×

“โลกใบนี้เริ่มที่ตัวเรา” PASCH-Camp ค่ายเยอรมันกับเกอเธ่ ที่สอนวิชาชีวิตและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังทำให้เขาหลักกลับมาคึกคักอีกครั้ง

02.12.2020
  • LOADING...
“โลกใบนี้เริ่มที่ตัวเรา” PASCH-Camp ค่ายเยอรมันกับเกอเธ่ ที่สอนวิชาชีวิตและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังทำให้เขาหลักกลับมาคึกคักอีกครั้ง

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลในประเทศไทยกินพื้นที่ทั้งหมดราว 190,000 ไร่ โดยครึ่งหนึ่งอยู่ในเกณฑ์เสียหายมาก และอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมากเพียงแค่ 6%
  • “ผมไม่ได้หวังว่าเด็กๆ ที่มาเข้าค่ายนี้จบออกไปแล้วจะเข้าใจทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน แต่แค่หวังว่าทุกครั้งที่เด็กจะเลือกใช้หรือทำอะไรก็ตาม พวกเขาจะหยุดคิดว่าสิ่งนั้นจำเป็นหรือไม่ขนาดไหน” – มาร์คุส ชติเชล ผู้ดูแลโครงการโรงเรียนความร่วมมือแห่งอนาคต 

นอกจากทะเลสิมิลัน ระบบนิเวศชายฝั่งเขาหลัก Memories Beach จุดเล่นเซิร์ฟสุดฮิต โรงแรมอัปสราซึ่งเป็นธุรกิจท้องถิ่นที่เน้นความกลมกลืนไปกับธรรมชาติ อะไรคือเป้าหมายที่สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย และโรงเรียนความร่วมมือแห่งอนาคต (Schools: Partners of the Future) ร่วมกันจัด ‘PASCH-Camp ค่ายเยอรมันกับเกอเธ่’ ขึ้นที่นี่ เพื่อสอนให้นักเรียนไทยได้เข้าใจความสำคัญของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีใหม่ๆ แห่งโลกอนาคต 

 

‘PASCH-Camp ค่ายเยอรมันกับเกอเธ่’ ระยะเวลา 8 วันในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาจึงน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นกิจกรรมเพื่อเยาวชน 40 คนจากเครือข่ายโรงเรียนความร่วมมือแห่งอนาคตที่มาเป็นส่วนหนึ่งในแคมป์แห่งนี้ ซึ่งไม่ได้สอนเรื่องภาษาเยอรมัน แต่ยังเชื่อมโยงหนุ่มสาวของไทยไปกับโลกอนาคต ที่สิ่งแวดล้อม ความคิดสร้างสรรค์ และความรู้ในเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ

 

กิจกรรมครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องของภาษาเยอรมันโดยครูจากเกอเธ่ทั้งหมด ซึ่งการสอนภาษาในสมัยใหม่ไม่ได้อยู่แค่ในชั้นเรียน แต่รวมถึงกิจกรรมนอกห้องเรียนต่างๆ ซึ่งปีนี้ทางแคมป์ตั้งใจให้เยาวชนได้เรียนรู้ความสำคัญของทรัพยากร การจัดการขยะ การอนุบาลแหล่งขยายพันธ์ุสัตว์น้ำ สำรวจระบบนิเวศทางทะเลและระบบนิเวศชายฝั่ง รวมถึงรู้จักการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับคนต่างที่มา และทำความรู้จักเพื่อนใหม่จากแผนกการเรียนการสอนภาษาเยอรมันในประเทศไทย

 

 

วิชาสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนตัวเราเพื่อโลก และดินโคลนที่เปื้อนเท้า

ปกติแล้วค่ายเยอรมันกับเกอเธ่จะจัดขึ้นเป็นเวลา 3 สัปดาห์ที่ประเทศเยอรมนี แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในปีนี้ทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมดังกล่าวได้ตามเดิม จึงมีการเปลี่ยนวิธีคิดและเปิด ‘PASCH-Camp ค่ายเยอรมันกับเกอเธ่’ ขึ้นที่เขาหลัก จังหวัดพังงา โดยรวมเด็กนักเรียนจาก 10 โรงเรียนทั่วประเทศมาเข้าร่วมแคมป์ 

 

สิ่งที่ PASCH-Camp มุ่งเน้นในปีนี้คือเรื่องการปกป้องรักษาธรรมชาติอย่างยั่งยืน การได้ค้นพบมุมมองใหม่ ความรู้ใหม่เกี่ยวกับประเทศไทย และเรียนรู้การจัดการขยะอย่างยั่งยืน ซึ่งกิจกรรมล้วนจัดขึ้นเพื่อสอดรับกับข้อมูลเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น

 

พังงา สตูล กระบี่ ตรัง คือพื้นที่ในประเทศไทยที่มีป่าชายเลนมากที่สุด

กิจกรรมการเรียนรู้เรื่องป่าชายเลนและระบบนิเวศชายฝั่งจึงเป็นกิจกรรมที่เด็กๆ ได้ลงไปเรียนรู้ ได้ลงไปในป่าชายเลนเพื่อปลูกต้นไม้ มองเห็นปู ปลา รวมทั้งสัตว์น้ำขนาดเล็กที่เติบโตตามระบบนิเวศ พร้อมทั้งกิจกรรมการพายเรือคายักเลียบป่าโกงกางในบริเวณเขาหลัก 

 

แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ในประเทศไทยกินพื้นที่ทั้งหมดราว 190,000 ไร่ โดยครึ่งหนึ่งอยู่ในเกณฑ์เสียหายมาก และอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมากเพียงแค่ 6%

ซึ่งทางค่ายได้พาเด็กๆ ไปดำน้ำบริเวณเกาะสี่ เกาะแปด ของหมู่เกาะสิมิลัน ได้รู้จักปะการังฟอกขาวที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมถึงการเป็นนักท่องเที่ยวที่อยู่ร่วมกับท้องทะเลโดยไม่ไปทำลายระบบนิเวศ 

 

ขยะในท้องทะเลที่เกิดจากพลาสติกรูปแบบต่างๆ ทั้งถุง ขวด โฟม หลอด ซึ่งขยะพลาสติกที่ทิ้งลงแหล่งน้ำทั่วโลกมีถึงปีละ 8 ล้านตัน ซึ่งสุดท้ายจะกลายเป็นขยะอยู่ในท้องทะเล

ที่เยอรมนี การแยกขยะเป็นเรื่องใหญ่มาก ทางค่ายจึงได้จัดให้เรียนรู้การแยกขยะเพื่อให้เกิดการนำไปรีไซเคิลได้ง่าย โดยสอนการแยกขยะออกเป็น ถังสีดำสำหรับขยะรวม ถังสีน้ำตาลเป็นขยะ Bio สำหรับเศษอาหาร ผลไม้ ผักต่างๆ ถังสีเหลืองสำหรับพลาสติก ถังสีเขียวสำหรับกระดาษ ตามแบบการแยกขยะที่เยอรมนี ซึ่งเด็กๆ สามารถนำกลับไปใช้กับครอบครัวได้ด้วย

 


 

เด็กๆ จะถูกแยกเป็นกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมตลอดทั้งวัน มีทั้งกิจกรรมนอกห้องเรียนในประเด็นเรื่องธรรมชาติต่างๆ และคลาสเรียนภาษา ซึ่งก็ไม่ได้เป็นการเรียนแบบตามตำรา มีทั้งการเล่นเกม การเต้นรำต่างๆ ที่ช่วยให้นักเรียนสนุกได้ตลอดทั้งวัน

 

ทางแคมป์ยังมอบของที่ระลึกให้เด็กนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยมีทั้งรองเท้าแตะที่ทำจากขยะพลาสติกในท้องทะเล หลอดและแปรงสีฟันไม้ไผ่ กระบอกน้ำสำหรับเติมที่ทุกคนต้องใช้ตลอดเวลาในค่ายเพื่อลดปริมาณขยะ รวมถึงสมุดสีเขียวเล่มเล็กๆ พร้อมข้อมูลเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เด็กๆ สามารถจดข้อมูลต่างๆ ลงไปได้ด้วย

 

มาร์คุส ชติเชล ผู้ดูแลโครงการโรงเรียนความร่วมมือแห่งอนาคต ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมไม่ได้หวังว่าเด็กๆ ที่มาเข้าค่ายนี้จบออกไปแล้วจะเข้าใจทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน แต่แค่หวังว่าทุกครั้งที่เด็กจะเลือกใช้หรือทำอะไรก็ตาม พวกเขาจะหยุดคิดว่าสิ่งนั้นจำเป็นหรือไม่ขนาดไหน เพราะสิ่งที่เขาทำ สุดท้ายก็เพื่ออนาคตของพวกเขาเอง”

 

 

สอนให้รู้จักอนาคต ก่อนที่พรุ่งนี้จะมาถึง 

คลาสหนึ่งที่น่าสนใจมากในค่าย PASCH-Camp คือการเรียนรู้เกี่ยวกับ AR รวมถึงเวิร์กช็อปการถ่ายและตัดต่อวิดีโอบนมือถือ รวมถึงการสร้างคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดีย เพราะทางแคมป์มองว่าเยาวชนในวันนี้จะเติบโตไปเป็นประชากรโลกที่ความรู้เหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญในชีวิตการทำงาน อย่างค่าย PASCH-Camp เองที่มีการจัดกิจกรรมในหลายประเทศทั่วโลกด้วยเครือข่ายโซเชียลมีเดียก็เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงให้พวกเขาได้เห็นและเรียนรู้ว่าในแต่ละประเทศเกิดอะไรขึ้นบ้าง

 

“มันคืออนาคต” เยิร์ก คลินเนอร์ รองผู้อำนวยการ หัวหน้าแผนกภาษาและวิชาการ ตอบทันทีที่มีคำถามว่าทำไมถึงเลือกสอนเกี่ยวกับการตัดต่อวิดีโอด้วยเทคนิค AR Filter ให้กับเด็กๆ ในค่ายครั้งนี้ 

 

“เพราะมันคือเรื่องของอนาคตที่เยาวชนเหล่านี้จะต้องเติบโตขึ้นไป และในไทยก็ยังไม่น่ามีการเรียนการสอนเรื่อง AR ในชั้นเรียนระดับมัธยมศึกษา ผมคิดว่าเด็กที่ได้เรียนรู้เรื่องนี้ในแคมป์ก็จะได้รับประโยชน์ มันอาจเป็นจุดเริ่มต้นในการค้นพบความชอบของตัวเอง ไม่แน่นะครับ หนึ่งในพวกเขาเหล่านั้นอาจจะโตขึ้นมาและสนใจในด้านนี้ อาจจะเลือกเรียนต่อเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์หรืออะไรในสายงานนี้ การที่แคมป์เปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และถ้าเขานำไปต่อยอดในอนาคตได้ เท่านี้ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จแล้วครับ”

 

โดยในวันสุดท้ายของแคมป์เป็นงานกาล่าดินเนอร์ที่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงศึกษาธิการ ผู้อำนวยการโรงเรียน และอาจารย์จากโรงเรียนต่างๆ มาร่วมงาน ซึ่งนักเรียนในแคมป์จะต้องแสดงผลงานที่ได้เรียนรู้ โดยแสดงคอนเทนต์ผ่านสื่อต่างๆ ที่เลือกใช้ ให้เห็นว่าความคิดในงานแต่ละชิ้นนั้นสะท้อนถึงความรู้สิ่งแวดล้อมกับภาษาเยอรมันที่ได้รับระหว่างเข้าแคมป์อย่างไร

 

 

ความจำจากสึนามิสู่การช่วยเหลือธุรกิจท้องถิ่น 

เยอรมนีเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิในประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 สูงถึง 500 คน และแม้จะมีการจัดพิธีรำลึก 15 ปีสึนามิ แต่ร่องรอยของความจำเกี่ยวกับภัยพิภัติครั้งนี้ยังปรากฏชัด การเลือกจัดแคมป์ที่เขาหลัก จังหวัดพังงา จึงเป็นการเลือกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ จนมาถึงอีกครั้งในปีนี้ที่เหตุการณ์โควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวซบเซา

 

มาร์คุส ชติเชล ให้สัมภาษณ์ว่า “จริงๆ แล้วเราจะไปจัดแคมป์ที่ภูเก็ตหรือกระบี่ก็ได้ แต่เราพบว่าที่เขาหลักเงียบเหงากว่าเมืองท่องเที่ยวหลักมาก เราจึงมาเซอร์เวย์ที่เขาหลัก จนมาเจอโรงแรมอัปสราซึ่งเป็นธุรกิจของคนท้องถิ่น ตัวโรงแรมเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม มีสวนครัว เล้าไก่ บ่อปลา ป่าสน และยังมีลำน้ำเล็กๆ ที่เชื่อมไปถึงป่าโกงกาง ชายหาดติดกันก็คือ Memories Beach ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเรื่องการเล่นเซิร์ฟ

 

“เรามองว่านอกจากจัดแคมป์ภาษาเยอรมัน โรงแรมอัปสราก็เหมาะในการเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน แล้วถ้าเราช่วยเหลือเรื่องการท่องเที่ยวของเขาหลักได้ด้วยก็จะยิ่งเป็นประโยชน์มากขึ้น”

 

ทะเลเขาหลัก เมื่อมองจาก Memories Beach ที่นักเล่นเซิร์ฟชาวไทยรู้จักกันดีก็ต้องบอกว่าค่อนข้างเงียบเหงา แต่ช่วงกว่าสัปดาห์ที่กิจกรรม PASCH-Camp จัดขึ้นที่นี่ นักเรียนมัธยมศึกษาจากทั่วประเทศที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ได้ทำให้ทะเลเขาหลักกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งเป็นความตั้งใจของ PASCH-Camp ในการเลือกพื้นที่บริเวณนี้ในการจัดกิจกรรมใหญ่ประจำปี เพราะไม่ใช่แค่เยาวชนไทยที่จะได้รู้จักประเทศของตัวเองได้ดีขึ้นกว่าเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นในแคมป์ยังถูกบอกเล่าไปสู่โลกผ่านเครือข่ายโซเชียลมีเดียของเกอเธ่ที่เชื่อมโยงเยาวชนจากทุกมุมโลกเข้าหากัน

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

FYI
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising