มีเหตุการณ์การเมืองเกิดขึ้นมากมายในวงการสงฆ์ช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเรื่องการฟ้องร้องพระสงฆ์ที่ออกมาแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะการพยายามไล่จับพระที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองสึก แม้แต่มีพระสงฆ์หลายรูปออกมาแสดงความเห็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองจนเป็นกลายเรื่องดราม่าในโลกออนไลน์กันไม่เว้นแต่ละวัน
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลายต่อหลายคนคงมีข้อสงสัยตามมามากมาย
ข้อสงสัยหนึ่งที่คิดว่าหลายคนคงค้างคาอยู่ในใจมาตลอด แต่เพียงไม่ได้พูดมันออกมาคือข้อสงสัยที่ว่า ทำไมพระรูปหนึ่งที่ออกมาพูดการเมืองถึงโดนฟ้อง โดนไล่จับสึก โดนเล่นงาน แล้วทำไมพระอีกหลายรูปที่ออกมาพูดหรือออกมาแสดงเรื่องที่ดูๆ ไปก็เกี่ยวกับการเมืองเหมือนกันแต่กลับไม่โดนอะไรเลย หนำซ้ำยังได้รับการสรรเสริญเยินยออีกด้วย
วันนี้ผู้เขียนเลยอยากจะชวนคุยกันเรื่องนี้
ในปัจจุบันเราจะพบว่าวิธีคิดสำคัญหนึ่งของพระสงฆ์ไทย หรือชาวพุทธไทยส่วนใหญ่มักจะตกอยู่ภายใต้วาทกรรมทางการเมืองที่ว่า ‘พระสงฆ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง’ หรือ ‘การเมืองไม่ใช่กิจของพระสงฆ์’ ที่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว วิธีคิดเช่นนี้ถูกปลูกฝังมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นวาทกรรมทางการเมือง ตั้งแต่ที่รัฐไทยเข้าไปควบคุมอำนาจพระสงฆ์อย่างเบ็ดเสร็จ ในช่วงที่มีการปฏิรูปคณะสงฆ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 และจนก่อเกิดองค์กรขึ้นมาคือ ‘มหาเถรสมาคม’ และมีเครื่องมือที่สำคัญอย่าง ‘พ.ร.บ. คณะสงฆ์’ เพื่อใช้เป็นองค์กรกลางในการควบคุมดูแลและพิทักษ์แนวทางศาสนาแห่งรัฐ
เหตุผลสำคัญในการปฏิรูปคณะสงฆ์ นอกเหนือไปจากการใช้องค์กรศาสนาเป็นเครื่องมือของฝ่ายอาณาจักร ไม่ว่าการขยายอำนาจรัฐ การผนวกดินแดนสร้างรัฐชาติไทยสมัยใหม่แล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือการเข้าควบคุมและจำกัดอำนาจพระสงฆ์หรือฆราวาสบางคนที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของอำนาจสถาบัน และในที่นี้ก็เท่ากับอำนาจของรัฐด้วย เช่น พวกที่รัฐไทยระบุว่าเป็นตนบุญ ผู้มีบุญ ผีบุญ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้เป็นเพียงกลุ่มคนเดียวที่มีอำนาจในเชิงบุญญาบารมีที่สามารถสั่นคลอนอำนาจบุญบารมีของกษัตริย์ในช่วงเวลานั้นๆ ได้
ด้วยอำนาจและเหตุผลทางการเมืองต่างๆ เหล่านี้ พระสงฆ์จึงต้องถูกทำให้สยบยอมและถูกจำกัดอำนาจบารมีของตนเอง ผ่านการปลูกฝังทางความคิดจนกลายมาเป็นวาทกรรมการเมืองให้เชื่อว่า ศาสนาไม่ใช่เรื่องการเมือง และการเมืองไม่ใช่เรื่องของศาสนา ทั้งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรจะอยู่ตรงข้ามและไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม
แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่ชุดความคิดหรือวาทกรรมทางการเมืองเพียงเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงจะเห็นได้ว่าการเมืองและศาสนา รวมถึงตัวพระสงฆ์กลับมีความเกี่ยวข้องและเกี่ยวพันกับการเมืองอยู่ตลอดเวลาไม่ทางใดทางหนึ่ง รวมถึงตัวองค์กรศาสนาทั้งมหาเถรสมาคมและองค์กรฆราวาสอย่าง ‘กรมธรรมการ’ ในอดีต หรือ ‘สำนักพุทธ’ ในปัจจุบัน เพื่อควบคุมอำนาจและพฤติกรรมของพระสงฆ์ องค์กรเหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็น องค์กรที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างตรงไปตรงมา หลักศาสนาถูกใช้เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น
ไม่เพียงเท่านั้นเรายังจะพบความเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองขององค์กรที่พยายามบอกว่าตัวเองไม่ควรยุ่งกับการเมืองอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะการเทศน์สั่งสอน เช่น สอนให้เลิกสันโดษในสมัยรัฐบาลสฤษดิ์ หรือแม้แต่การเมืองเรื่องตำแหน่งการต่อสู้แย่งชิงตำแหน่งพัดยศกันภายในคณะสงฆ์
สำคัญที่สุดคือการเมืองที่ไล่บอกผู้อื่นว่าไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง การไล่ฟ้อง ไล่จับสึกพระสงฆ์ที่ตนเองมองว่าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการเมืองแทบทั้งสิ้น ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าองค์กรสงฆ์แห่งรัฐ และคณะฆราวาสที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อพิทักษ์แนวทางศาสนานั้นเกิดขึ้นมาเพื่อพิทักษ์และปกป้องอำนาจทางการเมืองของรัฐ
วาทกรรมการเมืองที่บอกว่า ‘พระสงฆ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง’ จึงมิใช่เรื่องพระธรรมวินัยหรือหลักการทางศาสนาใดๆ ตามที่กล่าวอ้าง
จากบทบาททางขององค์กรเหล่านี้ จึงพอจะกลับไปตอบคำถามที่เป็นโจทย์ตั้งต้นของบทความนี้ได้ว่า เหตุที่พระสงฆ์รูปหนึ่งยุ่งกับการเมืองแล้วมีลักษณะของสิ่งที่เรียกว่า ถูกเล่นงาน ก็เพราะการเมืองเหล่านั้นเป็นการเมืองที่สั่นคลอนอำนาจการเมืองที่ องค์กรคณะสงฆ์แห่งรัฐ หรือองค์กรพิทักษ์ศาสนากำลังพยายามจะปกป้องอยู่ และ เหตุที่พระสงฆ์บางรูปที่ออกมาพูดเกี่ยวกับการเมืองแล้วไม่ถูกเล่นงานอะไร ก็เพราะการเมืองของพระสงฆ์กลุ่มนี้คือการโอบอุ้มและสานต่อกับอุดมการณ์แห่งรัฐที่เขากำลังพิทักษ์รักษาอยู่นั่นเอง
เพราะฉะนั้น ‘การเมือง’ หรือ ‘ไม่การเมือง’ จึงไม่ได้อยู่ที่ว่าพระรูปใดจะยุ่งเกี่ยวหรือเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ แต่การเมืองเหล่านี้ขึ้นอยู่กับอำนาจการนิยามโดยองค์กรคณะสงฆ์แห่งรัฐ
ผิด-ถูกจึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปตามครรลองหลักการทางศาสนา ถูก-ผิด หรือ ควร-ไม่ควร จึงอยู่ที่อำนาจการเมืองขององค์กรที่กุมคำอธิบายความต่างหาก
กล่าวโดยสรุปง่ายๆ คือ พระรูปใดจะผิด หรือพระรูปใดจะถูก จะอยู่ภายใต้อำนาจการอธิบายความขององค์กรศาสนาแห่งรัฐ พระใดยุ่งกับการเมืองหรือไม่ยุ่งกับการเมือง ก็อยู่ภายใต้คำอธิบายของคณะสงฆ์แห่งรัฐ
การเมืองที่ควรและไม่ควรยุ่งก็อยู่ภายใต้คำอธิบายของคณะสงฆ์แห่งรัฐ และสำคัญที่สุด ‘ไม่ยุ่งกับการเมือง’ ก็หมายถึงการใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อกดพระผู้ที่ต้องการเรียกร้องความชอบธรรมให้กับสังคม ซึ่งกำลังสั่นคลอนอำนาจทางการเมืองขององค์กรสงฆ์แห่งรัฐนั่นเอง
ดังนั้น เราจึงจะเห็นการใช้อำนาจแบบสองมาตรฐานกับพระสงฆ์ที่ออกมาพูดเรื่องการเมือง
‘บอกให้รักชาติ’ จึงเท่ากับถูก
‘บอกให้รักประชาธิปไตย’ จึงเท่ากับผิด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- แพทริค โจรี, ทฤษฎีกษัตริย์โพธิสัตว์: เวสสันดรชาดกในประวัติศาสตร์ไทย, กรุงเทพฯ: Illuminations Edition, 2563
- ภิญญาพันธุ์ พจนะลาวัณย์, ไทยปิฎก: ประวัติศาสตร์การเมืองสังคมร่วมสมัยของพุทธศาสนาไทย, กรุงเทพฯ: Illuminations Edition, 2562