วันนี้ (17 เมษายน) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์ประจำวัน โดยช่วงหนึ่งกล่าวถึงการผ่อนปรนมาตรการตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หรือการล็อกดาวน์ว่า
มาตรการต่างๆ จะมีการผ่อนปรนได้บ้างหรือไม่นั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาระบุว่า ต้องมี 6 ข้อนี้ก่อนถ้าจะยกเลิกการล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 คือ
- สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศได้แล้ว ตอนนี้ผู้ป่วยเราเพิ่มขึ้น 28 คน ถามว่าต้องเท่าไรถึงเรียกว่าควบคุมได้ ต้องไม่มีผู้ป่วยเพิ่มเลย หรือต้องเพิ่มเพียง 28 คนแบบนี้ไปต่อเนื่องนานๆ ตรงนี้ยังเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยในทางวิชาการ
- ระบบสุขภาพต้องสามารถตรวจหาผู้มีอาการของโรค ตรวจหาเชื้อ แยกตัวและทำการรักษา พร้อมทั้งทำการสอบสวนโรคให้ได้ ซึ่งวันนี้การตรวจหาผู้มีอาการของโรคดีขึ้นมาก โดย สปสช. จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจทั้งหมด ดังนั้นข้อ 2 ของเราก็โอเค น่าจะได้
- มีความเสี่ยงระดับน้อยที่สุดในสถานที่ที่เสี่ยงภัยมากที่สุด เช่น บ้านพักคนชรา ซึ่งพบในต่างประเทศมาก แต่บ้านเราแทบไม่ค่อยมีข่าวเลย
- โรงเรียน สำนักงาน และสถานที่สาธารณะต่างๆ ต้องมีมาตรการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ ของเราตอนนี้หลายที่ปิดไป หลายที่มีมาตรการดูแลกันอย่างละเอียด ซึ่งบ้านเรามีพอสมควร
- สามารถจัดการความเสี่ยงของโรคจากผู้เดินทางเข้าประเทศได้ ซึ่งไทยมีการจำกัดปริมาณของผู้ที่เดินทางเข้ามา ซึ่งเราพยายามควบคุมได้อยู่
- คนในชุมชนต้องมีความรู้ มีส่วนร่วม และได้รับการสนับสนุนให้ชีวิตอยู่ภายใต้สังคมที่เปลี่ยนแปลงหลังการเกิดโรค ซึ่งเป็นข้อที่ยากที่สุด ซึ่งคนไทยเราได้รับคำชมว่าใช้หน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้ามากขึ้น แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มนั่งสังสรรค์ เล่นการพนัน กลุ่มต่างๆ เหล่านี้มีการไปติดเชื้อในสถานบันเทิงและสนามมวย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ช่วงนี้มีข่าวมากเลยว่าเมื่อไรจะปลดล็อก และจะปลดล็อกกันอย่างไร ขณะนี้มีการประชุมเพื่อเตรียมนำเสนอผู้อำนวยการศูนย์ ศบค. ทีมวิชาการทางด้านต่างๆ ทั้งการแพทย์ สังคม และภาคเอกชน มีมาตรการตัวอย่างการผ่อนคลายมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ ซึ่งอันนี้เป็นแค่ข้อเสนอ แต่ขอหยิบมาบอกประชาชนก่อน
ตัวอย่างการเปิดร้านตัดผม
ผู้ประกอบการ
- ด้านสถานที่ต้องจัดที่นั่งรอ ที่นอนสระผมห่างกัน 1 เมตร และไม่ให้นั่งรอในร้าน แต่ใช้บัตรคิวแทน
- ด้านระยะเวลา ให้บริการที่ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง เช่น ตัดผม สระผมเท่านั้น
- ด้านบริการ งดเว้นบริการที่ต้องใช้อุปกรณ์ร่วมกันที่ไม่สามารถทำความสะอาดได้ เช่น แต่งหน้า
- พนักงาน ใส่หน้ากากผ้าทุกคน ล้างมือทุกครั้งที่ให้บริการลูกค้าแต่ละราย ให้พนักงานหยุดงานเมื่อมีอาการไข้ ไอ อาการทางเดินหายใจ
- ทำความสะอาด ล้างอุปกรณ์ด้วยน้ำและผงซักฟอกทุกครั้งที่ให้บริการลูกค้าแต่ละราย เช็ดพื้นผิวสัมผัสทุกชั่วโมงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ จัดเจลล้างมือไว้หน้าร้าน
ผู้รับบริการ
- ใส่หน้ากากผ้าตลอดเวลาที่อยู่ในร้านตัดผม
- ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนเข้าร้าน
ตัวอย่างการเปิดห้างสรรพสินค้า ต้องจัดคิวนับจำนวนคนต่อพื้นที่ ถ้ามีพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร จำกัด 1,000 คน เพราะใช้ระยะห่างคนละ 1 เมตร ทยอยเปิดร้านที่สำคัญก่อน ไม่เปิดทั้งหมด และงดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่จะรวมคนมามากๆ เช่น กิจกรรมนาทีทอง
นพ.ทวีศิลป์ เปิดเผยด้วยว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการบางอย่าง ทั้งนี้ในภาษาอังกฤษต้องมี New Normal ต้องเป็นความปกติใหม่ มี Social Distancing ตลอดเวลา ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ในพื้นที่ถนนยืนต่อคิวห่างกัน 2 เมตร ถ้ามีภาพแบบนี้ไปทุกที่ก็ไม่ต้องมีกฎอะไรมากมาย ถ้าเราสามารถปรับตัวเราเองได้ และคิดเสมอว่าเมื่อออกไปข้างนอกเรามีความเสี่ยงเสมอ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า