×

อภิสิทธิ์ ชี้หากสภาปฏิเสธแก้รัฐธรรมนูญ การเมืองไม่เหลือทางออก ด้าน สุดารัตน์ เปิดแผนบันได 3 ขั้นออกจากวิกฤต ส่วน คำนูณ เห็นด้วยตัดอำนาจ ส.ว. โหวตนายกฯ

โดย THE STANDARD TEAM
13.11.2020
  • LOADING...

วันนี้ (13 พฤศจิกายน) ในงานเสวนา ‘บทบาทรัฐสภาในการโหวตแก้รัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ กับจุดเปลี่ยนประเทศไทย’ ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวบนเวทีเสวนายอมรับว่า เป็นห่วงสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้เห็นว่า มี 3 ทางออกต่อปัญหาดังกล่าวที่สามารถปล่อยไปตามสถานการณ์ โดยไม่มีการหันหน้าเข้าหากันได้ แต่ก็อาจเกิดความรุนแรงจนต้องปะทะกันหรือจะต้องหาพื้นที่ที่ทำให้คู่ขัดแย้งมาพูดคุยเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้ได้ หรือเอาตัวรอดไปตามสถานการณ์ แต่มั่นใจว่าในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้จะเป็นคำตอบที่หากรัฐสภาปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การคลี่คลายความขัดแย้งจะไม่เหลือแล้ว จึงสนับสนุนให้มีการรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับทั้งหมด เพราะการแก้ไขในมาตรา 256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ยังจะต้องผ่านการออกเสียงประชามติและไม่สามารถเป็นทางออกได้ เพราะความขัดแย้งบนท้องถนนที่ไม่มีการแก้ไขบทบัญญัติอื่นๆ ก็ยังทำให้ต้องใช้กติกาเดิม 

 

ดังนั้นการรับหลักการทั้งหมดเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สะท้อนว่ารัฐบาลเข้าใจปัญหา แม้จะไม่ได้เห็นด้วยกับหลักการของร่างที่เสนอมาก็ตาม และยังสามารถเป็นเวทีที่สามารถแลกเปลี่ยนความเห็นในหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ ถูกหยิบยกมาพูดได้ เพราะหากย้อนไปรัฐธรรมนูญปี 2540, 2550 มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะแม้จะบัญญัติห้ามเปลี่ยนแปลงหมวด 1 หมวด 2 แต่ยังมีส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างอำนาจ รวมถึงพระราชอำนาจทั้งสิ้น 

 

ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากความขัดแย้ง และกำหนดข้อตกลงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องให้ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว มีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจ สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและประเพณีการปกครองของประเทศ เพื่อเปิดพื้นที่นำประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนไปพูดคุยกัน

 

อภิสิทธิ์ยังแนะนำให้ผู้ที่พยายามยื่นตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ควรจะต้องไปอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญปี 2555 ใหม่ เพราะการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนั้นไม่ได้กำหนดให้ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ แต่ครั้งนี้กำหนดให้มีการออกเสียงประชามติตามขั้นตอนแล้ว จึงรู้สึกแปลกใจที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้าชื่อกัน เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยเฉพาะกรณีที่ ส.ส. และ ส.ว. ไม่ทราบบทบาทหน้าที่ของตนเองว่าสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร. ได้หรือไม่

 

อภิสิทธิ์ยังเสนอแนะให้นายกรัฐมนตรีแสดงจุดยืนต่อที่ประชุมรัฐสภา ประกาศให้ ส.ส. และ ส.ว. รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ และเป็นโอกาสให้นายกรัฐมนตรีเองได้ทำงานบริหารประเทศต่อไปได้ เพื่อเป็นการแสดงการถอยคนละก้าว แต่หากรับหลักการเพียงร่างรัฐบาลเพียงร่างเดียวก็จะถูกมองเป็นการยื้อเวลาได้

 

ขณะที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานก่อตั้งสถาบันสร้างไทย ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย ยอมรับว่าวิกฤตของประเทศครั้งนี้น่าหนักใจ เพราะถือเป็นความแตกต่างในช่วงวัย ไม่ใช่แค่วิกฤตฝ่ายการเมือง จึงจำเป็นจะต้องแก้ปัญหาด้วยสติ และรอบคอบ ไม่ใช้กำลังหรือรัฐประหาร เพราะเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะย่ำแย่

 

คุณหญิงสุดารัตน์ยังเสนอบันได 3 ขั้น เพื่อไปสู่ทางออกของประเทศ โดยในขั้นแรก ด้วยการเปิดเวทีปลอดภัยให้แก่ผู้เห็นต่างและนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยกัน เพราะนายกรัฐมนตรีไม่สามารถเป็นคนกลางได้ เพราะถือเป็นคู่ขัดแย้ง ก่อนตั้งคณะกรรมการแสวงหาทางออกของประเทศไทย โดยให้มีกฎหมายรองรับ กำหนดเวลาทำงาน 3-5 เดือน เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และนำผลการศึกษาที่ได้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ขั้นที่สอง จะต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ รับหลักการทั้ง 7 ญัตติ และพิจารณาแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ จะเปิดการเลือกตั้ง สสร. กำหนดเวลา 8 เดือนในการยกร่าง พร้อมตัดอำนาจการโหวตนายกรัฐมนตรีของวุฒิสภาออก และขั้นที่ 3 เมื่อการแก้ไขเสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีควรเสียสละลาออก เพื่อให้รัฐสภาคัดสรรใหม่ตามขั้นตอน ตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจมาดูแลการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย สสร. ให้เสร็จสิ้น และคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อเลือกตั้งใหม่ ไม่เกินสิ้นปี 2564 โดยยืนยันว่าไม่ใช่รัฐบาลแห่งชาติ

 

คุณหญิงสุดารัตน์ยังเห็นว่านายกรัฐมนตรีจะต้องแสดงความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ รัฐสภาควรจะต้องรับหลักการ 7 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้จะไม่เห็นด้วย แต่ในกระบวนการแปรญัตติพิจารณาในสภา ก็สามารถพูดคุยได้ และมั่นใจว่าคนส่วนใหญ่สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว แบ่งแยกไม่ได้ และต้องปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่คู่ประเทศไทย ดังนั้นในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ น่าจะเป็นโอกาสสุดท้ายในการพิสูจน์ความจริงใจของนายกรัฐมนตรี

 

ด้าน คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ยืนยันว่า ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อลงมติในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ พร้อมรับหลักการร่างแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง สสร. ทั้งของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล รวมถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ส่วนร่างอื่นๆ อีก 4 ร่างนั้นยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกันที่เกรงว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญเอง และขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

 

คำนูณยังเห็นว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดย iLaw เป็นร่างแก้ไขที่แก้ไขรายมาตรา และตั้ง สสร. เป็นนวัตกรรมทางกฎหมายที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการเสนอให้ใช้เขตประเทศในการเลือกตั้ง ส.ว. แต่ร่างรัฐธรรมนูญของ iLaw ยังมีปัญหาอย่างน้อยที่สุด 2 ประเด็นคือ การยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ โดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบ บุคคลที่ต้องโทษอยู่หรืออยู่ระหว่างการต่อสู่คดีจะได้คุณจากการยกเลิกกฎหมาย จึงเป็นเสมือนการนิรโทษกรรมให้บุคคลที่ทุจริต จนทำให้ประเทศอยู่ในสุญญากาศที่ไม่มีกฎหมายดังกล่าว 5-6 เดือน แม้จะไม่มีวัตถุประสงค์ หรือเจตนาในการนิรโทษกรรมใครก็ตาม ดังนั้นจึงยังไม่สามารถรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ iLaw ได้ เพราะการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการฯ แม้จะสามารถปรับแก้ไขได้ แต่การแก้ไขดังกล่าวก็ไม่สามารถแก้ไข จนไปทำให้ขัดหลักการของร่างกฎหมายที่ iLaw เสนอมาได้ แต่ก็กังวลว่าการตัดสินใจดังกล่าวจะถูกหยิบยกนำไปเป็นประเด็นทางการเมืองอีก

 

จึงทำให้อภิสิทธิ์แนะนำให้คำนูณเสนอที่ประชุมรัฐสภางดใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาในบางข้อ โดยเฉพาะในข้อ 150 เพื่อให้สามารถปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับ iLaw ได้ แม้จะเกินกว่าหลักการที่ iLaw เสนอมาได้ เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐสภา ปฏิเสธร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน ที่จะถือเป็นการเผชิญหน้าที่รุนแรงกับประชาชน

 

ขณะที่ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เรียกร้องให้วุฒิสภาใช้บทบาทของการเป็นผู้แทนประชาชนมากกว่าประโยชน์เฉพาะกลุ่ม และใช้วิสัยทัศน์มากกว่าผลประโยชน์เฉพาะหน้า เพียง 1-2 ปี ในการตัดสินใจลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะจะเป็นบรรทัดฐานที่คนรุ่นใหม่จะตัดสิน ส.ว. เพราะหากวุฒิสภายังยื้อกระบวนการแก้ไข ก็จะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ ส.ว. ลดลงไปมากขึ้น ทำให้ถูกตัดสินว่า ทำเพื่อสนองความต้องการของตนเองเป็นหลัก และจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองยิ่งบานปลาย

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising