นมะเร็งก็สามารถเห็นใจคนป่วยเป็นมะเร็งได้

ภาษากายและคำตอบนี้ของบุชตอกย้ำภาพลักษณ์ของการเป็นชนชั้นสูงที่เอื้อมไม่ถึงของเขา ทำให้ท้ายที่สุดแล้วเขาแพ้คลินตันไปอย่างขาดลอย 

 

 

กอร์-บุช (2000)
การเลือกตั้งในปี 2000 เป็นการแข่งขันกันระหว่าง อัล กอร์ ที่ขณะนั้นเป็นรองประธานาธิบดีของคลินตันมา 8 ปีกับ จอร์จ บุช ผู้ลูก ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐเท็กซัสอยู่ ก่อนหน้าที่จะมีการดีเบต นักวิเคราะห์ทางการเมืองทุกคนมองตรงกันว่ากอร์น่าจะต้อนบุชเข้ามุมได้แน่ๆ เพราะกอร์มีประสบการณ์การเมืองในระดับชาติและการต่างประเทศมานับสิบปี ในขณะที่บุชมีประสบการณ์แค่การเมืองระดับมลรัฐเท่านั้น ซึ่งแม้แต่กอร์เองก็คงคิดแบบนั้น เพราะระหว่างบุชตอบคำถาม กอร์มักจะถอนหายใจออกมาดังๆ พร้อมทั้งกลอกตาไปมา ราวกับจะสื่อว่าคำตอบของบุชช่างไม่ฉลาดเหลือเกิน ซึ่งภาพที่ออกไปนี้กลายเป็นผลเสียต่อกอร์แทน เพราะมันเป็นภาพของคนเย่อหยิ่ง จองหอง ที่คิดว่าตัวเองฉลาดกว่าคนอื่น ทำให้คะแนนนิยมในแง่ความชอบในฐานะบุคคล (Likability) ของกอร์ลดลง

ไม่แน่ว่าถ้ากอร์ไม่ถอนหายใจและมองบนในดีเบตคราวนั้น ชาวฟลอริดา 537 คนอาจจะไม่มองว่าเขาเป็นคนเย่อหยิ่งและหันมาเทคะแนนเสียงให้เขา จนเขาได้เป็นประธานาธิบดีแทนที่จะเป็นบุชก็เป็นได้

เควล-เบนสเตนด์ (1988)
ดีเบตสุดท้ายที่เราจะพูดถึงเป็นดีเบตระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสองคน ซึ่งคือ แดน เควล จากพรรครีพับลิกัน (ผู้สมัครในตำแหน่งประธานาธิบดีคือ จอร์จ บุช ผู้พ่อ) และ ลอยด์ เบนสเตนด์ จากพรรคเดโมแครต (ผู้สมัครในตำแหน่งประธานาธิบดีคือ ไมเคิล ดูคาคิส)

เควลนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ตลอดฤดูการหาเสียงว่าเขาเป็นพวกอ่อนประสบการณ์ ยังไม่พร้อมจะเป็นรองประธานาธิบดี เพราะเขาอายุยังน้อย (ตอนนั้นเขาอายุแค่ 41 ปี) และเพิ่งเป็น ส.ว. มาได้แค่สมัยเดียว แน่นอนว่าในการดีเบต เควลย่อมถูกผู้ดำเนินรายการจี้ถามในประเด็นเรื่องความอ่อนประสบการณ์ของเขา ซึ่งเควลก็ตอบกลับไปว่า มันก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร เพราะเขาก็มีประสบการณ์ในสภาพอๆ กับเคนเนดี ตอนที่เคนเนดีได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี หลังจากที่เควลตอบคำถามนี้จบ เบนสเตนด์ก็อภิปรายตอบโต้ทันที

“ท่าน ส.ว. ผมเคยทำงานกับเคนเนดี ผมรู้จักเคนเนดีดี และเคนเนดีก็เป็นเพื่อนของผม ท่าน ส.ว. ครับ ท่านไม่ได้เสี้ยวหนึ่งของเคนเนดีหรอกนะ”

หลังจากเบนสเตนด์ตอบโต้ด้วยประโยคนี้ออกไป ผู้ชมทั้งห้องส่งก็ส่งเสียงอื้ออึงและปรบมือด้วยความชอบใจที่เบนสเสตนด์ปรามความหยิ่งผยองของเควลที่เอาตัวเองไปเปรียบกับประธานาธิบดีอันเป็นที่รักของชาวอเมริกันอย่างเคนเนดี

สุดท้ายแล้วการเลือกตั้งในปีนั้น บุช-เควล สามารถเอาชนะดูคาคิส-เบนสเตนด์ไปได้อย่างไม่ยากเย็น เพราะชาวอเมริกันเลือกที่ประธานาธิบดีเป็นหลัก ไม่ใช่ที่รองประธานาธิบดี แต่อนาคตทางการเมืองของเควลแทบจะหมดไปหลังจากดีเบตคราวนั้น เพราะเขาถูกมองว่าเป็นนักการเมืองไลต์เวต ซึ่งแม้ในเวลาต่อมาเควลจะพยายามลงชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยตัวเอง เขาก็ไม่อาจเอาชนะการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรครีพับลิกันได้

สำหรับดีเบตที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 29 กันยายนนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีของทรัมป์ที่จะใช้เป็นจุดเปลี่ยนของแคมเปญการหาเสียงของเขา หลังจากที่คะแนนของเขาตามหลังไบเดนมาตลอดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่ในเวลาเดียวกัน เขาก็ต้องระวังการโจมตีจากไบเดนด้วย หลังจากที่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาทรัมป์ถูกเปิดโปงว่าจ่ายภาษีแค่ 750 ดอลลาร์ในปี 2017 และอดีตผู้จัดการทีมหาเสียงของเขาก็พยายามฆ่าตัวตายที่บ้านพักในมลรัฐฟลอริดา

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising